“Double First-Class Initiative” เมื่ออุดมศึกษาจีนจะก้าวนำโลกด้วยอัตลักษณ์แห่งตน

หมวดหมู่ข่าว: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนมีนาคม

เรื่อง “Double First-Class Initiative” เมื่ออุดมศึกษาจีนจะก้าวนำโลกด้วยอัตลักษณ์แห่งตน

โดย อาจารย์ฉัตกฤษ รื่นจิตต์

      แม้ว่าการศึกษาของไทยเรายังคงมองหาแนวทางปฏิรูปกันอยู่เป็นเนืองนิจ ด้วยวิธีการที่หลากหลายจากแนวทางการศึกษาชั้นนำจากทั่วโลก แต่ดูเหมือนการศึกษาของไทยก็ยังคง “เกาไม่ถูกที่คัน” และ “ยิ่งเกายิ่งคัน” นักการศึกษาทั่วประเทศต่างก็ยังคงหาแสงสว่างจากปลายอุโมงค์ของการศึกษาไทยไม่พบ หลายครั้งที่พวกเราพยายามจะแสวงหาหลอดไฟชั้นนำที่สร้างขึ้นเทคโนโลยีระดับโลกมาใช้ แต่บางครั้งเราอาจลืมไปว่า หลอดไฟเหล่านั้นไม่อาจใช้ได้ ในเมื่ออุโมงค์ของเรานั้นไม่มีไฟฟ้า แล้วเหตุใดเราจึงไม่พยายามจุดไฟด้วยตนเองกันเล่า แม้ความพยายามนั้นจะเหนื่อยและอาจใช้เวลานานแสนนาน ทว่าในระยะยาวก็อาจคุ้มค่ากว่าหรือไม่

         และสิ่งนี้คือสิ่งที่ประเทศจีนกำลังพยายามแสดงให้โลกเห็น นั่นคือการแสวงหาศักยภาพแห่งตน จุดเด่นที่ตนมี แล้วแก้ปัญหาให้ถูกจุด เพื่อการพัฒนาที่มั่นคง ยั่งยืนและเหมาะสมกับภูมิหลังของประเทศ จีนเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาอย่างมาก ดังเช่นในปีพุทธศักราช 2563 ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก รัฐบาลจีนก็ยังทุ่มงบประมาณกว่า 4.7  แสนล้านหยวนให้แก่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลจีนทุ่มเทให้ไม่น้อยคือการศึกษาระดับอุดมศึกษา โครงการหนึ่งที่รัฐบาลจีนได้ดำเนินการอย่างจริงจังนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 (ค.ศ.2016) เป็นต้นมา คือ โครงการ “Double First-Class Initiative” หรือ “สองความเป็นเลิศ” (双一流ซวง อีหลิวซึ่งดำเนินการตามนโยบายที่สภารัฐกิจแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศต่อสาธารณชนในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 โดยมุ่งพัฒนา “มหาวิทยาลัยชั้นนำ” และ “ศาสตร์ความรู้ชั้นนำ” ศาสตราจารย์หลี่ จื้อหมิน สรุปเป็นประโยคสั้นๆ ว่า แนวคิดนี้ต้องการพัฒนา “มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกซึ่งคงลักษณะเด่นของจีนและสาขาวิชาชั้นนำของจีนที่ได้มาตรฐานระดับโลก” โครงการนี้มีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมคือ ภายในปี พ.ศ.2563 ต้องมีมหาวิทยาลัยจีนและศาสตร์ความรู้จำนวนหนึ่งเข้าสู่การจัดอันดับของโลกมากขึ้น และมากขึ้นอีกในปี พ.ศ. 2663

        การพยายามก้าวสู่การเป็นผู้นำของโลกในเรื่องวิชาการไม่ใช่เรื่องแปลก ทว่าสิ่งที่แตกต่างออกไปคือ “ความเป็นจีน” ซึ่งแฝงอยู่ในทุกย่างก้าวของการพัฒนา เฉกเช่นเดียวกับนโยบาย Made in China 2025 ที่กำลังเป็นที่สนใจขณะนี้ หากย้อนกลับมาถามว่า อะไรคือ “ความเป็นไทย” ในการพัฒนาการศึกษาไทย หลายคนคงต้องใช้เวลาขบคิดอยู่นาน ทว่าเมื่อถามว่า อะไรคือ “ความเป็นจีน” คำตอบกลับเด่นชัด ศาสตราจารย์หลี่ เจียจวิ้น เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำมหาวิทยาลัยเทียนจิน อธิบายว่าความเป็นจีนนั้นแสดงออกได้ 4 ประการ คือ การคงอุดมการณ์ของสังคมนิยมและนโยบายการศึกษาของพรรคคอมมิวนิสต์ การส่งเสริมการศึกษาการเมืองกับอุดมการณ์และการส่งเสริมค่านิยมที่ดีงาม โดยผสมผสานระหว่างการรับใช้ประชาชนและการแสวงหาอุดมการณ์ในชีวิต การสร้างคนที่มีความสามารถ การสร้างสรรค์นวัตกรรมพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และสุดท้ายคือการใช้แนวคิดสังคมนิยมเพื่อสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามในอุดมศึกษาและสร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดีบนพื้นฐานของความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมจีน ในขณะที่ศาสตราจารย์หลี่ จื้อหมินแสดงจุดยืนทางการศึกษาในแนวคิด Double First-Class Initiative ว่า มิใช่เพียงการใส่ใจการจัดอันดับสาขาวิชาจำนวนหยิบมือหรือปริมาณงานตีพิมพ์ทางวิชาการ แต่คือการยกระดับการผลิตคนที่มีความสามารถ สิ่งเหล่านี้คือจุดที่จีนยึดมั่นในการศึกษา คือการเน้นย้ำความสำคัญของการผลิตคนเหนือสิ่งอื่นใด บนพื้นฐานอุดมการณ์สังคมนิยมที่เน้นการรับใช้สังคมเป็นพันธกิจหลักของการศึกษา

