คำศัพท์สแลงภาษาจีนในโลกโซเชียลที่เกี่ยวกับ 瓜 (แตงโมและมะละกอ)

หมวดหมู่ข่าว: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนธันวาคม

เรื่อง คำศัพท์สแลงภาษาจีนในโลกโซเชียลที่เกี่ยวกับ 瓜 (แตงโมและมะละกอ)

โดย อาจารย์ ดร.กัลยา ขาวบ้านแพ้ว

 

 

คนไทย “กินเผือก” คนจีน “กินแตงโม”

คนไทย “บักแตงโม” คนจีน “บักมะละกอ”

 

 

         ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ในภาษาจีนหรือแม้แต่ในภาษาไทยเองก็เกิดคำศัพท์ใหม่ ๆ ในโลกโซเชียล (网络用语) ขึ้นมากมาย ที่น่าสนใจก็คือเกิดปรากฏการณ์การนำคำศัพท์เกี่ยวกับชื่อผลไม้หลาย ๆ คำ มาใช้เป็นศัพท์สแลงในโลกออนไลน์ด้วย วันนี้จะแนะนำคำศัพท์สแลงภาษาจีนที่นำผลไม้อย่าง瓜 (แตงโมหรือมะละกอ) มาเปรียบเปรยหรืออุปมาอุปมัยสื่อความหมายอื่น เพื่อให้ทุกคนได้ศึกษากัน เวลาเห็นคำเหล่านี้ในชีวิตประจำวันจะได้เข้าใจว่าแปลว่าอะไร และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องทันยุคทันสมัย มาเริ่มที่คำแรกก็คือ คำว่า 吃瓜แปลตรงตัวได้ว่า “กินแตง (กินแตงโม)” คำนี้เป็นสแลงที่หมายถึง สอดรู้สอดเห็น สนใจเรื่องของคนอื่น แอบเกาะติดสถานการณ์หรือติดตามเรื่องชาวบ้านอยู่ตลอดด้วยความอยากรู้ แต่ทำทีเฉย ๆ ไม่แสดงความเห็นใด ๆ ตรงกับคำสแลงในภาษาไทยที่ว่า “กินเผือก” ส่วนคำว่า “吃瓜群众” หมายถึงกลุ่มคนพวกที่ชอบสอดรู้สอดเห็นเรื่องชาวบ้าน (พวกที่ชอบกินเผือก) นอกจากนี้ยังมีสำนวน “不明真相的吃瓜群众” แปลตรงตัวว่า “พวกกินแตงโมที่ไม่รู้เรื่องราวที่แท้จริง” ใช้เพื่อแสดงความไร้เดียงสาว่าเป็นแค่คนนอกที่นั่งกินแตงโมอยู่ตรงนี้จะไปรู้เรื่องชาวบ้านชาวช่องเขาได้อย่างไร เดิมที 瓜ในคำเหล่านี้หมายถึง 瓜子 เมล็ดแตงโม 

 

 

         ที่มาของคำนี้สันนิษฐานว่ามาจากพ่อค้าแม่ค้ารถเข็นขายของกินของขบเคี้ยวบนรถไฟหรือตามโรงงิ้วที่มักจะขายเมล็ดแตงโมและเชิญชวนลูกค้าว่า “ข้างหน้าวางขายเมล็ดแตง คนแถวหน้ากินเมล็ดแตงไหม(ครับ/คะ)” ต่อมาโลกโซเชียลจึงนำมาใช้เปรียบเปรยคนที่ชอบแทะเมล็ดแตงโมว่าเป็นพวกที่มาสอดส่องเรื่องชาวบ้านก่อนใคร โดยมีการเปลี่ยนแปลงความหมายของคำศัพท์จากเมล็ดแตงโมกลายเป็นผลแตงโมแทน หลายคนอาจเคยเห็นมีมรูปคนกำลังกินแตงโม ซึ่งนั่นมีความหมายว่า รอเผือกเรื่องชาวบ้านนั่นเอง ถ้าเราจะใช้ภาษาจีนมาสื่อความหมายของคำว่า สอดรู้สอดเห็น(จุ้นจ้าน)เรื่องชาวบ้าน (กินเผือก) เราอาจใช้คำอื่น ๆ ได้อีก เช่น คำว่า 多管闲事 / 爱管闲事 / 好hào管闲事 (จุ้นจ้าน) หรือถ้าเป็นการห้ามว่า “อย่าจุ้นจ้าน อย่าสอดรู้สอดเห็นเรื่องชาวบ้าน (อย่าเผือก)” ก็ใช้คำว่า 别多管闲事。ยกตัวอย่างประโยค ถ้าเราจะพูดว่า “ทุกคนเขาถามเธอด้วยความหวังดี เธอกลับหาว่าคนอื่นเขาจุ้นจ้าน (เผือก)” ก็ใช้ประโยคภาษาจีนว่า大家好心好意问你,你倒说别人多管闲事。

 

 

        คำสแลงในภาษาจีนที่เกี่ยวกับ瓜อีกคำหนึ่งก็คือ木瓜 (แปลตรงตัวว่า มะละกอ) ซึ่งหมายถึง คนทึ่ม เซ่อซ่า หัวช้า มาจากคำศัพท์ภาษาจีนที่ว่า呆瓜หรือ 呆头呆脑( โง่ ทึ่ม หัวช้า) หรืออาจใช้ว่า 瓜皮 (เป็นคำศัพท์ภาษาถิ่นมณฑลส่านซี แปลตรงตัวว่าเปลือกแตง ใช้เป็นคำสแลงหมายถึงคนที่อ่อนหัด มักใช้ในการแข่งขัน e-sports) นอกจากนี้木瓜 (มะละกอ) ยังหมายถึงหน้าอกของผู้หญิงได้อีกด้วย ใช้ในเชิงกระทบกระเทียบเสียดสี เหน็บแนมว่า หน้าอกใหญ่ (คล้ายกับคำสแลง บักแตงโม) หรืออาจใช้หมายถึงหน้าอกเล็กก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริบทของผู้พูด

 

ที่มา :

[1] คำนี้มีที่มา : คนไทยกินเผือก คนจีนกินแตง. (6 พฤศจิกายน 2563). สืบค้นจาก https://www.jeenthainews.com/

lifestyle/china-word/7483_20201106

[2] 木瓜的网络含义. (12 September 2020). Retrieved from http://www.coozhi.com/

kepu/shenghuobaike/139775.html

[3]【泰语单词】“吃瓜群众”用泰语怎么说?最近瓜有点多. (27 January 2021). Retrieved from https://zhuanlan.zhihu.com/p/347494022

 

 |   |  7408 ครั้ง