ภาษาถิ่นแดนมังกร

Categories: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนธันวาคม 2565

เรื่อง ภาษาถิ่นแดนมังกร

โดย อาจารย์อธิคม โกยรัตนกุล

     ภาษาถิ่นจีนเป็นส่วนย่อยของภาษาจีน ประเทศจีนเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ที่มีภาษาถิ่นที่หลากหลาย ดังนั้นกฎหมายว่าด้วยภาษาพูดและภาษาเขียนมาตรฐานของสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกาศใช้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2543 กําหนดให้ภาษาจีนกลางเป็นภาษามาตรฐานของรัฐ

     ประเทศจีนมี 56 ชนชาติ จึงมีภาษาและตัวอักษรมากมาย การกระจายพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยคิดเป็นครึ่งหนึ่งของประเทศ ดังนั้นภาษาของชนกลุ่มน้อยก็เป็นหนึ่งในภาษาถิ่นของประเทศจีน ซึ่งกลุ่มชาวฮั่น(汉族) กลุ่มชาวหุย(回族)และกลุ่มชาวแมนจู(满族)ใช้ภาษาจีนกลาง(普通话) ในขณะที่อีก 53 ชนกลุ่ม ล้วนมีภาษาของตนเอง

          ภาษาถิ่นประเทศจีนสามารถแบ่ง 7 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

     ภาษาถิ่นจิ้น(晋语)ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในแถบมณฑลซานซี山西 ประชากรที่ใช้ภาษาถิ่นจิ้นมีประมาณ 63 ล้านคน คุณลักษณะสำคัญของภาษาจิ้นที่แตกต่างจากภาษาราชการคือระบบเสียง ภาษาจิ้นส่วนใหญ่มี5โทนเสียงและบางพื้นสามารถมีถึง6-7โทนเสียง

     ภาษาถิ่นอู๋ (吴语)มีผู้ใช้โดยประมาณ 90 ล้านคน ภาษาอู๋สมัยใหม่มีปัจจัยด้านเสียงโบราณมากกว่าภาษาราชการ เสียงสอดคล้องกับหนังสือโบราณเช่น "เชี่ยหยุน《切韵》" "กว้างหยุน《广韵》"

     ภาษาถิ่นฮกเกี้ยน(闽语)เป็นภาษาถิ่นที่ซับซ้อนที่สุดในภาษาฮั่น ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ฝูเจี้ยน ไต้หวันและไหหลํา มีประชากรผู้ใช้ประมาณ 80 ล้าน ภาษาฮกเกี้ยนเกิดขึ้นจากภาษาถิ่นชาวพื้นที่และภาษาของชาวอพยพสมัยโบราณมาผสมกัน ดังนั้นภาษาฮกเกี้ยนจึงรวบรวมเอาภาษาจีนโบราณไว้มากมาย

     ภาษาถิ่นกวางตุ้ง(粤语)ส่วนใหญ่กระจายอยู่ในเขตหลิงหนาน(岭南)มีผู้ใช้ทั่วโลกถึง 80 ล้านคน ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าภาษากวางตุ้งยังคงรักษาระบบภาษาจีนดั้งเดิมในสมัยราชวงศ์ถังไว้ ภาษาจีนกวางตุ้งมีเสียงที่สมบูรณ์เก้าเสียงและบางพื้นที่จะมีหกโทนเสียง

     ภาษาถิ่นฮากกา(客家语)มีการกระจายอย่างกว้างขวางในมณฑลกวางตุ้งและฝูเจี้ยน โดยมีประชากร 50 ล้านคน ชาวฮากกาอพยพมาจากที่ราบภาคกลางไปยังภาคใต้ของประเทศจีน แม้ว่าที่อยู่อาศัยจะกระจัดกระจายกัน แต่ภาษาฮากกายังคงรักษาระบบภาษาของตัวเองได้ดี อาจจะมีความแตกต่างบ้างแต่ไม่มากนัก

     ภาษาถิ่นก้าน(赣语) ภาษาก้านส่วนใหญ่กระจายอยู่ในภูมิภาคเจียงซี มีประชากรผู้ใช้ประมาณ 60 ล้านคน มณฑลเจียงซีตั้งอยู่ที่ชายแดนระหว่างฉู่กั๋ว(楚国)และอู๋กั๋ว(吴国) เป็น "อู๋หัวฉู่หาง" ภาษาก้านเกิดจากการผสมผสานของภาษาฉู่กั๋ว ภาษาอู๋กั๋วและภาษาจีนดั้งเดิม

     ภาษาถิ่นเซียง(湘语) ภาษาเซียงหรือที่เรียกว่าภาษาหูหนาน ส่วนใหญ่ใช้ในลุ่มแม่น้ําเซียงในมณฑลหูหนานโดยมีผู้ใช้ประมาณ 45 ล้านคน ภาษาเซียงเกิดขึ้นจากการผสมผสานของภาษาหนานชูโบราณและภาษาจีนกลาง ภาษาเซียงในปัจจุบันแบ่งออกเป็นภาษาเชียงเก่าและภาษาเซียงใหม่ ภาษาเซียงใหม่เป็นที่นิยมในฉางซาและเซียงเป่ย ได้รับอิทธิพลค่อนข้างมากจากภาษาราชการและภาษาถิ่นก้าน ภาษาเซียงเก่ากระจายอยู่ในเขตเหิงหยางและเซียงเซียง

อ้างอิง/ที่มา

李如龙.《汉语方言学第二版》[M].北京:高等教育出版社,2007

  • 73