วัฒนศิลป์จีนผ่านมุมมอง “กลม” และ“เหลี่ยม”

หมวดหมู่ข่าว: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนเมษายน

เรื่อง วัฒนศิลป์จีนผ่านมุมมอง “กลม” และ“เหลี่ยม”

โดย อาจารย์ณัฐสรัญ ลักษณะปีติ

 

 

     ในด้านของปรัชญาศาสตร์ ชาวจีนมองว่า“ทรงกลม”สื่อถึงความอ่อนโยน ความอ่อนช้อย งดงามประดุจกุลสตรี แต่ทรงเหลี่ยมเป็นทรงที่กอปรด้วยเส้นตรง ทำให้สัมผัสได้ถึงความตรงไปตรงมา เข้มแข็ง เปรียบดั่งชายชาตรี ชาวจีนมักมีคำสอนที่เกี่ยวกับหลักการใช้ชีวิต “ภายนอกอ่อนไหว ภายในสุขุม” (外圆内方)กล่าวคือ ลักษณะนิสัยภายนอกเป็นกันเอง แต่ภายในเป็นคนที่เข้มแข็ง นักปราชญ์เมิ่งจื่อมีคติคำสอนว่า “不以规矩,不能成方圆。” (หากไม่มีเครื่องมือลากเส้นอย่าง“กุย(规) ” และ“จวี(矩)” ก็ไม่สามารถวาดรูปทรงเหลี่ยมและทรงกลมออกมาได้)

 

 

      สำนวนนี้มีความหมายว่า หากเราไม่มีบรรทัดฐานหลักเกณฑ์ ทุกคนก็จะดำรงชีวิตอย่างไร้กฏระเบียบ ทำสิ่งใดก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ
      หากว่าด้วยเรื่องทฤษฎีความสมดุลของหยินหยางกับทรงกลม-ทรงเหลี่ยมนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร?
     ตามตำราโจวอี้ ว่าด้วยเรื่องของแผนผังแปดทิศกล่าวไว้ว่า ”乾为天,为圆,为君,为父……” (เฉียน คือตำแหน่ง ฟ้า มีลักษณะทรงกลม คือสุภาพบุรุษ และพ่อ ) “坤为地,为母,为方……” (คุน คือตำแหน่งปฐพี คือแม่ มีลักษณะเป็นรูปทรงเหลี่ยม) ชาวจีนจึงเชื่อว่า ฟ้า คือหยาง(阳)มีลักษณะเป็นทรงกลม ภาษาจีนมีคำศัพท์คำว่า “กลม(圆)” ที่เกี่ยวกับฟ้า ได้แก่ 尚圆 และ圆天 ซึ่งทั้งสองคำข้างต้นมีความหมายว่า “ฟ้า” ส่วนปฐพี คือหยิน(阴)ปฐพีหรือพื้นดินตามความคิดของชาวจีนแต่เดิมนั้น มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยม ในภาษาจีนมีคำศัพท์หรือวลีคำว่า “เหลี่ยม(方)” ที่เกี่ยวข้องกับดิน ได้แก่ 尚方 (พื้นดิน) และ 一方水土养一方人 (สภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ย่อมหล่อเลี้ยงไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่ต่างกัน) 

 

 

