ดอกเหมยในแจกันทอง นิยายจีนโบราณที่ต้องห้าม...เพราะความอีโรติก

Categories: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนพฤษภาคม 2566

เรื่อง ดอกเหมยในแจกันทอง นิยายจีนโบราณที่ต้องห้าม...เพราะความอีโรติก

โดย อาจารย์ ดร.ประเทืองพร วิรัชโภคี (อาจารย์ประจำสำนักวิชาจีนวิทยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)

     นักศึกษาสาขาวิชาภาษาจีนน่าจะเคยท่องจำกันมาบ้างว่า นิยายจีนโบราณที่ได้รับเลือกว่ายอดเยี่ยม(四大名著)นั้น มีทั้งหมดสี่เรื่อง ได้แก่ สามก๊ก (《三国演义》) ซ้องกั๋ง(《水浒传》) ไซอิ๋ว(《西游记》) และความฝันในหอแดง(《红楼梦》)แต่หากเราถอยหลังกลับไปก่อนหน้านั้นสักเล็กน้อย เราก็จะพบว่าในการจัดอันดับความยอดเยี่ยมของนิยายจีนโบราณ (หรือนิยายแบ่งบท ซึ่งเฟื่องฟูในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง) นั้น ยังมีอีกหนึ่งชุด ที่เรียกว่า 四大奇书 หรือสี่ยอดหนังสืออัศจรรย์นั่นเอง

     โดยสี่ยอดหนังสืออัศจรรย์นั้น หมายถึงนิยายแบ่งบทที่เขียนขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิงรวมสี่เรื่อง อันได้แก่ สามก๊ก (《三国演义》) ซ้องกั๋ง(《水浒传》) ไซอิ๋ว(《西游记》) และดอกเหมยในแจกันทอง(《金瓶梅》)จะสังเกตได้ว่า สามเรื่องแรกยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่เรื่องที่สี่นั้น เปลี่ยนจากความฝันในหอแดงมาเป็นดอกเหมยในแจกันทอง

     เป็นที่น่าสังเกตว่า ดอกเหมยในแจกันทอง และ ความฝันในหอแดง นั้น มีลักษณะใกล้เคียงกัน คือเป็นนิยายว่าด้วยเรื่องราวในชีวิตประจำวันของบุคคล ต่างกันตรงที่ ดอกเหมยในแจกันทอง บอกเล่าเรื่องราวของชนชั้นกลางในสมัยราชวงศ์หมิง ส่วน ความฝันในหอแดง เป็นเรื่องราวชีวิตของชนชั้นสูงในสมัยราชวงศ์ชิง ว่ากันว่า ดอกเหมยในแจกันทอง เป็นวรรรกรรมส่งอิทธิพลต่อการรจนา ความฝันในหอแดง ของเฉาเสฺว่ฉิน(曹雪芹)มากพอสมควร

     เมื่อเอ่ยชื่อ ดอกเหมยในแจกันทอง หรือ จินผิงเหมย์ หรือที่คนไทยผู้ชื่นชอบการอ่านนิยายแปลอาจคุ้นเคยมากกว่าในชื่อ บุปผาในกุณฑีทอง นั้น สิ่งที่มักจะผุดขึ้นในความคิดของทุกคนคือ ความโป๊ของเรื่องราว ว่ากันว่า ในเนื้อหาทั้งหมด 100 บทของ ดอกเหมยในแจกันทอง ปรากฏฉากสังวาสหรือฉากการปฏิบัติกามกิจในลักษณะต่างๆ ของตัวละครมากถึง 105 ครั้ง แบ่งออกเป็นการบรรยายอย่างละเอียด 36 ครั้ง บรรยายเล็กน้อย 69 ครั้ง (Huo, 2003, p. 92) และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้นิยายจีนสมัยราชวงศ์หมิงเรื่องนี้ถูกแบนเป็นระยะเวลายาวนาน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิงเป็นต้นมา เพิ่งจะได้หลุดพ้นจากชะตากรรมหาอ่านในจีนแผ่นดินใหญ่แทบไม่ได้ ก็หลังจากที่ประธานเหมาเจ๋อตงเอ่ยปากชื่นชมเนื้อหาสาระบางประการในเรื่อง เมื่อ ค.ศ. 1956 เท่านั้น (Song, 2016, p. 69)

