คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือน กันยายน
เรื่อง “Education Diplomacy”: การทูตทางการศึกษาผ่านการเรียนการสอน “ภาษาจีน” สู่การพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-จีนในศตวรรษที่ 21
โดย อาจารย์ ดร.พรภวิษย์ หล้าพีระกุล
การทูตทางการศึกษา “Education Diplomacy”
การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ไม่มีวันสิ้นสุด ทุกคนต้องเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวันลาจากโลกนี้ เฉกเช่นเดียวกับการศึกษาที่ได้ทำให้มนุษย์ได้เรียนรู้และพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เกิดการหล่อหลอมและสั่งสมความรู้ตั้งแต่มนุษย์แรกเกิดจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต การศึกษาจึงมีความสำคัญกับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้น ทุกสังคมในทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งจะเห็นได้ว่าการศึกษามีบทบาทสำคัญในทุกด้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากย้อนกลับมาดูในมุมมองของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ “การศึกษา” นั้นมีประโยชน์และมีความสำคัญอย่างไร การศึกษาช่วยเพิ่มอำนาจทางความคิดและสร้างผลกระทบต่อประเทศหรือระหว่างประเทศได้อย่างไร และการศึกษากลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อย่างไร
การศึกษาถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการสืบทอดและสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจของมนุษย์ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ นอกจากนี้การศึกษายังเป็นเครื่องมือสำคัญในการชักจูงหรือหล่อหลอมให้มนุษย์คนหนึ่งหรือสังคมหนึ่งรู้และเชื่อในสิ่งนั้น ๆ หรือจะเรียกได้ว่า “การเรียนรู้” ผ่านการศึกษา และในโลกยุคโลกาภิวัฒน์นี้ การศึกษาจึงเปรียบได้กับเครื่องมือเชื่อมโยงมนุษย์ สังคมและโลกเข้าด้วยกัน ดังนั้นบริบทของการศึกษาในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจึงไม่ใช่เรื่องใหม่และแปลกแต่อย่างใด โดยแวดวงของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เรียกบทบาทของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการศึกษานี้ว่า“การทูตทางการศึกษา” (Education Diplomacy) กล่าวคือ การใช้การศึกษาไม่ว่าจะเป็นในขอบเขตของการศึกษาทางด้านภาษา วัฒนธรรม สังคม การเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยีหรือการศึกษาอื่น ๆ และแลกเปลี่ยนระหว่างกัน อีกทั้งยังเป็นการสอดแทรกและปลูกฝังค่านิยมหรือความรู้ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการกระจาย “อำนาจอ่อน” (Soft Power) นั่นเอง และหนึ่งในประเทศที่ใช้ “การทูตทางการศึกษา” ได้อย่างประสบความสำเร็จคือประเทศจีน ที่ได้ดำเนินการนโยบายอำนาจอ่อนผ่านกระกวนการการทูตทางการศึกษาผ่านสถาบันขงจื่อ โดยผ่านการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนและเผยแพร่วัฒนธรรมจีนใน นานาประเทศทั่วโลกตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21
นโยบายอำนาจอ่อนของจีนผ่าน “การทูตทางการศึกษา” และการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีน
อย่างที่ทราบกันดี ประเทศจีนนั้นใช้นโยบายอำนาจอ่อนมาตั้งแต่สมัยก่อนก่อตั้งประเทศจีนใหม่ เพื่อสร้างและปลุกปั่นค่านิยมความคิดของการรักชาติให้แก่ประชาชนชาวจีนและสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์จีน อีกทั้งใช้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าจีนที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์นั้นมีความรักชาติ ทำทุกอย่างเพื่อประชาชนและเป็นตัวแทนของประชาชนจีนทุกคน เพื่อมุ่งแสวงหาความสงบสุข เท่าเทียมและเป็นหนึ่งอันเดียวกัน โดยกลยุทธ์ต่าง ๆ ถูกวางไว้อย่างแยบยลและเป็นกลยุทธ์ที่เคยถูกใช้โดยชาติตะวันตก นั่นคือการใช้สื่อเป็นเครื่องมือ โดยอาศัย“การโฆษณาชวนเชื่อ” ผ่านทางสื่อวิทยุกระจายเสียง หนังสือพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ การเผยแพร่บทความต่างๆผ่านตัวหนังสือ รวมถึงการเดินขบวนของประชาชนชาวจีนผู้รักชาติและภักดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งได้ทำให้ภาพลักษณ์ของจีนทั้งในและต่างประเทศนั้นดีขึ้น
รัฐบาลจีนได้ตระหนักแล้วว่าการใช้สื่อนั้นมีความสำคัญอย่างมากในการสร้างชาติและการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของจีนทั้งต่อตนเองและในระดับนานาชาติ การใช้สื่อในการ “ชวนเชื่อ” นั้นจำเป็นที่จะต้อง “แยบยล” และเป็นที่ “ยอมรับ” โดยที่ไม่มีข้อสงสัย ดังนั้นการใช้สื่อผ่าน“การศึกษา”เพื่อเผยแพร่อำนาจอ่อนของจีนจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และสามารถก่อให้เกิดการปลูกฝังหยั่งลึกและแยบยลมากที่สุด ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงได้นำการศึกษา โดยเฉพาะ“การเรียนการสอนภาษาจีนและการเผยแพร่วัฒนธรรมจีน” มาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการดำเนินนโยบายอำนาจอ่อนกับต่างประเทศ โดยการทุ่มงบประมาณกับการจัดตั้งสถาบันขงจื่อไปทั่วโลกเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนและเผยแพร่วัฒนธรรมจีนให้แก่บุคคลที่สนใจ นอกจากนี้ยังมีการให้ทุนการศึกษาแบบให้เปล่าเพื่อให้ชาวต่างชาติได้เข้าไปศึกษาที่ประเทศจีน เพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หล่อหลอม ปลูกฝังความรู้ แนวคิดและนำกลับไปเผยแพร่ในประเทศบ้านเกิดของนักเรียนนักศึกษาเอง นอกจากนี้การจัดตั้งสถาบันขงจื่อภายใต้นโยบายอำนาจของจีนยังเป็นการส่งออก “ทุนมนุษย์” (Human Capital) กล่าวคือ ครูอาสาสมัครชาวจีนที่คล้ายจะเป็น “สายลับ” ทางวัฒนธรรมที่แยบยล โดยมีเป้าประสงค์ในการศึกษาข้อมูล วิจัย เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกดำเนินการภายใต้ความยินยอมพร้อมใจกันระหว่างจีนกับนานาประเทศภายใต้แนวคิด “การทูตทางการศึกษา”
การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนผ่าน “การทูตการศึกษา” ในบริบทการเรียนการสอนภาษาจีน
ดังคำกล่าวที่ว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” (中泰一家亲)ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่าไทยกับจีนนั้นเป็นมิตรสหายที่ดีต่อกันตั้งแต่อดีตจีนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ในบางครั้งจะมีความคิดเห็นหรือการดำเนินนโยบายที่ขัดแย้งต่อกันก็ตาม แต่ไทยกับจีนก็มิเคยเกิดความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างกัน แต่กลับใช้วิธีการถ้อยทีถ้อยอาศัยดัง“น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” ต่อกันตลอดมา นอกจากนี้ เนื่องด้วยสภาพสังคม การหล่อหลอมทางวัฒนธรรมระหว่างชาวไทยและชาวจีนโพ้นทะเลในไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการเป็นชาติเอเชียที่มีสังคมแบบ “กลุ่มชนนิยม” (Collectivism) ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศใกล้ชิดและมุ่งในทิศทางพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันเป็นหลัก
และด้วยความสนิทใกล้ชิดแบบ “พี่น้องกัน” นี่เองจึงได้ทำให้ไทยได้รับอิทธิพลทางความความคิดในเรื่องของวัฒนธรรม การศึกษา สังคมต่าง ๆ จากประเทศจีนเป็นอย่างมาก สิ่งนี้จึงได้ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากนโยบายอำนาจอ่อนของจีนผ่านความร่วมมือทาง “การทูตทางการศึกษา” มากที่สุด ดังจะเห็นได้จากการที่มีประเทศไทยมีสถาบันขงจื่อหลายสิบแห่งในประเทศไทย รวมถึงสถาบันวัฒนธรรมไทยจีนที่ได้ถูกก่อตั้งขึ้น อีกทั้งประเทศไทยยังมีการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนและวัฒนธรรมจีนอย่างเปิดเผย ถึงขั้นมีการบรรจุเข้าอยู่ในหลักสูตรตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัยหลายสิบแห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้ประชาชนทั่วไปและนักเรียนนักศึกษายังได้ให้ความสำคัญในการศึกษาภาษาจีนและเลือกที่จะเดินทางไปศึกษาต่อในประเทศจีนเป็นจำนวนมาก โดยในปี ค.ศ.2017 สำนักข่าวซินหัวได้มีรายงานผลการสำรวจว่ามีนักศึกษาต่างชาติชาวไทยในจีนมากเป็นอันดับ 2 รองจากเกาหลีใต้ ซึ่งการเรียนภาษาจีนดังกล่าวนั้นสามารถที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดในการทำงาน การทำธุรกิจกับคนจีนในอนาคตอย่างกว้างขวาง
การเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมจีนเหล่านี้นอกจากจะเป็นการตอบสนองในนโยบายอำนาจอ่อนของจีนแล้วนั้น ยังเป็นส่งเสริมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างประชาชนชาวไทยชาวจีนอีกด้วย อีกทั้งก่อให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ความคิด การวิจัยและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในความแตกต่างของประชาชนทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ การทูตทางการศึกษายังส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผ่าน “การศึกษา” ให้แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ อันเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในระดับเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในอนาคตให้ดีและแข็งแกร่งยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
Kuerrattikal, S. (2009). “"Soft Power" and public diplomacy in China international relations”. Retrieved from Chinese - Asian Studies: http://kositthiphon.blogspot.com/2009/01/ (January 21, 2009).
Lhapeerakul, P. (2021). “The Discussion on China’s “Soft Power” Policy in ASEAN: Thailand as a Case Study”. Journal of Liberal Arts, Rungsit University, Vol.16. No.2, pp.76-91.
Lu, S. (2018). “Study on Improving the International Influence of China's Soft Power”. The Journal of Marxism Studies, Shandong University, pp.32-38.
Murphy, Y. G. (2013). “Shaping the Concept of Education Diplomacy”. Global Campaign for Education United States from campaignforeducationusa.org/blog/detail/shaping-the-concept-of-education-diplomacy.
Nye, J. S. (2004). “Soft Power: The Means to Success in World Politics”. New York: Public Affairs.
Peterson, P. (2014). “Diplomacy and Education: A Changing Global Landscape”. New York: Public Affairs.
Wuthnow, J. (2008). “The Concept of Soft Power in China’s Strategic Discourse”. International Higher Education, no.75, spring 2014, pp.1-5.
Yang, K. (2016). “Analysis of "Chinese Soft Power" Discussion Methods”. Journal of Cultural Soft Power, Issue 03, pp.25-30.
กองโกย, ส. (2558). การทูตเพื่อการพัฒนา:แนวทางการบูรณาการระหว่างงานด้านพัฒนาและด้านการทูต สำหรับดำเนินงานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ. กรุงเทพมหานคร: กระทรวงการต่างประเทศ.