แมวกู้กง น้อนตัวน้อยสี่ขาผู้คว้าหัวใจฮ่องเต้

Categories: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566

เรื่อง แมวกู้กง น้อนตัวน้อยสี่ขาผู้คว้าหัวใจฮ่องเต้

โดย อาจารย์ณัฐสรัญ ลักษณะปีติ

     พระราชวังกู้กง หรืออีกชื่อที่ทุกคนรู้จักกันดี นั่นก็คือ พระราชวังต้องห้าม สร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยฮ่องเต้หย่งเล่อปีที่ 18 แห่งราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1420) จาก 6 ศตวรรษที่ผ่านมา มีฮ่องเต้เพียง 25 พระองค์เท่านั้นที่เคยประทับอยู่ในพระราชวังต้องห้ามแห่งนี้ โดยส่วนใหญ่ฮ่องเต้มักจะใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ อ่านพระราชสาส์นต่าง ๆ ที่ข้าราชการชั้นสูงกราบบังคมทูล หรือใช้เป็นพื้นที่เซฟโซนในวางแผนราชการลับ เป็นต้น

     ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของเมืองจีนที่แฝงไปด้วยกลิ่นอายของศิลปวัฒนธรรมแห่งราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง หากย่างเท้าก้าวเข้าไปภายในเขตพระราชฐาน เราจะพบกับสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น สิงโต ช้าง กวาง เป็นต้น ซึ่งสัตว์เหล่านั้นล้วนเป็นรูปปั้นแบบลอยตัว หรือเป็นลวดลายจิตรกรรมบนสถาปัตยกรรมต่าง ๆ แสดงออกเชิงสัญลักษณ์แทนความสิริมงคล และพลังอำนาจบารมีของฮ่องเต้แต่ทว่าบรรดาสัตว์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น นับว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต เป็นเพียงความเชื่อ หรือเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจเท่านั้น ไม่สามารถมาเป็นเพื่อนรู้ใจ หรือเป็นสิ่งที่บำบัดอารมณ์ความรู้สึกของฮ่องเต้ได้อย่างแท้จริงจึงทำให้มีฮ่องเต้หลายพระองค์ทรงโปรดให้เลี้ยงแมวไว้ภายในพระราชวังต้องห้ามแห่งนี้ ในช่วงแรกเหตุผลของการเลี้ยงแมวในกู้กง เพียงเพื่อต้องการกำจัดโรคร้ายที่มีหนูเป็นพาหะนำโรค แน่นอนว่าหลังจากที่เลี้ยงแมวแล้วนั้น โรคภัยไข้เจ็บในวังก็ได้รับการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด แต่ด้วยความน่ารักบวกกับความขี้อ้อนของน้อนแมว ทำให้เตะตาต้องใจผู้คนในวัง โดยเฉพาะฮ่องเต้ แมวจึงกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกฮ่องเต้อวยยศให้มาคอยอยู่เคียงข้างดูแลหัวใจ พระองค์คอpประคบประหงมอยู่ไม่ห่าง แถมยกให้มีฐานันดรศักดิ์สูงกว่าคนทั่วไป รวมทั้งมอบสวัสดิการแบบเต็มคาราเบล เป็นสวัสดิการที่ใคร ๆ เห็นแล้วต้องอิจฉา

               หากกล่าวถึงยุคทองของน้อนแมวกู้กงในอดีต แน่นอนว่าจะต้องกล่าวถึงฮ่องเต้ 3 พระองค์ ที่จะเล่าต่อไปนี้

        1. ทาสแมวตัวพ่อ ฮ่องเต้จูเกาชื่อ (朱高炽)