     และอาจเป็นเพราะเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าโจมตีนี้เอง ดอกเหมยในแจกันทอง จึงกลายเป็นนิยายที่มีปริศนา (ที่ยังไขไม่ออกจนปัจจุบัน) มากมาย ได้ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องผู้แต่ง หรือแม้แต่ข้อวินิจฉัยที่แน่ชัดว่า วรรณคดีเรื่องนี้ปรากฏขึ้นในปีใดกันแน่ รู้เพียงคร่าวๆ ว่าอยู่ในสมัยราชวงศ์หมิงตอนกลางถึงปลาย ที่ชนชั้นพ่อค้าเริ่มมีบทบาทในจีน และสังคมค่อนข้างเน่าเฟะเพราะประชาชนเสื่อมศีลธรรม

     ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ดอกเหมยในแจกันทอง เป็นนิยายที่เล่าเรื่องชีวิตของชนชั้นกลาง โดยตัวละครเอกที่เป็นศูนย์กลางของเรื่องนั้น คือซีเหมินชิ่ง พ่อค้าหนุ่มผู้เก่งกาจทั้งเรื่องการค้าและความรัก แต่ก็อัดแน่นไปด้วยความต่ำทรามในจิตใจ สามารถฆ่าคนได้โดยไม่รู้สึกผิด ส่วนบุคคลที่แวดล้อมซีเหมินชิ่ง ก็มีทั้งบรรดาภรรยาหลวงภรรยาน้อย โสเภณี ผองเพื่อนกินทั้งหลาย บ่าวไพร่ในเรือน ไปจนกระทั่งขุนนางชั้นผู้ใหญ่ และแน่นอนเมื่อนิยายเรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องชีวิต สิ่งที่สะท้อนออกมาผ่านเรื่องราวยาวเหยียดของ ดอกเหมยในแจกันทอง จึงเป็นข้อมูลอันล้ำค่า ที่พาให้ทุกคนได้ศึกษากันต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งว่า ชนชั้นกลาง (ตลอดจนชนชั้นอื่นๆ เพราะชีวิตของซีเหมินชิ่งเกี่ยวข้องกับผู้คนทุกระดับ) ในสมัยนั้น เขากิน ดื่ม เที่ยว แต่งกาย หรือกระทั่ง ‘หลับนอน’ กันอย่างไร

     สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายสำหรับวรรณคดีจีนเรื่องนี้คือ ปัจจุบันยังหาฉบับแปลไทยแบบสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบมิได้ ฉบับที่หาอ่านได้สะดวกน่าจะมีเพียงฉบับของยาขอบ ที่ตั้งชื่อว่า บุปผาในกุณฑีทอง เท่านั้น ซึ่งเนื้อหาเพิ่งจะแปลไปได้ร้อยละ 25 ของเรื่องทั้งหมดก็จบลงเสียก่อน เนื่องจากปัญหาสุขภาพและการวายชนม์ของผู้แปล

     อย่างไรก็ดี ผู้สนใจสามารถหาอ่าน ดอกเหมยในแจกันทอง ฉบับภาษาจีน หรือ จินผิงเหมย์ ได้ฟรีๆ ผ่านเวบไซต์อ่านหนังสือออนไลน์ต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักคือ วรรณคดีเรื่องนี้มีหลายสำนวน ตั้งแต่วาบหวิวที่สุด ไปจน “สะอาดเอี่ยม” แต่จืดชืด ใครใคร่อ่านระดับไหน ก็สืบหากันไปตามอัธยาศัย และหากถนัดภาษาอังกฤษมากกว่า ก็มีให้เลือกหลายสำนวน ทั้งฉบับอ่านเพลินอย่าง The Golden Lotus ที่แปลโดย Clement Egerton และฉบับเชิงอรรถละเอียดตามสไตล์วิชาการอย่าง The Plum in the Golden Vase ที่แปลโดย David Tod Roy

อ้างอิง

Huo, X. (2003). Jin Ping Mei Xing Miaoxie de Chaoyue yu Shiwu [The Transcendence and Mistakes in the Sex Scenes in Jin Ping Mei]. Gudian Wenxue Zhishi [Knowledge on Literary Classics] 5: 92-95.

Song, C. (2016). “Jin Shu” Jin Ping Mei de tuo min zhi lü [The Road to being Unbanned: On Jin Ping Mei, the notorious banned book in China]. Dong Xi Nan Bei [East, West, South and North] 2016 (24): 69-71.

  • 65