เมืองลี่เจียง—มุมหนึ่งทางประวัติศาสตร์

Categories: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนธันวาคม 2565

เรื่อง เมืองลี่เจียง—มุมหนึ่งทางประวัติศาสตร์

โดย อาจารย์ซ่อซิง เมธาธารณ์กุล

     มลฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สถานที่ที่มีสมญานามว่า “เมฆหลากสีแห่งทิศใต้” ด้วยเนื่องจากยูนนานเป็นมณฑลที่มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ วัฒนธรรมหลากหลายมากมายหลอมรวมกันขึ้น มลฑลยูนนานยังมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ อากาศที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยยิ่ง จึงทำให้ยูนนานมีเสน่ห์ด้านการท่องเที่ยวทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์มากมณฑลหนึ่งของจีน

     เมื่อพูดถึงมณฑลยูนนานแล้ว คิดว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้จักสถานที่แห่งนี้เป็นอย่างดี เพราะเป็นมณฑลที่มีที่ตั้งใกล้กับประเทศไทยมากที่สุด การเดินทางไปยังดินแดนแห่งนี้ก็สามารถไปได้หลายวิธี ทั้งทางเรือผ่านเส้นทางลำน้ำโขง หรือทางรถยนต์ผ่านเส้นทาง R3A ที่วิ่งผ่านจากไทยไปยังสปป.ลาวแล้วเข้าสู่ยูนนาน และ เส้นทาง R3B ที่วิ่งผ่านไทย ไปยังเมียนมาร์แล้วเข้าสู่ยูนนาน ส่วนทางอากาศนั้นเล่าก็ยิ่งสะดวกเข้าไปอีก มีทั้งสายการบินในไทยและสายการบินในจีนที่บินตรงระหว่างไทยกับยูนนาน นี่จึงเป็นผลที่ทำให้การทำมาค้าขาย และการท่องเที่ยวระหว่างกันเจริญรุ่งเรืองมากในช่วงก่อนเกิดการบาดของโรคโควิด-19 และด้วยยูนนานเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีหลากหลายมุมมาก จึงขอเสนอมุมการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์มุมเล็กๆมุมหนึ่งที่เมืองลี่เจียงของยูนนานแก่ท่านผู้อ่าน

