“ลด” เพื่อ “เพิ่ม” : การแก้ปัญหาการศึกษาของจีนเพื่อสร้างสมดุลในชีวิต

หมวดหมู่ข่าว: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนกุมภาพันธ์

เรื่อง “ลด” เพื่อ “เพิ่ม” : การแก้ปัญหาการศึกษาของจีนเพื่อสร้างสมดุลในชีวิต

โดย อาจารย์ฉัตกฤษ รื่นจิตต์

 

 

      “คนจีนขยัน” ความจริงข้อนี้คงไม่อาจมีใครเถียงได้ การศึกษาแนวทางสารัตถนิยมหรือการเน้นเนื้อหา การปลูกฝังความอดทน ระเบียบวินัย ความรักเรียน การไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคตามแบบฉบับของจีนนั้น ในทางหนึ่งแน่นอนว่าได้สร้างประชากรที่มีคุณภาพเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก ทว่าเบื้องหลังความสำเร็จของประเทศจีนในด้านต่างๆ คือชื่อเสียงเรื่อง“นักเรียนจีนการบ้านเยอะที่สุดในโลก” จากการสำรวจเรื่อง “ความกดดันเรื่องการบ้านของนักเรียนมัธยมศึกษาชาวจีน” พบว่า นักเรียนจีนใช้เวลากับการทำการบ้านเฉลี่ย 2.82 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 0.76 และ 0.58 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ส่วนประเทศคู่แข่งอย่างสหรัฐอเมริกา นักเรียนใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 1.22 ชั่วโมง ประเทศที่ขึ้นชื่อด้านคุณภาพการศึกษาอย่างฟินแลนด์ก็ใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ย 0.56 ชั่วโมงเท่านั้น
      นอกจากนี้ ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมนโยบายมีลูกสองคนของจีน และในอนาคตจะเพิ่มเป็นการมีลูกสามคนนั้น คือ การเลี้ยงลูกในปัจจุบันมีภาระค่าใช้จ่ายสูงมาก คนจีนปัจจุบันมองว่าอย่าว่าแต่มีลูกสองคนเลย แม้คนเดียวก็ไม่อยากมี แนวคิดการไม่อยากมีลูกของคนสมัยใหม่แน่นอนว่าเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุของจีน ดังนั้น หนึ่งในปัญหาสำคัญคือภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกที่สูงมากจนน่าตกใจ ค่าใช้จ่ายสำคัญประการหนึ่งคือค่าเรียนพิเศษของลูกนั่นเอง จากการสำรวจ ธุรกิจที่จีนต้องจัดระเบียบใหม่ คือ อสังหาริมทรัพย์ การรักษาพยาบาล และธุรกิจการศึกษา ด้วยความเชื่อที่ว่า “การศึกษาเปลี่ยนชีวิต” ของชาวจีน ทำให้พ่อแม่ชาวจีนล้วนทุ่มสุดตัวเพื่อการศึกษาของลูก จนกระทั่งเกิดปัญหาเงินเดือนไม่พอจ่ายค่าเรียนกวดวิชาของลูกก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง พ่อแม่ล้วนมุ่งหวังลูกได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นหนึ่งของมณฑลเพื่ออนาคตที่เชื่อว่าดีกว่ามหาวิทยาลัยทั่วไป แม้ว่าช่วงก่อนหน้าประเทศจีนได้ประกาศนโยบายลดเวลาการทำการบ้านมาครั้งหนึ่งแล้ว เพื่อลดความกดดันในการเรียน ทว่ากลับกลายเป็นโอกาสของธุรกิจการสอนพิเศษ หนึ่งในธุรกิจที่ทำเงินมหาศาลของจีน รัฐบาลจึงต้องก้าวเข้ามาจัดระเบียบเสียใหม่เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูประชากร

 

 

       และนี่คือที่มาของนโยบาย “ลดสองประการ” หรือ 双减(Double Reduction)ซึ่งประกาศใช้ในประเทศจีนเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 สาระสำคัญของนโยบายนี้ ได้แก่ (1) จัดระเบียบการมอบหมายการบ้านของนักเรียนในการศึกษาภาคบังคับ (ลดการบ้าน) อาทิ ควบคุมปริมาณการบ้านให้เหมาะสม โดยนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-2 ไม่ให้มีการบ้านที่ต้องเขียนส่ง ประถมศึกษาปีที่ 3-6 ให้มอบหมายการบ้านโดยประมาณเวลาในการทำไม่เกิน 60 นาที มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1-3 ไม่เกิน 90 นาที ความยากง่ายต้องไม่เกินขอบเขตของหลักสูตรแกนกลางของจีน เน้นการบ้านที่เหมาะสมกับความต้องการเฉพาะบุคคล มอบหมายการบ้านที่มีจุดประสงค์ชัดเจน เป็นต้น และ (2) จัดระเบียบโรงเรียนกวดวิชา (ลดเรียนพิเศษ)อาทิ ปรับให้โรงเรียนกวดวิชาเป็นหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร ไม่อนุญาตให้จัดสอนในวันหยุดนักขัตฤกษ์ วันหยุดราชการ ช่วงปิดภาคเรียน ผู้สอนต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู เป็นต้น ทางหนึ่งเพื่อควบคุมคุณภาพโรงเรียนกวดวิชาและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง อีกทางหนึ่งก็เพื่อเตือนสติผู้ปกครองและนักเรียนว่า คุณค่าของชีวิตมิได้อยู่ที่การเรียนแต่เพียงประการเดียว ทว่ายังมีความหวัง ความฝันที่รอการค้นพบนอกห้องเรียน รัฐทำเช่นนี้ ก็เพื่อคืนความสุขของวัยเยาว์ให้แก่เยาวชนของชาติ

