มองคติความเชื่อผ่านตำนาน “ซ้าย-ขวา”

Categories: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนเมษายน 2567

เรื่อง มองคติความเชื่อผ่านตำนาน “ซ้าย-ขวา”

โดย อาจารย์ณัฐสรัญ ลักษณะปีติ (อาจารย์ประจำสำนักวิชาจีนวิทยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)

“หนึ่งเครื่องผูกลูกสะกดตะกรุดคาด   เข้าไสยาสน์ยามหลับทับฉลาย

เครื่องอาวุธสุดท้ายอย่าอย่าข้ามกราย    อย่านอนซ้ายสตรีมักมีภัย”

     กลอนท่อนดังกล่าวเป็นผลงานของสุนทรภู่ โดยปรากฏในสุภาษิตคำสอนเรื่อง สวัสดิรักษา ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ “หญิงซ้าย ชายขวา” โดยห้ามมิให้สตรีเพศนอนหนุนแขนขวาของผู้ชาย อุไร คำมีภา (ม.ป.ป.) กล่าวว่า การที่เกิดความเชื่อ “หญิงซ้าย ชายขวา” ถือเป็นการตักเตือนให้ผู้ชายรักษาสุขภาพของตน เพื่อที่จะใช้มือข้างที่ถนัดทำงานในวันรุ่งขึ้น หากมีสตรีนอนหนุนแขนขวา ผู้ชายอาจทำงานได้ไม่เต็มที่นัก ความเชื่อเรื่องของตำแหน่ง “ซ้าย-ขวา” ใช่ว่าจะมีปรากฏแค่ในวรรณกรรมไทยเท่านั้น จีนเองก็มีความเชื่อคล้ายคลึงกัน

     ทว่าชาวจีนในอดีตมีความเชื่อที่ว่า “ชายซ้าย หญิงขวา” (男左女右) ซึ่งตำแหน่งนั้นกลับต่างจากความเชื่อของชาวไทย สมุดบันทึกตำนาน “อู่ ยฺวิ้น ลี่ เหนียน จี้” (五运历年记) ระบุว่า ทั้งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ล้วนมาจากดวงตาของผานกู่ (盘古) ซึ่งหลังจากที่ผานกู่ล้มจากไป ตาซ้ายเกิดเป็นดวงอาทิตย์ มีเทพฝูซี (伏羲) เป็นภาพตัวแทน ส่วนตาซ้าย คือ พระจันทร์ มีนฺหวี่วา (女娲) เป็นภาพตัวแทน สุดท้ายทั้งสองข้างเกิดเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงเพศ และเป็นต้น

กำเนิดของความเชื่อที่ว่า “ชายซ้าย หญิงขวา”

     เรายังสามารถนำความเชื่อ “ชายซ้าย หญิงขวา” มาผูกโยงกับแนวคิดทางปรัชญาของจีนได้อีกด้วย ตามหลักศาสตร์ของหยินหยางแล้ว สรรพสิ่งบนโลกใบนี้มีขนาดและตำแหน่งที่ต่างกัน โดยความใหญ่ ความยาว ข้างบน และด้านซ้ายถือเป็น “หยาง” ส่วนความเล็ก ความสั้น ข้างล่าง และด้านขวาถือเป็น “หยิน” “หยาง” เป็นสัญลักษณ์ของชายชาตรี มีความแข็งแกร่ง ส่วน “หยิน” เป็นสัญลักษณ์ของสตรีเพศ แสดงถึงความอ่อนโยน จะเห็นได้ว่า สีขาวที่อยู่ในภาพหยินหยางนั้นมักอยู่ด้านซ้ายของผู้มองเสมอ แต่เนื่องจากบางคนต้องการนำภาพหยินหยางไปตกแต่งตามที่ต่าง ๆ จึงสลับตำแหน่งซ้ายขวานั่นเอง ทั้งนี้ ในศาสตร์ของแพทย์แผนจีนยังมีความเชื่อที่ว่า การแมะชีพจรคนไข้ที่เป็นผู้ชาย ต้องแมะที่แขนข้างซ้ายของคนไข้ ในทางกลับกัน ผู้หญิงก็จะใช้ข้างขวา

