สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ในยุคไบเดน: สงบศึก หรือ เผด็จศึก

Categories: sclc-ชีพจรจีน

         

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนมีนาคม

เรื่อง สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ในยุคไบเดน: สงบศึก หรือ เผด็จศึก

โดย อาจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ มีชัยโย

 

 

ผลการเลือกประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้ผ่านมา ปรากฏว่าโจ ไบเดน ได้รับคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งจำนวน 306 ต่อ 232 เอาชนะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ขาดลอย และทำสถิติได้คะแนนPopular Vote สูงสุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของสหรัฐคือจำนวน 73,738,164 เสียง กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 46 ซึ่งผลการเลือกประธานาธิบดีสหรัฐ 2020 ไม่เพียงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองภายในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังส่งผลสะเทือนต่อโลกอีกด้วย เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจที่สำคัญของโลก ทั่วโลกจึงจับตามองว่าหลังการเปลี่ยนขั้วการเมืองของสหรัฐอเมริกาจะส่งผลต่อประชาคมโลกและประเทศมหาอำนาจดาวรุ่ง อย่างประเทศจีนอย่างไร เพราะตลอดระระเวลา 4 ปี ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มองจีนเป็นภัยคุกคามสำหรับสหรัฐ จึงได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อสกัดการทะยานขึ้นของจีน เช่นการทำสงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี รวมถึงการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อกรณีปราบปรามการประท้วงที่ฮ่องกง

         นักวิชาการทางรัฐศาสตร์ต่างมองตรงกันว่า แม้ประธานาธิบดี ไบเดน จากพรรคเดโมแครตซึ่งมีความเห็นต่างกับประธานาธิบดีทรัมป์ในหลายๆเรื่อง แต่ในเรื่องจีนทั้งคู่เห็นตรงกันว่า การทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วของจีนในเวทีโลกเป็นภัยต่อความมั่นคงโดยตรงต่อสหรัฐในอนาคต แต่การจัดการปัญหานี้ไบเดนอาจจะเลือกใช้แนวทางที่นุ่มนวลกว่าทรัมป์ ไบเดนมองว่าการทำสงครามการค้ากับจีนไม่เพียงส่งผลต่อจีนเท่านั้นแต่สหรัฐก็ได้รับบาดเจ็บไม่น้อยจากส่งครามครั้งนี้ เนื่องจากเกือบสองทศวรรษทั้งคู่ต่างเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญต่อกันและกัน ระบบเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐและจีนต่างมีการเพิ่งพากันอย่างลึกซึ้ง ในช่วงหาเสียงไบเดนเคยกล่าวว่านโยบายการขึ้นภาษีของทรัมป์นอกจากทำอะไรจีนไม่ได้มากแล้ว ยังส่งผลให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันต้องรับภาระซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้น ไบเดนเชื่อว่ากำแพงภาษีเป็นดาบสองคมที่จะมาทำลายเศรษฐกิจของสหรัฐเอง ไบเดนเลือกใช้อำนาจการต่อรอง เพื่อกดดันจีนในเรื่องต่างๆ แทนการทำสงครามโดยตรงและเปิดเผยโดยการขึ้นภาษีสินค้าจากจีนแบบรัฐบาลทรัมป์ ไบเดนเลือกที่จะทำสงครามการค้าในรูปแบบที่มิใช่ภาษีแทน อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา การทุ่มตลาดของจีน เป็นต้น

        นอกจากสงครามการค้าแล้ว สงครามเทคโนโลยี ก็จะเป็นสมรถูมิที่ดุเดือดระหว่างสหรัฐและจีนในอนาคต ในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมารัฐบาลจีนให้การสนับสนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีภายในประเทศอย่างจริงจัง ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างครบวงจรของจีนจึงทำให้จีนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยีปัจจุบันการรุกคืบด้านเทคโนโลยีของจีนสร้างความกังวลให้กับสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยี เพื่อเป็นการตอบโต้จีนวันที่ 15 พฤษภาคม 2019 ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศคำสั่งของประธานาธิบดี (Executive Order) ห้ามการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารจากบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งรวมถึงการสั่งห้ามธุรกิจอเมริกันทำการค้ากับบริษัทเทคโนโลยีของจีนมากกว่า 10 บริษัทที่อยู่ใน Entity List และหนึ่งในนั้นคือ Huawei ผู้ให้บริการระบบโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่เจ้าของเทคโนโลยี 5G แห่งอนาคต และ TikTok จากบริษัทเทคโนโลยีของจีน คือ ByteDance Ltd. การตอบโต้ของสหรัฐเพื่อกดดันจีนให้นำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น และยกเลิกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สกัดกั้นการท้าทายจากจีนที่จะมาแทนที่สหรัฐในการประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลกเพราะหากจีนทำสำเร็จจีนจะกลายเป็นผู้กำหนดกติกาและจัดระเบียบโลกใหม่ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐต้องสกัดกั้นจีนไม่ให้เติบโตไม่ว่าจะใช้มาตราการใดๆก็ตาม