     จูเกาชื่อเป็นรัชทายาทของฮ่องเต้หย่งเล่อ ในช่วงชีวิตวัยรุ่นต้องออกรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระบิดา เนื่องจากว่าพระองค์ไม่ชำนาญการออกศึก แถมมีสภาพร่างกายที่ไม่พร้อม ทำให้ชีวิตเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย ฉะนั้นย่อมมีสภาวะความเครียดตลอดเวลา จูเกาชื่อจึงหาวิธีการกำจัดกับความเครียดโดยการเลี้ยงสัตว์ แต่ในบรรดาสัตว์เลี้ยงที่พระองค์ทรงเลี้ยงนั้น มีเพียงน้อนแมวที่พระองค์รักและโปรดปรานมากที่สุด ความคลั่งไคล้น้อนแมวของพระองค์นั้น บ้างก็นั่งดูแมว บ้างก็วาดภาพแมวเล่น หรืออาจจะนั่งแต่งกลอนที่เกี่ยวข้องกับแมวเป็นงานอดิเรก ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงกริ้ว จึงจับพู่กันขึ้นมาเขียนภาพแมวเพื่อคลายเครียด พอได้ละเลงพู่กันไปมากลับรู้สึกเพลินมือ ถือกำเนิดผลงานชิ้นเอกที่มีชื่อว่า《御笔宫猫画卷》ภายในภาพวาดจะเป็นน้อนแมว 7 ตัวที่มีสีสันและท่าทางที่แตกต่างกันออกไป

        2. หนุ่มน้อยแพ้ทางแมว ฮ่องเต้จูจานจี 朱瞻基

     โบราณมักกล่าวไว้ว่า ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น แน่นอนว่าการที่ฮ่องเต้จูจานจีชอบวาดรูปแมว และเล่นกับแมวเกือบทุกวัน ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลมาจากพระบิดาจูเกาชื่อ ตามตำราเล่ากันว่า ฮ่องเต้จูจานจีมีความสามารถในการวาดรูปแมวเป็นอย่างมาก ชั่วชีวิตของพระองค์ มีผลงานภาพแมวนับไม่ถ้วน แต่ภาพแมวที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ ภาพ 《花下狸奴图》(น้อนแมวใต้ต้นดอกไม้) ซึ่งปัจจุบันได้มีการเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์กู้กง ไต้หวัน

        3. ผู้รักแมวแบบตะโกน ฮ่องเต้จูโฮ่วชง (朱厚熜)

     ตามตำรามักเล่าเสมอว่าจูโฮ่วชง หรือเจียจิ้ง เป็นฮ่องเต้ที่เอาแต่ใจตนเอง ไม่ค่อยฟังใคร แต่กลับหลงรักแมวอย่างหัวปักหัวปำ เนื่องจากพระองค์พยายามหาสูตรยาอายุวัฒนะ และมีความเชื่อที่ว่า แมวมี 9 ชีวิต ทำให้พระองค์ชอบเล่นกับแมวเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ว่าไม่ว่าจะไปที่ไหนจะต้องมีน้อนแมวติดตัวตลอดเวลา หนึ่งในแมวกู้กงตัวโปรดของเจียจิ้งคือ ซวงเหมย (霜眉)ว่ากันว่าหากซวงเหมยไปนอนที่ห้องนอนของสนมคนใด ฮ่องเต้จูโฮ่วชงก็จะตามไปที่นั่น ต่อมาให้ยศเป็น ชิวหลง (虬龙) พร้อมแต่งตั้งให้ขุนนาง 3-4 คนมาคอยดูแลแมวที่พระองค์รักเป็นพิเศษ หลังจากที่ชิวหลงตายไป ก็พระราชทานสถานที่ฝังศพ พร้อมป้ายชื่อหลุมศพแบบพิเศษอีกด้วย

     กล่าวโดยสรุป แมวกู้กงในอดีตนอกจากจะช่วยกำจัดหนูในวังแล้ว ยังเป็นสิ่งมีชีวิตที่คอยบำบัดสภาพจิตใจของผู้คนในวัง ไม่แน่ว่าแมวกู้กงที่ใช้ชีวิตในพระราชวังต้องห้ามในปัจจุบัน อาจจะเป็นทายาทที่สืบสายเลือดมาจากแมวที่ฮ่องเต้ทรงรักจากในอดีตก็เป็นได้

อ้างอิง

天然绿十字. (05 05 2019). 2019-05-05 15:37. เข้าถึงได้จาก 知乎: https://zhuanlan.zhihu.com/p/64704841

周乾. (2020). 故宫瑞兽文化研究. 白城师范学院学报, 1-13.

  • 66