“เท้าดอกบัวทองคำ” ความงามบนความเจ็บปวด

Categories: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนเมษายน 2566

เรื่อง “เท้าดอกบัวทองคำ” ความงามบนความเจ็บปวด

โดย อาจารย์แอนนี คำสร้อย (อาจารย์ประจำสำนักวิชาจีนวิทยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)

     หลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับประเพณี “รัดเท้า”(缠足)ของหญิงสาวชาวจีนในสมัยโบราณ ซึ่งประเพณีดังกล่าวเป็นที่นิยมในช่วงสังคมยุคศักดินา(封建社会)หญิงสาวจะโดนจับให้ทำพิธีรัดเท้าตั้งแต่ยังเด็ก(ประมาณ 4-5 ขวบ) โดยเริ่มจากการนำเท้าไปแช่น้ำสมุนไพรและเลือดสัตว์เพื่อให้เท้าอ่อนนุ่ม มีการทำความสะอาดเล็บเท้า หรือบางคนก็เลือกที่จะถอดเล็บเท้าออกเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หลังจากนั้นดันนิ้วโป้งขึ้นพร้อมกับพับนิ้วเท้าอีก 4 นิ้วลงจนผิดรูปมาที่ฝ่าเท้า นำผ้าหุ้มเท้ามารัดเท้าให้แน่นและเย็บด้วยผ้าชั้นนอกอีกครั้งเพื่อป้องกันการขยับจากการเคลื่อนไหว และนี่คือจุดเริ่มต้นของความงามบนความเจ็บปวด

     เกี่ยวกับที่มาของประเพณีนี้ก็มีทฤษฎีที่กล่าวถึงอย่างหลากหลาย บ้างก็ว่าเริ่มในสมัยราชวงศ์สุย(隋朝) บ้างก็ว่าเริ่มในสมัยราชวงศ์ถัง(唐朝) บ้างก็ว่าเริ่มในสมัยห้าราชวงศ์(五代) บางคนถึงกับกล่าวว่าประเพณีดังกล่าวปรากฎขึ้นตั้งแต่สมัยเซี่ยและซาง(夏、商时期)ปฐมราชวงศ์ของจีน แต่หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของประเพณีการรัดเท้าในจีนที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายเกิดขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดิหลี่อี้ว์ หรือหลี่โฮ่วจู่(李后主) แห่งราชวงศ์ถังใต้(南唐) ในยุค 5 ราชวงศ์ (พ.ศ. 1466-1479) โดยอ้างกันว่า นางกำนัลคนหนึ่งของจักรพรรดิหลี่อี้ว์ ชื่อ เหย่าเหนียง(窅娘) ต้องการทำให้จักรพรรดิพอพระทัย จึงใช้ผ้าที่ทำจากแพรไหมสวยงามรัดที่เท้าจนเรียวเล็กราวพระจันทร์เสี้ยว ขณะที่ร่ายรำต่อหน้าพระพักตร์ ทำให้จักรพรรดิหลี่อี้ว์ทรงพอพระทัยการแสดงครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง จึงกล่าวได้ว่า ประเพณีนิยมในลักษณะนี้เกิดขึ้นจากชนชั้นสูงและค่อยๆแพร่หลายสู่ชนชั้นอื่นๆในสังคม

     ในส่วนของชื่อเรียกเท้าที่ถูกรัดจนเล็กผิดรูปว่า “ดอกบัวทองคำ”(金莲) นักวิชาการบางคนเชื่อว่าเหตุที่เท้าเล็กๆ ถูกเรียกว่า “ดอกบัวทองคำ” อาจจะมาจากลักษณะของ “ดอกบัว” ในวัฒนธรรมทางพุทธศาสนา ซึ่งเชื่อกันว่าดอกบัวผุดขึ้นจากโคลนตมโดยไม่เปรอะเปื้อน ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ ส่วนคำว่า “ทองคำ” เชื่อกันว่าเกิดจากความนิยมในการใช้ภาษาของชาวจีน โดยมักจะใช้คำว่า “ทองคำ” ในการเปรียบเทียบถึงสิ่งที่มีมูลค่าหรือสวยงาม ภายหลังยังมีการจัดลำดับความสวยงามและตั้งชื่อเรียกให้กับขนาดของเท้าเล็กเหล่านี้ เช่น “สามนิ้วดอกบัวทองคำ”(三寸金莲) คือชื่อเรียกเท้าที่มีขนาดไม่เกิน 3 นิ้ว ส่วนเท้าที่มีขนาดใหญ่กว่า 3 นิ้วแต่ไม่เกิน 4 นิ้ว จะถูกเรียกว่า “เท้าดอกบัวเงิน”(四寸银莲) ส่วน “ดอกบัวเหล็ก”(铁莲) เป็นชื่อเรียกเท้าที่มีขนาดเกิน 4 นิ้วขึ้นไป

     ต่อมาเมื่อประเทศจีนมีการเปลี่ยนผ่านทางสังคม ประเพณีที่บิดเบี้ยวนี้ก็ถูกประกาศให้ยกเลิกไปในปี 1912 โดยซุนยัดเซ็น(孙中山)ค่านิยมการรัดเท้าที่นำมาซึ่งความเจ็บปวดแก่สตรีจีนมาอย่างยาวนานถึง 1,000 ปีในที่สุดก็เดินทางมาถึงจุดจบ

อ้างอิง

妇女小脚为何称“金莲”?或来自佛教文化中的莲花. Retrieved from 中国新闻网: https://www.chinanews.com.cn/m/cul/2015/03-12/7122384.shtml

ความงามที่แลกมาด้วยความเจ็บปวด.. ย้อนรอยประเพณีการรัดเท้าของสตรีจีนยุคโบราณ Retrieved from: https://www.vogue.co.th/.../foot-binding-chinese-culture

เท้าดอกบัวทองคำ ความงามตามความเชื่อของสาวจีน Retrieved from: https://www.aagold-th.com/article/724/

  • 95