 

 

     หลังจากประกาศใช้นโยบายนี้ไปราวครึ่งปี ก็มีการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง พบว่ากระแสตอบรับอยู่ในทางบวก เพราะส่วนใหญ่แล้วโรงเรียนจะบริหารจัดการให้นักเรียนทำการบ้านให้เสร็จก่อนกลับบ้าน เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้วก็จะมีเวลา ทำกิจกรรมอย่างอื่น ผู้ปกครองไม่ต้องกวดขันใหทำการบ้าน รวมทั้งนักเรียนก็มีเวลานอนเพิ่มขึ้นด้วย เพราะก่อนการประกาศนโยบาย นักเรียนจีนนอนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย อีกทั้งนอนไม่หลับเนื่องมาจากความเครียด ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ หลังจากการใช้นโยบายนี้ ก็พบว่านักเรียนประถมศึกษานอนวันละเกือบ 10 ชั่งโมง นักเรียนมัธยมศึกษานอนวันละเกือบ 9 ชั่วโมง ใกล้เคียงกับมาตรฐาน โรงเรียนกวดวิชาก็ถูกควบคุมและสั่งปิดไปกว่าร้อยละ 83.8 โรงเรียนกวดวิชาออนไลน์ก็ถูกสั่งปิดไปกว่าร้อยละ 84.1 โดยหลักการแล้ว นักเรียนก็จะมีเวลาทำในสิ่งตนสนใจมากขึ้น และที่สำคัญ นโยบายที่ลดความสำคัญของธุรกิจกวดวิชา ช่วยตอกย้ำว่านักเรียนและผู้ปกครองว่า โรงเรียนต่างหากที่เป็นแหล่งเรียนรู้หลัก มิใช่ที่ที่มาเพียงเพื่อฆ่าเวลาระหว่างวันแล้วรอไปแสวงหาความรู้ในสถาบันกวดวิชาดังเช่นแต่ก่อน

 

 

     แน่นอนว่า ยังมีปัญหาในการใช้นโยบายนี้อยู่ เพราะความเข้มข้นในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมิได้ลดลง ผู้ปกครองยังเป็นกังวลว่าหากไม่ได้เรียนกวดวิชา ลูกหลานจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้หรือไม่ รวมทั้งคุณภาพการเรียนการสอนจากการลดการบ้านลงจะยังเท่าเดิมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม นโยบายก็ยังเดินหน้าต่อไป เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดของจีนคือทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพทั้งความรู้ ร่างกาย และจิตใจ เช่นนี้จีนจึงจะเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนนาน

 

ที่มา

沈燕. (2022). 热点聚焦:中国重拳监管校外培训 为三孩政策下先手棋. 《REUTERS》. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์. เข้าถึงได้จาก https://cn.reuters.com/article/china- tutoring-wrapup-agencies-0726-mon-idCNKBS2EW0KI.

佚名. (2022).中学生“双减”微调查:作业虽减,焦虑犹存. 《中国新闻网》. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์. เข้าถึงได้จาก https://www.chinanews.com.cn/sh/2022/01-24/9659965.shtml.

佚名. (2021).新华全媒+|“双减”之后如何“增”?——多地“双减”落地观察. 《新华网》. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์. เข้าถึงได้จาก http://www.ln.xinhuanet.com/2021-08/29/c_1127807018.htm.

佚名. (2021).学生负担减量 优质教育增量 “双减”带来哪些变化. 《新华网》. สืบค้นเมื่อ วันที่ 20 กุมภาพันธ์. เข้าถึงได้จาก http://www.news.cn/politics/2021-12/02/c_1128122134.htm.

佚名. (2021).中美教育差异:中国学生作业量全世界之最!阅读量却不到美国的1/6. 《腾讯网》. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์. เข้าถึงได้จากhttps://new.qq.com/rain/a/20210318A0CU7500.

佚名. (2018). 解决中小学生课外负担重问题 开阔思路办好人民满意的教育——全国政协“解决中小学生课外负担重问题”双周协商座谈会发言摘. 《中国人民政治协商会议全国委员会》. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์. เข้าถึงได้จากhttp://www.cppcc.gov.cn/zxww/2018/07/10/ARTI1531182956595951.shtml.

 |   |  729 ครั้ง