เหตุเกิดที่บันดุงและเหตุอันจะเกิดที่บันดุง

Categories: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนมกราคม 2567

เรื่อง เหตุเกิดที่บันดุงและเหตุอันจะเกิดที่บันดุง

โดย อาจารย์ ดร. ฉลองรัฐ เจริญศรี (อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)

     ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา มีข่าวสำคัญข่าวหนึ่งที่เป็นเหมือนหลักหมายที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ การเปิดใช้งานเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายแรกในภูมิภาค ระยะทางจากกรุงจาการ์ตาไปยังเมืองบันดุงในจังหวัดชวาตะวันตกที่เป็นเสมือนห้องทดลองระบบรางความเร็วสูงของอินโดนีเซียก่อนที่จะคิดอ่านโครงการเชื่อมต่อเส้นทางให้เป็นโครงข่ายที่ยาวไกลต่อไปในอนาคตจนสุดทางที่นครสุราบายา ในชวาตะวันออกซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ ทั้งนี้ ระยะทางกว่า 142 กิโลเมตรที่เคยต้องใช้เวลา 3 ชั่วโมง ถูกทอนลงเหลือเพียง 40 นาทีด้วยโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับเงินยืมและเทคโนโลยีจากจีน และในระยะที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพการประชุม ASEAN+3 (APT) เมื่อต้นเดือนกันยายน 2566 นั้น นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียงที่เป็นผู้แทนรัฐบาลจีนเข้าร่วมการประชุมได้ทดลองนั่งรถไฟสายนี้ในระยะหนึ่งสถานี (ประมาณ 40 กิโลเมตร) ได้รับความชื่นชมจากเขาอย่างมาก นับเป็นความสำเร็จที่สำคัญในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI) เพราะรถไฟที่วิ่งในสายนี้สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งเร็วกว่าสายที่จีนดำเนินการใน สปป.ลาว กว่าเท่าตัว

     นอกจากบันดุงจะเป็นเมืองสำคัญในความสำเร็จนี้แล้ว เมื่อย้อนกลับไปในอดีต ระหว่างวันที่ 18-24 เมษายน 2498 (ค.ศ.1955) เมืองบันดุงเป็นสถานที่สำคัญที่เกี่ยวพันกับการจัดวางความสัมพันธ์ในการเมืองระหว่างประเทศของที่ประชุม Asian-African Conference อันเป็นที่ชุมนุมของประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจในโลกตะวันตกมาก่อนแล้วทยอยกันประกาศเอกราชเป็นประเทศเกิดใหม่ในศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งพัฒนามาเป็นกลุ่มประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-aligned Movement-NAM) กับประเทศมหาอำนาจในยุคสงครามเย็น โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิในการกำหนดใจตนเอง การไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศ และหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในอันที่จะไปพ้นจากลัทธิจักรวรรดินิยมใหม่และการเมืองแบบเลือกข้าง ซึ่งในเวทีนี้ มีรัฐบุรุษที่สำคัญจากนานาประเทศเข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ และหารือเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือกันต่อไปในอนาคตอย่างเข้มข้น (ต่อเนื่องจากการประชุมที่โคลัมโบ ในศรีลังกา และโบกอร์ ที่ห่างจากบันดุงไม่ไกลนัก เมื่อปี พ.ศ. 2497 ตลอดจนการพบปะกันนอกรอบของผู้นำหลายคนเป็นระยะ ๆ) ในโอกาสนี้ รัฐบาลปักกิ่งมอบหมายให้นายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล เป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมด้วย แม้ว่าเพียง 7 วันก่อนเริ่มการประชุม ทีมงานฝ่ายผู้แทนจีนต้องเสียชีวิตไปหลายคนจากเหตุวินาศกรรมเครื่องบินเช่าเหมาลำจากสายการบินแอร์อินเดียตกในบริเวณทะเลจีนใต้ห่างจากรัฐซาราวักของมาเลเซียบนเกาะบอร์เนียวไปไม่ไกล โดยเป้าหมายของระเบิดคราวนั้นคือนายกรัฐมนตรีโจว แต่กระนั้น เขาก็ยังคงตั้งใจเดินทางไปประชุมตามกำหนดการ จากการสืบสวนสอบสวนภายหลังพบว่าผู้อยู่เบื้องหลังการติดตั้งระเบิดไว้ที่ล้อเครื่องบินได้แก่ฝ่ายตรงข้ามพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั่นเอง