     ยูนนานในอดีตนั้นมีอาณาจักรใหญ่อาณาจักรหนึ่งชื่อว่า ต้าหลี่ 大理国/ Dàlǐ guó (ต้าหลี่กั๋ว) เป็นอาณาจักรที่มีความเป็นอิสระในการปกครองตนเอง แต่มีความสนิทใกล้ชิดกับอาณาจักรซ่งใต้南宋/ Nánsòng (ต้าหลี่กั๋ว) มาก และในยุคที่มองโกลรุ่งเรืองขึ้นมาภายใต้การนำของเจงกิสข่าน มองโกลได้แผ่ขยายอิทธพลไปทั่วทั้งแผ่นดินจีนและแผ่นดินอื่นทางตะวันออกกลาง จรดยุโรปตะวันออก แต่เจงกิสข่านกลับไม่อาจโค่นล้มอาณาจักรซ่งใต้ ได้ ทั้งนี้เพราะการจะตะลุยลงใต้เพื่อปราบอาณาจักรซ่งใต้นั้น ทางภาคกลางลงไป จนถึงภาคตะวันตกเฉียงใต้แถบเสฉวนลงไป มีภูมิประเทศที่เป็นทั้งภูเขา หุบเหว และแม่น้ำ หนองบึงมากมายที่พวกมองโกลไม่ถนัดในการรบมากนัก ต่อมาหลังยุคเจงกิสข่านแล้ว เหล่าผู้นำรุ่นต่อมาภายใต้การนำขององค์ชายโตจึงได้วางแผนการโอบโจมตีอาณาจักรซ่งใต้อีกครั้ง โดยเส้นทางเดินทัพหนึ่งในนั้นก็คือต้องตีเอาอาณาจักรต้าหลี่ที่ยูนนานให้ได้เพื่อโอบเข้าตีอาณาจักรซ่งใต้จากทางด้านหลัง ในช่วงนี้เอง ที่หัวเมืองทางเหนือของต้าหลี่ ชื่อว่าลี่เจียง 丽江/ Lìjiāng (ลี่เจียง) จึงกลายเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญที่ต้องคอยป้องกันไม่ให้กองทัพมองโกลข้ามแม่น้ำแยงซีมาได้ ตอนนั้นเหล่าเจ้าเมืองลี่เจียงและกองทัพต่างก็มีความมั่นใจในการปกป้องแผ่นดินมาก เพราะมั่นใจว่าปราการตามธรรมชาติจะช่วยเสริมให้ทัพลี่เจียงสามารถรบชนะข้าศึกจากมองโกลได้ ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นมาหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้พวกเขากลับคิดผิดใหญ่หลวง ที่เชื่อว่าเช่นนั้น เพราะพวกกองทัพมองโกลภายใต้การนำของกุบไล ข่าน ได้อาศัยประสบการณ์ในการรบครั้งก่อนๆ ผสมกับการก็ศึกษาภูมิประเทศของเมืองลี่เจียงมาเป็นอย่างดี พวกมองโกลจึงแสร้งเป็นนำกำลังโจมตีเมืองลี่เจียงโดยตรง แต่ในขณะเดียวกันก็แอบส่งอีกกองหนึ่งยกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองลี่เจียง ตรงบริเวณที่แม่น้ำจินซาเจียง 金沙江/ Jīnshā jiāng (จินซาเจียง) หรือแม่น้ำแยงซี长江/ Chángjiāng (ฉางเจียง)ที่ไหลมุ่งทิศตะวันตก พอถึงจุดนี้ก็จะหักมุมเลี้ยววกไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่แผ่นดินใหญ่ของจีน ซึ่งสถานที่แห่งนี้ปัจจุบันก็คือตำบลฉือกู่ 石鼓镇/ Shí gǔ zhèn (ฉือกู่เจิ้น) ในปัจจุบัน เป็นเขตที่อยู่อาศัยของชนเผ่าน่าซี 纳西族/ Nàxī zú (น่าซีจู๋) เมื่อเหล่าทหารมองโกลมาถึงบริเวณด้านเหนือของฉือกู่แล้ว เมื่อถึงเวลากลางคืนที่มืดมิดแล้ว ก็ได้ใช้ถุงลมที่ทำจากหนังแพะ แล้วผูกเข้ากับทหาร ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ทหารลอยตัวคอในน้ำได้อย่างปลอดภัย แม้จะว่ายน้ำไม่เป็นก็ไม่เป็นไร เมื่อลอยคอมาถึงจุดหักเลี้ยวของแม่น้ำ แรงเหวี่ยงของแม่น้ำ จะทำให้ทหารมองโกลไหลไปชนฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำทันที โดยไม่หลงทาง และด้วยวิธีนี้ ทำให้กองทัพมองโกลสามารถยกพลข้ามแม่น้ำแยงซีได้อย่างง่ายดาย

     เมื่อกองทัพมองโกลข้ามแม่น้ำแยงซีได้แล้ว ไม่นานต่อจากนั้น เมืองลี่เจียงก็ถูกกองทัพมองโกลตีแตก และตามมาด้วยอาณาจักรต้าหลี่เมืองศูนย์กลางอำนาจแห่งยูนนานก็โดนทำลาย และเมื่อมองโกลยึดยูนนานได้แล้ว ก็ยกไปทางกุ้ยโจว กวางสี จนสามารถไปโอบล้อมโจมตี

     อาณาจักรซ่งใต้จากด้านทิศตะวันตก อาณาจักรซ่งใต้โดนโอบโจมตีจากทุกทิศเช่นนี้ไม่นานก็ถึงคราวล่มสลายเมื่อปีค.ศ.1279 ราชวงศ์แห่งมองโกลหรือราชวงศ์หยวน元朝/ Yuáncháo (หยวนเฉา) ขึ้นปกครองแผ่นดินจีนตั้งแต่นั้น นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีนที่ชนชาติส่วนน้อยได้ตั้งราชวงศ์แล้วสามารถขึ้นปกครองจีนทั้งแผ่นดินได้สำเร็จ

อ้างอิง/ที่มา

อ่านเพิ่มเติมเรื่องราชวงศ์หยวน https://baike.baidu.com/link...

อ่านเพิ่มเติมเรื่องการบุกเมืองลี่เจียงของมองโกล http://www.360doc.com/.../0907/21/36322903_589162057.shtml

ภาพ จากเวป https://image.baidu.com/search/index?tn

ภาพ จากเวป http://www.360doc.com/.../0907/21/36322903_589162057.shtml

  • 59