เหยียนฟู่กับ “ซิ่น ต๋า หย่า” – หลักการประเมินค่างานแปลของจีน

Categories: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนธันวาคม 2566

เรื่อง เหยียนฟู่กับ “ซิ่น ต๋า หย่า” – หลักการประเมินค่างานแปลของจีน

โดย อาจารย์ ดร.ประเทืองพร วิรัชโภคี (อาจารย์ประจำสำนักวิชาจีนวิทยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)

     ในหมู่นักอ่านชาวไทย เมื่อผู้อ่านผลงานแปลสักชิ้นจะประเมินคุณค่าของงานที่กำลังอ่านอยู่นั้น ดูเหมือนว่าจะไม่มีเกณฑ์ที่แพร่หลายและรู้จักกันทั่วไปในการวัดระดับความดีงามของงานแปลชิ้นหนึ่งๆ เมื่อผู้อ่านชาวไทยต้องการชมตัวบทแปล อาจพูดไปในทำนองว่า “งานแปลชิ้นนี้แปลดี เหมือนอ่านงานที่เขียนด้วยภาษาไทย ไม่ใช่งานแปล” เสียมากกว่า

     แต่สำหรับจีนนั้น มีเกณฑ์การประเมินคุณค่างานแปลอยู่หลากหลายเกณฑ์ แต่ที่แพร่หลายที่สุด น่าจะหนีไม่พ้น “ซิ่น ต๋า หย่า”(信、达、雅)ซึ่งถือกำเนิดมานานกว่าร้อยปี โดยนักเขียนนักแปลท่านหนึ่งซึ่งมีนามว่า เหยียน ฟู่ (严复)

     เหยียน ฟู่ เป็นนักเรียนนอกรุ่นแรกที่ราชสำนักชิงส่งไปเรียนยังต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาจักรวรรดิจีนที่กำลังซวนเซ ถูกประเทศตะวันตกคุกคาม เขาเรียนที่ประเทศอังกฤษในสาขาทหารเรือ เมื่อกลับจีนก็ได้ทำงานด้านการศึกษา เป็นอาจารย์ ณ โรงเรียนต่อเรือฝูโจว(福州船政学堂) ในมณฑลฮกเกี้ยนซึ่งเป็นบ้านเกิด นอกเหนือจากทำงานอาจารย์แล้ว เหยียน ฟู่ก็ยังเป็นนักหนังสือพิมพ์ คอยเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ผ่านตัวอักษร รวมทั้งแปลความรู้ต่างๆ จากประเทศตะวันตกเป็นภาษาจีนด้วย

     งานแปลของเหยียน ฟู่นั้น ส่วนใหญ่เป็นงานวิชาการ โดยผลงานแปลที่เรียกได้ว่าเป็นที่รู้จักในหมู่นักศึกษาด้านการแปลมากที่สุดของเหยียน ฟู่ คงจะหนีไม่พ้นเรื่อง เทียนเหยี่ยนลุ่น(《天演论》)ซึ่งแปลมาจากงานเขียนของโทมัส ฮักซลีย์ เรื่อง Evolution and Ethics, and Other Essays อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญในด้านทฤษฎีการแปลที่แทรกอยู่ในผลงานแปลชิ้นนี้ มิใช่เนื้อหาในเล่ม หากแต่เป็นคำนำผู้แปล

     เหตุที่คำนำผู้แปล ซึ่งเหยียน ฟู่ได้เกริ่นให้ผู้อ่านทราบเกี่ยวกับหนังสือเล่มดังกล่าวกลายเป็นงานเขียนอมตะของเขา นั่นเป็นเพราะในเนื้อหาคำนำนั้น เหยียน ฟู่ได้พูดถึงสิ่งที่ยากในการทำงานแปลเอาไว้ทั้งสิ้นสามประการ ได้แก่ ซิ่น ต๋า และ หย่า นั่นเอง

     ประโยคแรกของคำนำผู้แปลคือ 译事三难:信、达、雅。

     อันการแปลนั้นมีเรื่องยากอยู่สามสิ่ง นั่นคือ ซิ่น ต๋า และ หย่า

ซิ่น(信)ที่ว่านี้ มิได้แปลว่า “จดหมาย” หากแต่หมายถึง “ความซื่อตรงต่อต้นฉบับ” เนื้อหาที่แปลออกมาต้องไม่ขัดแย้งกับเนื้อหาเดิมในต้นฉบับ

ต๋า(达)หมายถึง สำนวนการแปลสามารถอ่านได้อย่างลื่นไหล ไม่ติดรูปประโยคหรือโครงสร้างในภาษาต้นทาง

หย่า(雅)คือความสละสลวยทางภาษา ตัวบทแปลใช้ภาษาสวย น่าอ่าน

     เมื่อเหยียน ฟู่นำเสนอมาตรฐานการแปลสามอย่างนี้ออกมา ก็ได้รับการตอบรับจากบรรณพิภพเป็นอย่างดี นักคิดนักเขียนและนักแปลอื่นๆ ต่างทยอยนำเสนอแนวคิดของตนออกมาเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของหลู่ซฺวิ่นหรือเหมาตุ้น แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีแนวคิดใดจะ “แมส” และอยู่ยงคงกระพัน ผ่านกาลเวลาเนิ่นนานได้เช่น “ซิ่น ต๋า หย่า” นี้ (Fang, 2004, p.67)

     เมื่อเรื่องยากสามอย่างในการแปลถูกเสนอขึ้นมาในคริสตศักราช 1898 ซิ่น และ ต๋า นั้น มิได้ก่อให้เกิดข้อถกเถียงในภายหลังมากนัก แต่สำหรับ “หย่า” นั้น เนื่องจากคำนำผู้แปลของเหยียน ฟู่ ดูราวกับจะแนะนำว่า หากต้องการให้ภาษาจีนในตัวบทแปลมีความ “สวยงามอลังการ” หรือ “หย่า” นั้น ควรจะใช้รูปประโยคและถ้อยคำสำนวนตามแบบงานเขียนในสมัยราชวงศ์ฮั่นหรือก่อนหน้านั้น (汉以前字法句法) นิยามเกี่ยวกับ “หย่า” จึงก่อให้เกิดการตีความจากนักวิชาการรุ่นหลังอย่างต่อเนื่อง (ibid.) โดยทั่วไปได้ข้อสรุปว่า “หย่า” นั้นหมายถึงใช้ภาษาในการแปลที่สละสลวย มีวัจนลีลาที่สอดคล้องกับต้นฉบับ นั่นคือหากต้นฉบับบางประเภท เช่น ตัวบทวรรณกรรมมีข้อความบางตอนที่ตั้งใจให้ภาษาไม่สวย ก็แปลออกมาให้ได้ลีลาเช่นเดียวกับภาษาและอารมณ์ของต้นฉบับ

“ซิ่น ต๋า หย่า” นั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่การใช้ประเมินค่าตัวบทแปลในภาษาจีนเท่านั้น แน่นอนว่ายังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการแปลในคู่ภาษาอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี

ข้อมูลอ้างอิง

Fang, M. (2004). A Dictionary of Translation Studies. Shanghai: Shanghai Foreign Language

Education Press.

  • 67