“的、地、得” คนจีนไม่ได้เรียกว่า “de dì dé” นะ

Categories: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนตุลาคม 2566

เรื่อง “的、地、得” คนจีนไม่ได้เรียกว่า “de dì dé” นะ

โดย อาจารย์ ดร.อภิรักษ์ นุสิทธิ์ชัยการ (อาจารย์ประจำสำนักวิชาจีนวิทยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)

     คนที่เรียนภาษาจีนมักจะต้องพบกับ“的、地、得”สามคำนี้อย่างแน่นอน ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งสามคำนี้อ่านนว่า “de” เหมือนกัน เพียงแต่คนที่เพิ่งเริ่มเรียน เวลาต้องสื่อสารกันว่าจะใช้ “de” ตัวไหนในการพูดหรือแต่งประโยค ก็มักจะหาคำเรียกที่เข้าใจกันได้ง่าย ซึ่งก็เป็นที่มาว่าทำไมคนบางกลุ่มถึงเรียกคำนี้ว่า “de dì dé” เพราะคำเหล่านี้เป็นอักษรที่มีหลายเสียง เช่น “地”สามารถอ่านได้อีกเสียงว่า “dì” ที่มาจาก “地方” ซึ่งแปลว่า “สถานที่” และ“得”สามารถอ่านได้อีกเสียงว่า “dé” ที่มาจาก “得到” ซึ่งแปลว่า “ได้รับ” คนไทยเราหลายคนเลือกวิธีการเรียกเป็น “de dì dé” เพราะสะดวกและเป็นคำที่เราเคยเรียนมาอยู่แล้วนั่นเอง ต่างกับคนจีนซึ่งเวลาจะต้องสื่อสารกันด้วยคำพูดว่าใช้ “de” ตัวไหน คนจีนจะมีการเรียกโดยเน้นการบอกองค์ประกอบของอักษรนั้นๆ ดังนี้

     “的”จะเรียกว่า“白勺的báisháode”หรือก็คือการแยกองค์ประกอบออกมาโดยการบอกว่าเป็นตัว“的”ที่ประกอบด้วยอักษร“白bái ขาว”และอักษร“勺sháo ช้อน”

     “地”จะเรียกว่า“土也地tǔyěde”ก็คือการบอกว่าเป็นตัว“地”ที่ประกอบด้วยอักษร“土tǔ ดิน”และอักษร“也yě ก็”

     “得”มีความพิเศษตรงที่จะบ่งบอกแค่ครึ่งด้านซ้ายของตัวอักษรนี้โดยเรียกว่า“双人得shuānɡrénde”คำว่า“双人shuānɡrén คนสองคน” คือคำเรียกของอักษรข้าง“彳”ซึ่งจะไม่ได้พูดถึงอักษรด้านข้างอีกตัวคือ“㝵”

     การที่คนไทยเรียนภาษาจีนแล้วไม่คุ้นเคยกับการเรียกตัว “de” ทั้งสามแบบนี้ เกิดจากหลายปัจจัย และก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

     เหตุผลประการแรกคือในแบบเรียนต่างๆ เราจะพบ“的、地、得”ทีละตัว และกว่าจะเรียนจนพบทั้งสามตัวพร้อมหรือมีการนำมาเปรียบกันจริงๆ ก็ต้องเรียนไปสักพัก อาจจะหลายเดือนแล้วก็เป็นได้ ซึ่งอาจจะได้เรียนคำว่า“地方”หรือคำว่า “得到” ไปก่อนแล้ว

     ประการที่สองคือย้อนไปเมื่อผู้เขียนกำลังเรียนภาษาจีนอยู่ ถึงแม้ว่าจะได้เรียนกับอาจารย์ชาวจีนที่ประเทศจีน และยังได้ยินการเรียก“白勺的”“土也地”“双人得”อยู่บ้าง แต่ด้วยความที่เป็นการได้ยิน และไม่ได้มีการเขียนออกมา จึงไม่สามารถเชื่อมโยงไปอักษร“勺”ได้ เพราะคำนี้เป็นคำที่ใช้ไม่บ่อยสักเท่าไรนัก หากใช้ก็อาจจะเป็นการใช้ที่เกิดขึ้นในโรงอาหาร แต่ก็ใช้เป็นภาษาพูด จึงทำให้นึกไม่ถึงอักษร“勺”เหตุผลความเป็นไปได้อีก

     ประการหนึ่งคือการเรียนภาษาจีนสมัยนี้เป็นการเรียนแบบเร่งรัด อาจจะเรียนแค่ภาษาจีนพื้นฐานเพียงวิชาเดียว บางคนไม่ได้เรียนวิชา 汉字 (วิชาอักษรจีน) ตั้งแต่แรก ซึ่งการเรียนลักษณะนี้อาจจะตกหล่นประเด็นองค์ประกอบของอักษรจีนเหล่านี้ไปได้เช่นกัน

     นอกจาก“的、地、得”แล้วการบอกอักษรจีนจากองค์ประกอบยังสามารถใช้ได้กับการบอกอักษรที่มีหลายเสียงทั่วไปและใช้บ่อยครั้ง เช่น ผู้เขียนมีแซ่ว่า “黄huánɡ ”เวลาแนะนำชื่อตัวเองบางครั้งก็จะตามด้วยว่า “草头黄cǎotóuhuánɡ” หรือ“黄”ที่ข้างบนหัวเป็นตัว “草cǎo(艹)”ที่แปลว่า “หญ้า” สำหรับเกร็ดเล็กน้อยนี้ผู้เรียนภาษาจีนสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ตามสื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาษาจีน การเข้าใจเรื่องอักษรจะช่วยให้จำตัวจีนได้ดีขึ้นและเพิ่มความสนุกให้กับการเรียนได้อีกด้วย

  • 64