“ตะเกียบ” อาวุธคู่ความอร่อยแห่งแผ่นดินจีน

Categories: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนสิงหาคม 2565

เรื่อง “ตะเกียบ” อาวุธคู่ความอร่อยแห่งแผ่นดินจีน

โดย นายพงศธร ปานงาม

     ประเทศจีนมีสิ่งประดิษฐ์อันเป็นอัตลักษณ์ที่สามารถบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของชนชาติจีนในมุมมองต่าง ๆ ได้มากมายหลายอย่าง และหากพูดถึงเรื่องของอาหารการกิน สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมอาหารและต้องมาคู่กับอาหารจีนทุกมื้อ หรือเปรียบเสมือนอาวุธคู่กายของอาหารจีนแสนอร่อย ก็คงจะเป็นสิ่งอื่นใดไม่ได้นอกจากไม้ไผ่รูปร่างเรียวยาวที่อยู่กันเป็นคู่ที่ชื่อว่า “ตะเกียบ”

     คนไทยหลาย ๆ คน คงคุ้นตากับภาพเวลาไปร้านก๋วยเตี๋ยว แล้วมักจะเห็นพ่อค้าแม่ค้ายกชามก๋วยเตี๋ยวร้อน ๆ มาเสิร์ฟให้ลูกค้าพร้อมกันกับบนปากชามที่จะมีตะเกียบคู่หนึ่งวางไว้ หรือแม้แต่ร้านอาหารสัญชาติจีนที่ถึงแม้จะไม่ใช่อาหารประเภทเส้น เช่น ข้าวต้มกุ๊ย หม้อไฟเสฉวนเป็นต้น ก็ล้วนแล้วแต่ใช้ตะเกียบเป็นอุปกรณ์หลักในการรับประทาน ทว่าน้อยคนนักที่จะรู้ที่มาที่ไปของเจ้าตะเกียบนี้ว่ามีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไร ฉะนั้นแล้ว บทความบทนี้จะพาทุกคนไปไขเรื่องราวของตะเกียบให้ได้คลายความสงสัยกันจนถึงบางอ้อไปเลย~~

     “กำเนิดตะเกียบคู่แรก” ตามตำนานว่าด้วยเรื่องของต้ายวี๋ (大禹)บุคคลสำคัญคนหนึ่งในสมัยสามราชาห้าจักรพรรดิ (三皇五帝) ครั้งหนึ่งขณะที่เขาทำอาหารอยู่ ณ หมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง ด้วยความเร่งรีบและต้องการความสะดวกรวดเร็ว เพื่อที่จะได้ออกเดินทางไปยังที่อื่นต่อหลังกินอาหารเสร็จ เขาจึงรีบกินอาหารทันทีที่ต้มเสร็จ แต่กระนั้นอาหารในหม้อซุปร้อน ๆ ไม่สามารถใช้มือหยิบกินได้ เขาเลยหักกิ่งไม้สองท่อนมาคีบเนื้อสัตว์และผักเพื่อกินอาหารเหล่านั้น ผู้คนเลยเชื่อว่าเขาเป็นคนแรกในประเทศจีนที่ใช้ตะเกียบและตะเกียบของเขาก็คือต้นแบบของตะเกียบที่จะปรากฎในยุคต่อมา

     ในบันทึก《史记·微子世家》ของราชวงศ์ซาง(商朝)มีข้อความตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า “纣始有象箸” แปลว่า “กษัตริย์โจ้วมีตะเกียบงาช้าง” จากบันทึกนี้ จึงทำให้รู้ว่ามีตะเกียบปรากฎขึ้นในบันทึกประวัติศาสตร์ และนับจากสมัยนั้นจนถึงปัจจุบัน มีการใช้ตะเกียบมายาวนานถึง 3,000 กว่าปีแล้ว ทว่าในสมัยก่อนคำว่าตะเกียบไม่ได้ใช้คำว่า 筷子เหมือนเช่นปัจจุบันเลย ในยุคก่อนราชวงศ์ฉิน(先秦)เรียกตะเกียบว่า 挟 และในยุคฉินฮั่น(秦汉)เรียกตะเกียบว่า 箸 เนื่องจาก 箸กับ住 เป็นคำพ้องเสียงกันที่แปลว่า ชะงัก ซึ่งเป็นคำไม่มงคล คนโบราณที่ถือเรื่องความเชื่อในสมัยนั้นจึงเปลี่ยนให้เป็นคำว่า 筷ซึ่งมีเสียงพ้องกับคำว่า 快แปลว่า รวดเร็ว แทนคำเดิม ต่อมาเมื่อถึงยุคสมัยที่เกิดการติดต่อแลกเปลี่ยนกันระหว่างประเทศ ตะเกียบที่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีนก็ได้แพร่กระจายไปยังคาบสมุทรเกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม และประเทศอื่น ๆ ในฐานะอุปกรณ์รับประทานอาหารอีกชนิดหนี่งของโลกนั่นเอง

     ในปัจจุบันการใช้ตะเกียบในการรับประทานอาหารมีประโยชน์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคล่องแคล่วในการคีบหยิบอาหาร ใช้งานง่าย ราคาถูก หาง่ายและที่สำคัญยังสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาติจีนได้อย่างเต็มที่อีกด้วย และตะเกียบเองก็มีความยาวอันเป็นมาตรฐาน คือ 7 นิ้ว 6 เซน ซึ่งมีความหมายว่า มนุษย์มี "อารมณ์ 7 ประการ 6 ความปรารถนา" อารมณ์ 7 ประการได้แก่ ความยินดี ความโกรธ ความเศร้า ความกลัว ความรัก ความชั่วร้าย ความสุข 6 ความปรารถนาได้แก่ ปรารถนาจะเห็น ปรารถนาที่จะได้ยิน ปรารถนาที่จะได้กลิ่น ปรารถนาที่จะลิ้มรส ปรารถนาที่จะสัมผัส และปรารถนาที่จะรู้สึกนึกคิด ดังนั้นความยาวอันเป็นมาตรฐานของตะเกียบจึงเป็นตัวบ่งบอกว่าผู้คนควรได้รับการเตือนให้ยับยั้งความปรารถนาที่ไม่เหมาะสมขณะรับประทานอาหารนั่นเอง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

心语. (2560). 为什么中国人吃饭使用“筷子”?. สืบค้น 23 เมษายน 2565, จาก https://www.epochtimes.com/gb/9/12/11/n2751660.htm

阿里山. (2559). 为什么中国人吃饭使用筷子?. สืบค้น 23 เมษายน 2565, จาก https://www.zhihu.com/question/41764909

玥樱. (2561). 筷子的故事. สืบค้น 23 เมษายน 2565, จาก https://www.jianshu.com/p/c375d24417a5

乱云飞渡. (2564). 为什么中国人吃饭使用筷子?. สืบค้น 23 เมษายน 2565, จาก https://www.zhihu.com/question/41764909

斗子侃车. (2561). 关于筷子的故事,一定要讲给孩子们听听!. สืบค้น 23 เมษายน 2565, จาก https://www.sohu.com/a/272992557_623279

  • 53