ทำความรู้จักเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก ประเทศจีน (New Western Land–Sea Corridor – NWLSC /西部陆海新通道)

Categories: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนมิถุนายน 2566

เรื่อง ทำความรู้จักเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก ประเทศจีน

(New Western Land–Sea Corridor – NWLSC /西部陆海新通道)

โดย อาจารย์ ดร.บัณฑิตา ภัทรวิชญ์กุล (อาจารย์ประจำสำนักวิชาจีนวิทยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)

     西部陆海新通道 หรือ New Western Land-Sea Corridor (NWLSC) เป็นเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก ประเทศจีน ครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคใต้ของจีน 13 มณฑล/เขตปกครองตนเอง/เทศบาลนครของจีน โดยมีบทบาทเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt) เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Maritime Silk Road) และการพัฒนาในเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Economic Belt) พัฒนากลายเป็นเส้นทางการค้าและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพสูง ต้นทุนต่ำ มีระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่รวดเร็วและสะดวกสบาย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างพื้นที่ทางภาคตะวันตกของจีน (เช่น นครฉงชิ่ง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง มณฑลกุ้ยโจว มณฑลเสฉวน) ประเทศสิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน

     โดยรัฐบาลกลางจีนยกให้เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเส้นทาง NWLSC ผลักดันให้เขตทดลองการค้าเสรีจีน (กว่างซี) เป็นแพลตฟอร์มสำคัญ มีนครหนานหนิงเป็นจุดศูนย์กลาง รวมทั้งกำหนดให้ “กลุ่มท่าเรืออ่าวเป่ยปู้” (ประกอบด้วยท่าเรือฝางเฉิง ท่าเรือชินโจว ท่าเรือเป๋ยไห่) และ “ด่านพรมแดนทางบก” (เมืองผิงเสียง เมืองตงซิง เมืองไป่เซ่อ) เป็น Hub สำคัญของเส้นทาง NWLSC ที่มณฑลทางภาคตะวันตกของจีน ใช้เป็นประตูเพื่อเชื่อมออกสู่ต่างประเทศ โดยอาศัยโมเดลการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการขนส่งในรูปแบบ “รถไฟ+เรือ” และการขนส่งผ่านด่านชายแดน (รถบรรทุกและรถไฟระหว่างประเทศ) ทั้งนี้ กว่างซีอยู่ระหว่างการเร่งยกระดับประสิทธิภาพการขนส่งทางน้ำ มีการเร่งพัฒนาทั้งทางด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ เพื่อยกระดับระบบโครงสร้างพื้นฐาน มีการนำเทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยีเครือข่ายพลังงานต่ำ (NB-IoT) ผลักดันท่าเรือให้กลายเป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Port) เพื่อจะช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการนำเข้า-ส่งออกตู้สินค้า ทำให้กิจกรรมที่ท่าเทียบเรือ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

     ปัจจุบันเส้นทาง NWLSC ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกในพื้นที่จีนตอนใน เพราะมีความได้เปรียบกว่าการขนส่งแบบเดิมผ่านมณฑลทางชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ทั้งด้านระยะทางและระยะเวลาการขนส่งสินค้า ความปลอดภัย และต้นทุนค่าใช้จ่าย ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการชาวไทย หากมีความสนใจขนส่งสินค้าไทยไปเจาะตลาดพื้นที่จีนตอนใน หรือใช้ช่องทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป

ข้อมูลอ้างอิง

1. 中新网. (2021). 西部陆海新通道石材专列从银川发车开往泰国. สืบค้นจาก https://www.sohu.com/a/472600801_162758. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2566

2. สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง. (2019). จีนประกาศ “แผนแม่บทเส้นทางการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลสายใหม่แห่งภาคตะวันตก (NWLSC)” พร้อมยกระดับเส้นทางดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติแล้ว. ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ. สืบค้นจาก https://globthailand.com/china-18122019/. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2566

3. สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง. (2020). กว่างซีอัดฉีด แสนล้านหยวน ในโครงการขนส่งและโลจิสติกส์. ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ. สืบค้นจาก https://globthailand.com/china-15042020/. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2566

4. ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน. (2021). นครหยินชวน เขตฯ หนิงเซี่ย เปิดตัวเที่ยวขนส่งสินค้าทางรางรอบพิเศษสู่ไทย. สืบค้นจาก https://thaibizchina.com/นครหยินชวน-เขตฯ-หนิงเซี่. สืบค้นเมื่อ 29 พฤษภาคม 2566

 

  • 58