เข้าใจการพัฒนาในแบบฉบับของประเทศจีน ผ่านหนังสือ AI Super Powers ของ Kai-Fu Lee

Categories: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนมีนาคม 2567

เรื่อง เข้าใจการพัฒนาในแบบฉบับของประเทศจีน ผ่านหนังสือ AI Super Powers ของ Kai-Fu Lee

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปฐมพงศ์ มโนหาญ (อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)

“ถามว่าจีนตามหลังซิลิคอนวัลเลย์

ในเรื่องการวิจัย AI มากแค่ไหน?

ผู้ประกอบการจีนบางคนตอบขำๆ ว่า 16 ชั่วโมง

นั่นเป็นความต่างของเวลาที่แคลิฟอร์เนียกับปักกิ่ง”

     ข้อความที่ยกมาจากหนังสือของ Kai-Fu Lee สะท้อนให้เห็นความมั่นใจของผู้ประกอบการด้าน AI ชาวจีนว่าพวกเขามีศักยภาพในการพัฒนาตลาด AI พอๆ กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วสหรัฐอเมริกาเป็นฐานแห่งนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีรวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีแหล่งรวมยอดนักคิดนักประดิษฐ์ในซิลิคอนวัลเลย์

     แน่นอนว่าซิลิคอนวัลเลย์ตามประสบการณ์ของ Kai-Fu Lee คือสถานที่สุดยอดด้านนวัตกรรมและวัฒนธรรมสมัยใหม่ของการคิดค้นที่เน้นความใหม่ที่กำกับด้วยวัฒนธรรมความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินทางปัญญาตามแบบฉบับของปรัชญาเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม ทำให้เป็นสหรัฐอเมริกากลายเป็นต้นแบบในการพัฒนาซอฟท์แวร์มวลชนตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟท์หรือแอพเปิ้ล

     จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ประเทศจีนสตาร์ทเครื่องและไล่กวดสหรัฐอเมริกาคือช่วงทศวรรษ 2010 ที่เริ่มมีผู้ประกอบการสตาร์ทอัพใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์จากสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์และรวมถึงแอพพลิเคชั่นต่างๆ ถึงแม้ว่าในวัฒนธรรมตะวันตกจะด้อยค่าการ “ลอกแบบ” อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศจีนมาตั้งแต่จีนเริ่มเดินหน้าปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำให้การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ก้าวหน้าเป็นอย่างมากก็คือการผสมผสานวัฒนธรรมการเรียนรู้ของจีนกับบริบทตลาดเสรีภายในประเทศ

     วัฒนธรรมการเรียนรู้ของจีนที่ฝังใน (embedded) ชีวิตประจำวันของคนจีนมาเป็นพันๆ ปี คือการเรียนรู้แบบท่องจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบตัวอักษรที่แต่ละคำมีความหมายในตัว ทำให้นักเรียนหรือผู้เรียนรู้ในระบบแบบจีนต้องเริ่มต้นเรียนรู้ทุกอย่างจากการลอกแบบต้นฉบับให้เหมือนที่สุด และเมื่อจดจำลอกแบบได้จนชำนาญหลังจากนั้นก็จะเกิดการต่อยอด เช่นเดียวกับจากการสตาร์ทลอกแบบเทคโนโลยี ระบบปฏิบัติการ และ แอพพลิเคชั่นต่างๆ จากตะวันตก ซึ่งวัฒนธรรมที่มีความเฉพาะเจาะจงนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับโลกตะวันตก

     ความมีลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของจีนประกอบกับบริบททางเศรษฐกิจสังคมที่มีประชากรกว่าพันล้านคนที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่มีกำลังทรัพย์มากพอจะส่งลูกเรียนในโรงเรียนดังจนสอบเข้ามหาวิทยาลัยระดับโลกเหมือนกับบรรดาอัจฉริยะในซิลิคอนวัลเลย์ ดังนั้น Kai-Fu Lee จึงนิยามว่าผู้ประกอบการจีนในยุคเริ่มต้นสตาร์ทอัพด้านปัญญาประดิษฐ์คือ “นักสู้ข้างถนน” ราวกับนักรบ “กลาดิเอเตอร์” ที่พร้อมจะใช้กลยุทธ์ทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด

     “กลาดิเอเตอร์” ในมุมมองของ Kai-Fu Lee คือความสัมพันธ์ของผู้ประกอบการจีนในตลาดที่มีผู้เล่นมากราย ถึงแม้ว่าบรรดา “กลาดิเอเตอร์” จะเริ่มต้นจากการลอกแบบจนผลิตสินค้าทำเหมือนได้ในระยะแรก แต่สินค้าดังกล่าวก็สามารถถูกลอกแบบและผลิตออกขายสู่ตลาดด้วย “กลาดิเอเตอร์” คนอื่นๆ อีกเป็นร้อยๆ พันๆ คนในตลาด สถานการณ์ลักษณะนี้จึงบีบบังคับให้ผู้ประกอบการจีนต้องดิ้นรนให้ชนะการแข่งขันด้วยการต่อยอดจากต้นแบบไปเป็นสิ่งใหม่ที่สอดรับกับวิถีชีวิตลูกค้าในวัฒนธรรมจีนให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยในเรื่องการทำธุรกรรมออนไลน์ เช่น การซื้อสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่นโดยที่ระบบจะไม่จ่ายเงินให้กับผู้ขายทันทีเพื่อป้องกันการโกง เป็นต้น นวัตกรรมเหล่านี้ช่วยดึงดูดให้ผู้คนจำนวนมหาศาลเข้าร่วมและผูกวิถีชีวิตประจำวันของตัวเองเข้ากับระบบปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์แบบดีพเลิร์นนิ่ง (deep learning) ที่จะเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ด้วยการประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล

     ข้อแตกต่างที่ถือเป็นส่วนส่งเสริมสำคัญให้การพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ของประเทศจีนก้าวกระโดดแทบจะไล่กวดสหรัฐอเมริกาก็คือข้อมูลจำนวนมหาศาลอันเป็นฐานให้เกิดการพัฒนาระบบวิเคราะห์ของ AI มาตลอดตั้งแต่ทศวรรษ 2010 นอกจากนั้น Kai-Fu Lee ยังได้สรุปปัจจัยเพื่ออธิบายว่าทำไมจีนถึงก้าวกระโดดเป็นอย่างมากภายใต้เงื่อนไขปัจจัย 4 ประการ คือ 1. ข้อมูลมหาศาล 2. นักธุรกิจที่กล้าลุย 3. วิศวกรซอฟต์แวร์ และ 4. รัฐบาลที่คอยสนับสนุนเป็นต้น

     ในความคิดเห็นของผมที่มีต่อหนังสือเล่มนี้ของ Kai-Fu Lee ถือว่าหนังสือเล่มนี้เป็นอีกชุดคำอธิบายหนึ่งที่ทำให้เราได้รู้จักลักษณะเฉพาะของประเทศจีนในบทบาทผู้นำทั้งทางเศรษฐกิจและปัญญาประดิษฐ์ว่ามีบริบทที่ต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากโลกตะวันตก พวกเขาได้สร้างสรรค์ความก้าวหน้าจากบรรดาผู้ประกอบการ “กลาดิเอเตอร์” ที่ทั้งต่อสู้กันเองในประเทศ และ บนเวทีนานาชาติ

ข้อมูลอ้างอิง

Kai-Fu Lee. (2561). AI SUPER POWER #จีน #อเมริกา #มหาอำนาจ #Technology #เงินตรา #อนาคต. สำนักพิมพ์บิงโก กรุงเทพฯ. หน้า 171

  • 54