จีนยุคใหม่กับแนวคิด “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน”

หมวดหมู่ข่าว: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนพฤศจิกายน

เรื่อง จีนยุคใหม่กับแนวคิด “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน”

โดย อาจารย์แอนนี คำสร้อย

 

 

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีนและประธานคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลาง สี จิ้นผิง ได้เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการกลางการเงินและเศรษฐกิจจีนครั้งที่ 10 โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของแนวคิด “共同富裕(ก้ง ถง ฟู่ ยวี่)” หรือ “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” ว่าเป็นข้อกำหนดสำคัญตามหลักสังคมนิยม และเป็นคุณลักษณะสำคัญของการก้าวสู่ยุคใหม่ของจีน

 

 

         แนวคิด “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน”ปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1953 ในเอกสาร “มติคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่าด้วยการพัฒนาสหกรณ์การผลิตทางการเกษตร” ต่อมาในปีค.ศ.1955 เหมา เจ๋อตงได้ขยายความแนวคิดดังกล่าวเพิ่มเติมว่าเป็นการ “ล้มล้างระบบเศรษฐกิจแบบชาวนาที่มั่งคั่ง และระบบเศรษฐกิจส่วนบุคคลในชนบทเสียให้หมด เพื่อให้คนในชนบทมีความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” หลังจากการปฏิรูปทางเศรษกิจในปีค.ศ.1978 เติ้ง เสี่ยวผิงก็ได้ให้คำนิยามแนวคิด “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน”ว่า “บางพื้นที่และบางคนสามารถร่ำรวยขึ้นมาก่อน เพื่อเป็นผู้นำและช่วยเหลือพื้นที่อื่นๆและคนอื่นๆให้ค่อยๆบรรลุความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” 

 

 

         ตั้งแต่การประชุมแห่งชาติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 แนวคิด “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน”ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติอีกครั้ง หลังจากที่จีนได้ประกาศความสำเร็จในการขจัดความยากจน และการสร้างสังคมที่มั่งคั่งอย่างรอบด้าน เป้าหมายต่อไปก็คือการลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคม มุ่งสู่ “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” โดยเน้นการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ตามแผน5ปีฉบับที่14เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนและวิสัยทัศน์2035 ที่ได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาที่ครอบคลุมทั้งในเรื่องของนวัตกรรม อุตสาหกรรมสมัยใหม่ การสร้างตลาดภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ส่งเสริมการฟื้นฟูชนบทอย่างทั่วถึง ปรับปรุงคุณภาพของการพัฒนาเมือง ฯลฯ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่เข้าถึงประชาชนทั่วทั้งประเทศอย่างแท้จริง

 

 

         อย่างไรก็ตาม แนวคิด “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” ในจีนยุคใหม่นี้ ย่อมมิใช่การจัดสรรปันส่วนให้ประชาชนทุกคนได้รับความเจริญหรือความร่ำรวยอย่างเท่าเทียมเสมอภาคกันอย่างสิ้นเชิง และก็มิใช่คนกลุ่มใดกลุ่มนึงที่จะสามารถกอบโกยผลประโยชน์และยืนอยู่บนจุดสูงสุดของสังคม แต่เป็นการจัดการความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพและความเป็นธรรม การจัดระบบในการกระจายความเจริญ นำไปสู่โครงสร้างในรูปแบบ “橄榄型(กั๋น หลั่น ซิ๋ง)” หรือลูกรักบี้ ที่มีปลายแคบสองด้าน อันหมายถึงคนรวยและคนจนที่มีสัดส่วนน้อย และพื้นที่ตรงกลางขนาดใหญ่ อันหมายถึง คนชั้นกลางที่จะเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ในสังคม

 

ที่มา :

Chang, L. (2021). Retrieved from The Central People's Government of the People's Republic of China: http://www.gov.cn/xinwen/2021-03/13/content_5592681.htm

Yan, S. (2021). Retrieved from The Central People's Government of the People's Republic of China: http://www.gov.cn/xinwen/2021-08/17/content_5631780.htm

Yu Miao-jie, C. J. (2021). Common prosperity in the new development paradigm. Journal of Xinjiang Normal University(Edition of Philosophy and Social Sciences), 71-81.

 |   |  777 ครั้ง