ความท้าทายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลกับอนาคตของจีนในทศวรรษหน้า

Categories: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนมีนาคม 2566

เรื่อง ความท้าทายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลกับอนาคตของจีนในทศวรรษหน้า

โดย อาจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ มีชัยโย

     คำประกาศของนายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เค่อเฉียง ต่อการประชุมครั้งที่ 1 ของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ชุดที่ 14 ในวันที่ 4 มีนาคม 2566 กล่าวว่า "การพัฒนานวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความสำคัญอย่างมากกับจีนในอนาคต " เป็นคำประกาศที่บ่งบอกได้ว่าจีนให้ความสำคัญต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากน้อยเพียงใด โดยในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในจีนได้พิสูจน์แล้วการใช้นวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่เพียงแต่ยับยั้งการระบาด เช่น การใช้ Big Data และ Health Code ในการป้องกันการระบาดและติดตามสถานะการเดินทางและสถานะสุขภาพของประชาชน แต่ยังช่วยให้เกิดโอกาสใหม่ๆของธุรกิจดิจิทัลอีกด้วย เช่น การบริการส่งของถึงบ้าน และการพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคไม่ต้องเดินทางไปยังสถานที่ที่อาจก็ให้เกิดการระบาด

     ปัจจุบันมีบริษัทจีนสัญชาติจีนทีมีศักยภาพในการสร้างสรรนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง อยู่หลายบริษัท อาทิเช่น บริษัท Alibaba ผู้นำค้าปลีกออนไลน์อันดับหนึ่งของจีน และบริษัท Tencent ซึ่งเป็นบริษัท อินเทอร์เน็ตจีนที่พัฒนา Application WeChat และ QQ ถึงแม้ว่าจีนจะมีมูลค่าเศรษฐกิจจากดิจิทัล เป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าจีนยังคงเผชิญความท้าทายในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลอยู่หลายประการ เช่น การขาดแคลนเทคโนโลยีสำคัญ (core technology) ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล จีนยังขาดการพัฒนาด้านชิป (chip) ระดับสูง และระบบปฏิบัติการ (Operating System: OS) ของคอมพิวเตอร์และคาดว่าปัญหาดังกล่าวจะคงยืดเยื้อต่อไปเนื่องจากสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐ – จีน จะทวีความรุนแรงมากขั้น โดยล่าสุดสหรัฐได้มาตรการควบคุมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ตลอดจนส่วนประกอบซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ และสินค้าต่างๆ ที่ส่งออกไปโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Fabrication plant) ขั้นสูงในจีน และห้ามไม่ให้บุคลากรสัญชาติสหรัฐฯ ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในสหรัฐฯ และองค์กรสหรัฐฯ สนับสนุนการพัฒนาและผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงในโรงงานจีน หากไม่ได้รับใบอนุญาต เพื่อกีดกันจีนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีชิปขั้นสูง และปัญหาภายในจีนเองเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับสังคมอัจฉริยะที่ยังไม่มีความพร้อมในบางพื้นที่ โดยในปี 2563 ยังมีกลุ่มคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ต 416 ล้านคนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบท

     แม้จะมีอุปสรรคนานับประการที่จะทำให้จีนไม่สามารถเป็นผู้นำของโลกในอุตสาหกรรมเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ประเทศจีนก็ตระหนักเป็นอย่างดีว่า เศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นกุญแจสำคัญในการแข่งขันของจีนในเวทีโลกและช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต และหากจีนไม่ต้องการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของประเทศไป จีนจึงต้องเตรียมความพร้อมเข้าสู่โลกยุคดิจิทัลอย่างมั่นคง

อ้างอิง

เจาะยุทธศาสตร์ ‘Digital China’ ตอบรับ ‘เศรษฐกิจดิจิทัลในจีน’ โตสวนกระแสวิกฤตโควิด-19 https://www.securitysystems.in.th/.../digital-china-plan.../

US-China Tech War และภูมิรัฐศาสตร์ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โลกhttps

https://www.thairath.co.th/business/feature/2545198

เศรษฐกิจดิจิทัลของจีนโตสวนกระแสวิกฤตโควิด-19

https://thaibizchina.com/article/china-digital-economy/

  • 57