     ส่วนเรื่องการปลูกเรือนของชาวจีนในอดีตนั้น ก็คำนึงถึงทิศทางซ้ายและขวาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นยศถาบรรดาศักดิ์ใดก็ตาม ที่เห็นได้ชัด คือ ตำแหน่งการปลูกอาคารในพระราชวังกู้กง ตามที่คอลัมน์ "ชีพจรจีน" ของอาจารย์ Yunke Zhai (2024) เคยกล่าวไว้ว่า เรื่องที่สำคัญสำหรับการปกครองประเทศนั้นมีอยู่สองอย่าง คือ การสักการะบูชาและกองกำลังทางทหาร แน่นอนว่า ตำแหน่งสถานที่ในพระราชวังกู้กงนั้นสำคัญมาก การสร้างสิ่งก่อสร้างก็คำนึงถึงวลี “จั๋วจู่ โยว่เซ่อ” (左祖右社) กล่าวคือ “จั๋วจู่左祖” หมายถึงตำแหน่งด้านซ้ายมือของพระตำหนัก มีการสร้างสถานที่ที่ให้โอรสสวรรค์มาเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ส่วน “โยว่เซ่อ 右社” คือ สถานที่ด้านขวาของพระตำหนัก มีชื่อว่า “เซ่อจี้ถาน 社稷坛” มีไว้ให้ฮ่องเต้มาบูชาเทพแห่งธรณีและเทพเจ้าแห่งการเก็บเกี่ยว ซึ่งนี้แสดงให้เห็นถึงคุณธรรม และความกตัญญูของชาวจีนตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

     นอกจากนี้ การสวมแหวนของชาวจีนในอดีตมีความแตกต่างกัน ก็ยังสื่อความหมายที่ไม่เหมือนกันด้วย การสวมแหวนนั้น ผู้ชายต้องสวมด้านซ้าย ส่วนผู้หญิงต้องด้านขวา ทั้งนี้ แหวนที่ใส่แต่ละนิ้วมือก็ยังสื่อความหมายที่ต่างกัน เช่น การใส่แหวนที่นิ้วชี้ คือ การขอเรื่องของความรัก ใส่นิ้วกลาง หมายถึง กำลังอินเลิฟคนอื่นอยู่ ใส่ที่นิ้วนาง หมายถึง แต่งงานแล้ว ส่วนที่นิ้วก้อย แปลว่า กำลังโสดอยู่ แต่ปกติแล้ว ผู้หญิงจะไม่ใส่แหวนที่นิ้วชี้กัน คราวนี้คงตรวจสอบได้ยากเลยว่า ผู้หญิงคนไหนยังไม่มีหวานใจ

     ยังมีเรื่องราวซ้าย ๆ ขวา ๆ อีกมากมายที่ผู้เขียนไม่ได้เขียนลงมา เช่น ปกเสื้อชุดจีนในอดีต (左衽右衽) การวางผังเมืองในอดีต ภาพที่ใช้สำหรับจดทะเบียนสมรส การทายเพศของทารกจากเต้านม เป็นต้น ซึ่งเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงวัฒนธรรมความเชื่อแต่เดิม อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงแล้วก็เป็นได้

ข้อมูลอ้างอิง

“男左女右”的来龙去脉 (eds.). (2015). 2015年07月(上)民俗非遗研讨会论文集.《神州民俗》杂志社.

อุไร คำมีภา. (ม.ป.ป.). สาระสมุดไทย : เหตุใดจึงห้ามสตรีหนุนแขนขวา. กรมศิลปากร. https://www.finearts.go.th/main/view/18232 -สาระสมุดไทย---เหตุใดจึ่งห้ามสตรีหนุนแขนขวา

Zhai, Y.K. (2024, February 29). 青铜器的分类 ประเภทของเครื่องทองสำริด. คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567. https://www.facebook.com/photo/?fbid=887998583121871&set=pb.100057352124535.-2207520000

  • 142