        ในการดำเนินงานโครงการ Double First-Class Initiative ระยะที่หนึ่ง พ.ศ. 2559-2563 (ค.ศ.2016-2020) มีมหาวิทยาลัยที่ผ่านการคัดเลือกอยู่ในโครงการ 42 แห่ง สถาบันอุดมศึกษา 140 แห่ง และสาขาวิชาเฉพาะอีก 465 สาขาวิชา การดำเนินงานระยะที่ 1 เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อ พ.ศ. 2563 มหาวิทยาลัยบางแห่งมีผลงานที่น่าจับตามอง เช่น มหาวิทยาลัยชิงหัว ได้รับการประเมินว่า “เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่างเต็มตัว” มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ได้รับการประเมินว่า “บรรลุวัตถุประสงค์และภารกิจของโครงการ Double First-Class Initiative ทุกด้านอย่างมีคุณภาพ” ในขณะที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ได้รับผลการประเมินว่า “บรรลุเป้าหมายระยะสั้นของโครงการ Double First-Class Initiative รอบด้าน” มหาวิทยาลัยบางแห่งที่เราชาวไทยอาจนึกถึงรองลงมา เช่น มหาวิทยาลัยตงหนาน ได้รับการประเมินว่า “บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ Double First-Class Initiative ใน ค.ศ. 2016-2020 อย่างสมบูรณ์ด้วยคุณภาพระดับสูง บางสาขาวิชาก้าวสู่การจัดลำดับอันดับต้นในระดับโลก”ผลการประเมินในโครงการ Double First-Class Initiative นี้ช่วยสร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยได้อย่างมาก นักเรียนชาวจีนได้ใช้ข้อมูลนี้มาเป็นหนึ่งในมาตรฐานการคัดเลือกมหาวิทยาลัยที่ตนต้องการสอบเข้า และสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่วงวิชาการทั่วโลก

        ขณะนี้ทั่วประเทศต่างก็จับตามองว่า โครงการระยะที่สองจะเป็นเช่นไร จะมีมหาวิทยาลัยใดและสาขาวิชาใดเข้าร่วมและหายไปจากโครงการนี้บ้าง ซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลต่อชื่อเสียงและงบประมาณที่มหาวิทยาลัยจะได้รับ เราชาวไทยเองก็อาจศึกษาโครงการนี้ไว้เป็นแนวทางการในการพัฒนาการศึกษาของชาติ ให้พัฒนาสู่ระดับโลกโดยไม่ละทิ้งรากฐานความเป็นไทย ไม่แน่ว่า ไฟที่เราคิดค้นด้วยตนเองเพื่อให้แสงสว่างออกจากอุโมงค์ อาจเป็นไฟที่สว่างได้ยาวนานที่สุด และอาจเป็นนวัตกรรมชิ้นใหม่ของโลกก็เป็นได้  


อ้างอิง

 佚名.(2020). [Website]. 教育部2020 年部门预算. 中国人民共和国教育部政府门户网站.

      www.moe.gov.cn › W020200611521985701626. (2021.3.15)。

 李志民. (2018). 聚焦“双一流”:中国立高等教育强国还有多远?北京:清华大学出版社。

     第1页。

 佚名. (2018). “双一流”建设必须有中国特色。新华网.http://www.xinhuanet.com/politics/2018-03/11/c_1122518581.htm. (2021.3.15)。

 李志民. (2018). 聚焦“双一流”:中国立高等教育强国还有多远?北京:清华大学出版社。

     第7页。

 佚名. (2020).首轮“双一流”建设成果如何?26所985高校自评报告出炉 .

     www.sohu.com/a/420157447_260616. (2021.3.17)。

 |   |  894 ครั้ง