      แล้วทำไมคนสมัยก่อนต้องสร้างสถาปัตยกรรมที่เป็นรูปทรงกลมหรือเหลี่ยมด้วย?
      หากลองนั่งเครื่องไทม์แมชชีนของโดเรม่อนย้อนไปในสมัยราชวงศ์ซาง จะเห็นเครื่องสำริด ที่เป็นภาชนะใส่ของ หรือภาชนะใส่อาหาร หรือไม่ก็เห็นเครื่องหยกทั้งหก(六器)ที่คนสมัยนั้นนำมาบูชา จะสังเกตได้ว่า เขามีการจัดแบ่งประเภทของหยกในการบูชาฟ้าและดิน ซึ่งเครื่องหยกปี้(璧)มีลักษณะเป็นทรงกลม ตรงกลางเป็นรูกลวง และนี่ก็เป็นหนึ่งในเครื่องรางที่ใช้บูชาฟ้า ส่วนเครื่องหยกฉง(琮)คือ เครื่องหยกที่ลักษณะภายนอกเป็นแท่งสี่เหลี่ยม และตรงกลางเป็นรูกลวง เหมาะสำหรับใช้บูชาดิน ซึ่งสาเหตุที่ชาวจีนสมัยก่อนใช้รูปทรงกลม และทรงเหลี่ยม เป็นเพราะมีความเชื่อที่ว่ารูปทรงเหล่านี้สามารถเป็นตัวกลางที่สามารถให้พวกเขาสื่อสารกับเทพเจ้าที่อยู่บนฟ้า และพื้นพสุธาได้

 

 

      หากกล่าวถึงรูปทรงข้างต้นนี้ สถาปัตยกรรมของที่โดดเด่นที่สุดคงเป็น หอสักการะฟ้าเทียนถาน (天坛) และแท่นบูชาปฐพี (地坛) ทั้ง 2 ที่จะมีลักษณะโครงสร้างที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง หอสักการะฟ้าเทียนถานมีลักษณะเป็นทรงกลม ลักษณะของหลังคาเป็นรูปแบบทรงกรวยซ้อนกัน 3 ชั้น และใกล้บริเวณหอสักการะฟ้าเทียนถานมีแท่นหยวนชิว(圜丘)ไว้เป็นที่สักการะบูชาฟ้า เพื่อใช้ในการขอฝน ให้ผลิตผลทางการเษตรอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี กำแพงด้านนอกสุดของของแท่นหยวนชิว จะมีลักษณะเป็นทรงเหลี่ยม 1 ชั้น และข้างในบริเวณแท่นชิวหยวน จะเป็นรูปทรงกลม แสดงให้เห็นถึงความหมายของ “ท้องนภาเป็นทรงกลม พสุธาเป็นทรงเหลี่ยม”

 

 

      ส่วนอีกที่คือ แท่นบูชาปฐพี (地坛) เป็นสถานที่ที่มีบริเวณลานกว้างเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส มีแท่นบูชาดิน "ฟางเจ๋อถัน (方泽坛)" ซึ่งล้อมรอบไปด้วยกำแพง 2 ชั้น ล้วนมีลักษณะเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยม เพื่อไว้สักการะบูชาเทพปฐพี (皇地祇)

 

 

       สิ่งของที่มีลักษณะทรงกลม และทรงเหลี่ยมนอกจากที่กล่าวมาข้างต้นนั้นยังมีอีกมากมาย อาทิเช่น แท่นเสาอาคาร (柱础) หลุมเพดาน (藻井) เป็นต้น ทั้งหมดที่กล่าวมาผสมผสานระหว่างรูปทรงกลม และทรงเหลี่ยม ซึ่งนอกจากเพื่อความสวยงามในทางศิลปะแล้ว ยังแฝงไปด้วยศาสตร์ความสมดุลของหยินหยาง วัฒนธรรมเรื่องการสื่อสารระหว่างชาวจีนกับเทพเจ้าอีกด้วย ลองวิเคราะห์เล่นจากภาพ ว่าในรูปมีส่วนไหนที่เป็นทรงเหลี่ยม และทรงกลม แล้วคอมเมนต์มาได้นะครับ

 

ที่มา

说挂. 国学网. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์. เข้าถึงได้จาก

http://www.guoxue.com/book/zhouyi/0005.htm

康红娜. 2013. 论“方”与“圆”文化对设计的启示. 现代装饰(理论). 南华大学设计与艺术学院.

叶劲松. 2008. 论中国古代方圆造物观. 湖北经济学院学报(人文社会科学版). 武汉理工大学.

 |   |  3015 ครั้ง