     ตลอดระยะเวลา 7 วันของการประชุม บทบาทของนายกรัฐมนตรีโจวในการประชุมบันดุงมีความน่าสนใจสูงมากสำหรับโลกตะวันตก เนื่องจากระยะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพิ่งก่อตั้งประเทศได้ไม่นานนัก และนั่นหมายถึงการขยายตัวอย่างกว้างขวางของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในการเมืองโลก รวมถึงความมั่นคงในช่องแคบไต้หวันและการอ้างสิทธิในสมาชิกภาพของคณะมนตรีความมั่นคงในองค์การสหประชาชาติที่ทำให้เกิดการเผชิญหน้าที่ตึงเครียดยิ่งขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ในรายงานขนาด 15 หน้ากระดาษของ Arthur Doak Barnett นักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกัน (ซึ่งภายหลัง ได้ผันตัวไปเป็นอาจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศให้กับ Columbia University และJohn Hopkins University) ที่เกาะติดการประชุมโดยตลอด ได้กล่าวถึงวิธีการซึ่งนายกรัฐมนตรีโจวรับมือกับคำถามและข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการประชุมได้อย่างชำนิชำนาญ ทำให้ผู้แทนประเทศที่เข้าร่วมการประชุมเกิดความเข้าใจและยอมรับในเจตจำนงที่จะแสดงความเป็นมิตรร่วมโลก ชนิดแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง และมีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อจีนซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของพรรคคอมมิวนิสต์ (ที่ถูกอุปโลกน์ให้เป็น “ปีศาจ” ทางการเมืองในบริบทของสงครามเย็น นอกเหนือไปจาก ลัทธิล่าอาณานิคม และ ลัทธิไซออนนิสม์) ซึ่งดูเหมือนว่านี่จะเป็น “วาระ” ที่รัฐบาลจีนต้องการ นอกจากนี้ เขายังต้องรับมือกับข้อเรียกร้อง “แบบทวิภาคี” จากหลายประเทศที่ต้องการให้จีนจัดการกับปัญหาที่มีต่อกันโดยตรง ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายของการประชุม เช่นการสนองตอบต่อข้อวิตกกังวลของรัฐบาลไทยที่มีต่อความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนจีนโพ้นทะเลที่ยังมีสถานะสองสัญชาติ และผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามจำนวนมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย การจะไม่ปล่อยให้มีผู้ฉกฉวยใช้ประโยชน์เขตปกครองพิเศษสิบสองปันนา ในมณฑลยูนนานเพื่อการต่อต้านรัฐบาลไทย และการชี้แจงสถานะการลี้ภัยของนายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรีต่อผู้แทนฝ่ายไทย ตลอดจนการสื่อสารในที่สาธารณะซึ่งประกอบด้วยพยานที่เป็นผู้นำนานาประเทศไปยังสหรัฐอเมริกาว่าจีนไม่ต้องการมีความขัดแย้งด้วย และหากต้องการจะพูดคุยกัน จีนก็พร้อมเสมอ การแสดงบทบาทที่จับตาจับใจนั้นกลายเป็นภาพทรงจำของเขาในสายตาชาวโลกในฐานะนักการทูตที่สำคัญคนหนึ่งของโลกสมัยใหม่

     ในปี พ.ศ. 2558 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งเดินทางเยือนอินโดนีเซียได้เข้าร่วมการฉลอง 60 ปีแห่งการประชุมบันดุง ซึ่งมีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญยิ่งคือการเดินเท้าระยะ 100 เมตร ร่วมกับประธานาธิบดีโจโค วิโดโด และอดีตประธานาธิบดีเมกาวตี สุการ์โนปุตรี (ธิดาของอดีตประธานาธิบดีสุการ์โนซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งประวัติศาสตร์) ตลอดจนผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ที่เป็นภาคีในการประชุมเมื่อครั้งกระโน้น จากโรงแรมที่จัดประชุม ไปยังหอเอกราช (Gedung Merdeka) ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นหอประวัติและศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมบันดุงนั้น และได้รับเกียรติจากเจ้าภาพให้เดินในตำแหน่งประธานของขบวน การที่ผู้นำจีนร่วมกิจกรรมนี้ สะท้อนให้เห็นว่าจีนยังคงให้ความสำคัญกับการเน้นย้ำหลักการที่ได้บรรลุกันไว้เมื่อกว่าหกทศวรรษก่อน โดยเฉพาะหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างประเทศ และการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในหมู่ประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ถึงแม้ว่าในระยะนั้นเศรษฐกิจจีนยังเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลจีนก็ยังคงวางตำแหน่งของตนเองไว้ไม่ให้ห่างจาก “เพื่อน” และ “หุ้นส่วน” จนไกลเกินไปนัก