        สหรัฐจะหันกลับมาให้ความสำคัญของประชาคมโลกมากขึ้น เพื่อเป็นกลไกที่จะโดดเดี่ยวจีนดังเช่นในสมัยประธานาธีบดีโอบามาเคยใช้ยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเซีย (Pivot to Asia) คือแสวงหาความร่วมมือประเทศที่อยู่รอบๆจีนเพื่อเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในการจำกัดการขยายอำนาจของจีนในเอเชีย เพราะในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์สหรัฐเลือกที่จะสนใจตัวเองเป็นอันดับแรก (American Frist) หันหลังให้กับเวทีโลก ส่งผลให้จีนเข้ามามีบทบาทแทนสหรัฐในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อประธานาธิบดีสีจิ้นผิง นำความยิ่งใหญ่ของเส้นทางสายไหมในอดีตกลับมา ในชื่อว่ายุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมสมัยใหม่ (Belt and Road Initiative) เพื่อมอบความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศที่อยู่ในแถบเส้นทางซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ส่งผลให้ประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาเริ่มเอนเอียงมาทางจีน ดังนั้นรัฐบาลไบเดนจะต้องเร่งแสวงหาพันธมิตรเก่าจากทั้งในเอเชียและยุโรป เพื่อต้านอิทธิพลของจีนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

        การตัดสินใจกำหนดนโยบายและวางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาต่อจีนทุกรัฐบาล รวมถึงรัฐบาลของไบเดนด้วย มาจากแนวความคิดผลประโยชน์แห่งชาติ(National Interest) และทางเลือกยุทธศาสตร์(Strategic Choices) แนวคิดนี้เกิดขึ้นบนฐานคติที่รัฐบาลทุกประเทศย่อมมุ่งดําเนินนโยบายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ ในอันที่จะสามารถทําให้ประเทศอยู่รอด (Evans, Graham and Newnham, Jeffrey, 1998, pp. 344-346) ไบเดนเองมีความเชี่ยวชาญด้านต่างประเทศมาหลายสิบปีเคยมีบทบาทโดดเด่นในคณะกรรมาธิการต่างประเทศของวุฒิสภา ได้ไปเยือนจีนครั้งแรกเมื่อค.ศ1979 ภายหลังสหรัฐอเมริกาสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับจีนในปีค.ศ1978  และสมัยเป็นรองประธานาธิบดี”ไบเดนก็ได้มีโอกาสเยือนจีน และได้พบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงอย่างน้อยถึง 8 ครั้ง จึงนับว่าเป็นบุคคลเข้าใจจีนเป็นอย่างดี  ดังนั้นจึงไม่ต้องประหลาดใจหากรัฐบาลไบเดนจะสานต่อนโยบายเดิมจากรัฐบาลทรัมป์บางอย่างในเรื่องเกี่ยวกับจีน เพียงแต่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนจะเป็นไปในรูปแบบ "การเจรจาและกดดัน" มากกว่า "ความขัดแย้ง" และมุ่งสร้างพันธมิตรที่สหรัฐสูญเสียไปใน 4 ปีที่ผ่านมา เพื่อบรรลุผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐในเวทีโลก

อ้างอิง


‘ไบเดน’ กับสัญญาณสงคราม การค้าสหรัฐ-จีน รูปแบบใหม่.ประชาชาติธุรกิจออนไลน์.วันที่ 26 ธันวาคม 2563 สืบค้นจาก www.prachachat.net/finance/news-579078

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช.สัมพันธภาพจีน-สหรัฐ รัฐบาล โจ ไบเดน.มติชนออนไลน์.วันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 สืบค้นจาก www.matichon.co.th/article/news_2456392

ปิติ ศรีแสงนาม.(2562).จากสงครามการค้า สู่สงครามเทคโนโลยี และการช่วงชิงความเป็นผู้จัดระเบียบโลก. สืบค้นจาก www.the101.world/from-trade-war-to-tech-war/

  • 1331