การสอนภาษาจีนรูปแบบเดิมเหมาะสมกับผู้เรียนยุคใหม่หรือไม่

Categories: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนกรกฎาคม 2567

เรื่อง การสอนภาษาจีนรูปแบบเดิมเหมาะสมกับผู้เรียนยุคใหม่หรือไม่

โดย อาจารย์ ดร.ปณีญา กระฎุมพร (อาจารย์ประจำสำนักวิชาจีนวิทยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)

     การสอนภาษาจีนในรูปแบบเดิม ๆ ที่เน้นการท่องจำเนื้อหา การอ่านและการเขียน โดยเน้นผู้สอนเป็นหลัก ซึ่งวิธีการนี้อาจไม่สามารถตอบสนองกับการเรียนสมัยใหม่หรือเหมาะสมกับผู้เรียนยุคใหม่ได้อีกต่อไป เพราะในปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีช่วยสอนสามารถเสริมสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนได้เป็นอย่างมาก หากคุณคือผู้ที่อยากพัฒนาตัวเองในด้านการสอนและการออกแบบกิจกรรม วันนี้เรามีโปรแกรมและหลักการของการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ Gamification มานำเสนอให้กับผู้สอนทุกท่าน แม้ว่าผู้สอนหลายท่านอาจรู้จักการใช้เกมในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้และเชื่อว่าสามารถพัฒนาผู้เรียนได้ แต่อาจจะใช้ได้แค่ช่วงเวลาที่ทำกิจกรรมเท่านั้น เราจึงขอเสนอการนำหลักการของ Gamification มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการเรียนการสอน เพื่อสร้างแรงจูงใจและเพิ่มความสนุกสนานในชั้นเรียนการสอนภาษาจีน

     รูปแบบการจัดการเรียนรู้ Gamification คือ การนำหลักการและกลไกของเกมมาใช้ในบริบทที่ไม่ใช่เกม เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจและมีแรงจูงใจมากขึ้น การตั้งเป้าหมายและมอบรางวัลเป็นแรงจูงใจที่สำคัญ ผู้เรียนสามารถได้รับรางวัลเมื่อทำภารกิจสำเร็จ เช่น การผ่านด่านเกม การผจญภัย การสะสมคะแนน ซึ่งคล้ายกับการสะสมคะแนนจากการบริโภคสินค้าในท้องตลาดที่เราเห็นในร้านค้าสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้า โดยการจูงใจลูกค้าด้วยการสะสมแต้มคะแนนแลกของรางวัล ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำเพื่อต้องการสะสมแต้ม เช่นเดียวกันกับคาบเรียน ผู้สอนชี้แจงกับผู้เรียนว่ารายวิชาภาษาจีนนี้จะมีการสะสมการเข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียน หรือการทำงานเป็นกลุ่มเพื่อให้มีการสะสมคะแนน จะช่วยกระตุ้นผู้เรียนได้ตลอดเวลา ทำให้ผู้เรียนจดจ่อกับการเรียนภาษาจีน การเข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียนมากขึ้น

     ขอแนะนำโปรแกรมในการสะสมและติดตามคะแนน โปรแกรมเกมที่ใช้ในการออกแบบกิจกรรม ซึ่งมีความท้าทายกับผู้เรียนมากขึ้น โดยทั้งสองส่วนนี้จะเป็นการนำเสนอโปรแกรมสำเร็จรูป ที่ใช้ง่าย และเหมาะกับผู้สอนที่ต้องการประหยัดเวลาในการจัดเตรียม ดังนี้

โปรแกรมที่ใช้ในการสะสมและติดตามคะแนน

Line Reward card

ฟังก์ชันที่ใช้ในการแจกแต้มสะสมจากร้านค้า เพื่อดึงดูดผู้บริโภคในการซื้อสินค้า ซึ่งผู้สอนสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการสะสมคะแนนในชั้นเรียนได้ หากผู้เรียนไม่มีอุปกรณ์สื่อสาร ผู้สอนสามารถใช้รูปแบบของกระดาษในการปั๊มตราสะสมคะแนนทดแทนได้

ClassDojo

โปรแกรมที่ถูกออกแบบมาสําหรับผู้สอน เพื่อใช้ในการจัดชั้นเรียน มอบหมายงาน และติดตามคะแนน

ClassPoint

โปรแกรมที่นำมาใช้เพื่อการสอนแบบโต้ตอบ สามารถใช้ได้กับ PowerPoint Presentation ของบทเรียนต่าง ๆ โดยที่เราสามารถเปลี่ยนห้องเรียนธรรมดาให้กลายเป็นเวทีเกมเพิ่มระดับและรับเหรียญตราได้

โปรแกรมเกมที่ใช้ในการออกแบบกิจกรรม

Genially

เครื่องมือในการสร้างสื่อการสอน โดยใช้หลักการของ Gamification ในการสร้างบทเรียน ทำให้มีการเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้เรียนได้

QuizWhizzer

โปรแกรมในการออกแบบกิจกรรมในรูปแบบของบอร์ดเกม ผู้เรียนสามารถคิด วิเคราะห์ข้อคำถามร่วมกันเพื่อตอบคำถาม และเดินทางจากจุดเริ่มต้นไปยังเส้นชัย ซึ่งโปรแกรมนี้ จะต้องมีความท้าทาย เป็นการออกแบบกิจกรรมเชิงผจญภัย โดยให้ผู้เรียนได้คิด วิเคราะห์ร่วมกัน และกำหนดเพิ่มระดับความยากของข้อคำถามได้

     การนำ Gamification มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาจีนไม่เพียงแต่ทำให้การเรียนมีความสนุกสนานและน่าสนใจมากขึ้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างทักษะภาษาจีนในแบบที่เป็นธรรมชาติและมีประสิทธิภาพอีกด้วย การใช้เทคโนโลยีและโปรแกรมที่หลากหลายสามารถช่วยให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสะสมคะแนนหรือการใช้โปรแกรมสร้างสื่อการสอน ซึ่งประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนที่เคยใช้ Gamification ในการจัดการเรียนการสอน พบว่าผู้เรียนมีความสนใจและตื่นตัวตลอดทั้งคาบเรียน พร้อมที่จะตอบคำถามหรือเข้าร่วมกิจกรรม ทำให้ผู้เรียนมีความกล้าในการพูดภาษาจีนมากขึ้น ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าการใช้ Gamification เป็นแนวทางที่ควรพิจารณาในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทย

รายการอ้างอิง

Boonlue, S. (2017, August) การบริหารจัดการห้องเรียนในศตวรรษที่ 21. https://apdi.kbu.ac.th/Research%20database/APDI%20km/ 1Classdojo.pdf

Keng, M. (2022, November 10). วิธีการสร้างบอร์ดเกมผ่าน Quizwhizzer. https://new.inskru.com/idea/-Mo70cBYquOk9j7dmFzu/

Mindphp. (2023, June 30). Genially ออกแบบสื่อการนำเสนอแบบขั้นเทพ. https://www.mindphp.com/บทความ/web-app-graphic/8921-genially.html

Wanasek, S. (2024, February 08). วิธีเริ่มต้นใช้งาน ClassPoint. https://www.classpoint.io/blog/th/วิธีเริ่มต้นใช้งาน-classpoint

  • 87