     เรื่องน่าสนใจที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกสิบกว่าเดือนข้างหน้าคือ การประชุมบันดุงจะมีอายุยืนยาวครบ 70 ปี แต่บริบททางเศรษฐกิจการเมืองและยุทธศาสตร์ในระยะหลายปีมานี้ชวนให้คิดว่าจีนจะใช้โอกาสนี้สื่อ “สาร” ของตนเองต่อประชาคมโลกอย่างไร ในวันที่ประธานาธิบดีสีจะยังคงอยู่ในตำแหน่ง การเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐที่เข้มข้นยิ่งขึ้น การขยายตัวของการลงทุนจากจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และที่ไม่พิจารณาไม่ได้เลยได้แก่การขยายตัวของ BRICS ในปีที่ผ่านมาในฐานะพันธมิตรทางเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่นับรวมสหรัฐอเมริกาและพรรคพวกอยู่ในนั้น การเฉลิมฉลอง 7 ทศวรรษการประชุมบันดุง อาจเป็นนาฏกรรมสำคัญอีกเวทีหนึ่งในปี 2568 ที่จีนจะมีบทบาทในฐานะแนวหน้าของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียที่เร่งพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ได้ตั้งกรอบเอาไว้ใน BRI และ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ปัจจุบันยังสุดทางอยู่แค่บันดุงตลอดจนโครงการพัฒนาพื้นที่รอบข้าง (Transit-oriented Development - TOD) ซึ่งบริษัทร่วมทุน (แน่นอนว่าเกี่ยวพันกับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจจีน) ได้รับสัมปทาน ก็จะกลายเป็นอุปกรณ์ประกอบฉากที่สำคัญในการกระชับมิตรในเวทีเศรษฐกิจการเมืองโลกของจีน ไม่แน่นัก แม้ว่าจะยังไม่มีรถไฟความเร็วสูงระยะที่สองซึ่งจะยาวขึ้นอีกเป็นร้อย ๆ กิโลเมตรก็ตาม เราอาจได้เห็นภาพประธานาธิบดีสี พร้อมด้วยผู้นำนานาชาตินั่งรถไฟความเร็วสูงสายประวัติศาสตร์จากจาการ์ตาไปยังบันดุงเพื่อการนี้ นอกเหนือไปจากถ้อยคำคมคายในสุนทรพจน์และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หนุนหลังด้วยนโยบายความสัมพันธ์ที่เป็นเชิงรุกมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง

Barnett, A. D. (1955, May 4). Chou En-lai at Bandung: Chinese Communist Diplomacy at the Asian-African Conference: A Report from A. Doak Barnett. https://www.icwa.org/wp-content/uploads/2015/08/ADB-77.pdf

Central Intelligence Agency. (2000, August 30). Bandung Conference Summary. https://www.cia.gov/.../CIA-RDP80R01443R000300320012-2.pdf

Dirlik A. (2015) The Bandung legacy and the People's Republic of China in the perspective of global modernity. Inter-Asia Cultural Studies, 16(4), 615-630.

HT Correspondent. (2023, April 14). “From HT Archives: Air India Plane Crashes in Botched Assassination Bid”. Hindustan Times. https://www.hindustantimes.com/india-news/ 1955-air-india-international-flight-crash-failed-assassination-attempt-on-chinese-premier-revealed-by-declassified-diplomatic-records-airindia-kashmirprincess-1955crash-101681495959341.html

Negara S.D. and Suryadinata L.. (2018, January 4). Jakarta-Bandung High Speed Rail Project:

Little Progress, Many Challenges. ISEAS Perspective. Issue 2008 No.2. https://www.iseas.edu.sg/.../ISEAS_Perspective_2018_2@50.pdf

Sarmiento P. and Wen Z. (2019, October . How China turned tide at Bandung conference. China Daily Global. https://www.chinadaily.com.cn/global/2019-10/08/ content_37514068.htm

Sulaiman S. (2023, September 6). China, Indonesia Discuss Extending Jakarta High-Speed Railway. Reuters. https://www.reuters.com/.../china-premier-completes.../

 

  • 80