คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนกุมภาพันธ์
มนต์เสน่ห์อารามเมืองหลวง (กรุงปักกิ่ง)
โดย อาจารย์ปณีญา กระฎุมพร
หากกล่าวถึงกรุงปักกิ่ง ใครหลายคนคงนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอย่างกำแพงเมืองจีน(长城) พระราชวังต้องห้าม (故宫) จัตุรัสเทียนอันเหมิน (天安门广场) พระราชวังฤดูร้อน (颐和园) หอสักการะฟ้าเทียนถาน (天坛) สนามกีฬารังนก (鸟巢) เป็นต้น ในระยะเวลา 10 ปี (ค.ศ 2009-2019) ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปกรุงปักกิ่งมากกว่า 4 ครั้ง ครั้งล่าสุดเดินทางไปเมื่อ ปี ค.ศ. 2017 ซึ่งเป็นการไปใช้ชีวิตศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้น การกลับไปครั้งนี้เป็นการใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นนานถึง 3 ปี และแน่นอนผู้เขียนผูกพันกับกรุงปักกิ่งเป็นอย่างมาก สถานที่ท่องเที่ยวที่กล่าวมาข้างต้นก็ไปมานับครั้งไม่ถ้วน จึงมีความคิดที่อยากจะค้นหาสถานที่ ที่ไม่เคยไปเยือน และด้วยความที่ผู้เขียนเป็นบุคคลหนึ่งที่นับถือศาสนาพุทธ จึงมุ่งเป้าหมายไปที่วัดในกรุงปักกิ่ง
วัดลามะ (雍和宫) เป็นวัดที่มีชื่อเสียง และเป็นวัดที่คนไทยรู้จักกันมาก แต่ในชื่อภาษาจีนนั้นไม่ได้มีความหมายเชิงพุทธศาสนา แต่จะมีความหมายว่า พระราชวังยงเหอ ซึ่งเป็นวังขององค์ชายสี่ในสมัยราชวงศ์ชิง มีพระนามว่า กษัตริย์ยงเจิ้ง และมีการเปลี่ยนเป็นวัดของพุทธศาสนานิกายลามะ ในปี ค.ศ. 1744 จึงทำให้คนไทยเรารู้จักกันในนาม วัดลามะ นั่นเอง
วิหารว่านฝูเก๋อ (万福阁) เป็นวิหารที่หากไปเยือนแล้วต้องไปกราบไหว้ เพื่อความเป็นสิริมงคลกับผู้มาเยือน วิหารแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปพระศรีอริยเมตไตรยปางยืน ความพิเศษของพระพุทธรูปองค์นี้คือ แกะสลักด้วยไม้จันทน์หอมสีขาว สูง 26 เมตร ส่วนล่าง 8 เมตรฝังอยู่ ใต้ดิน อีก 18 เมตรอยู่เหนือพื้นดิน พระพุทธรูปทั้งองค์มีน้ำหนักประมาณ 100 ตัน
เพื่อนชาวจีนของผู้เขียนเล่าว่า หากใครจะมาอาศัยอยู่ที่กรุงปักกิ่ง จะต้องมากราบไหว้ เสมือนกับการรายงานตัวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ปกปักรักษา และคุ้มครองเราให้ปลอดภัย ค่าเข้าชมอยู่ที่ 25 หยวน จะได้รับธูป 1 กำมือ เพื่อสักการะบูชา แต่จะมีข้อห้ามก็คือ ไม่สามารถจุดธูปภายในวิหารได้
วัดกว่างจี้ปักกิ่ง (广济寺) เป็นวัดหลวงโบราณ สร้างขึ้นในปลายราชวงศ์ซ่ง เดิมชื่อวัดซีหลิวชุน (西刘村寺) ตั้งอยู่ในทิศตะวันตกของกรุงปักกิ่ง ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางของสำนักพุทธศาสนาจีนของกรุงปักกิ่ง วัดแห่งนี้เป็นวัดที่มีขนาดเล็ก และไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้ากราบไหว้บูชา จึงทำให้ได้รับความนิยมจากเหล่าประชาชนเป็นอย่างมาก
ในทุกๆวันพระจีน จะมีพุทธศาสนิกชนมากมายมาสวดมนต์ กราบไหว้บูชา และช่วงเที่ยงวันก็จะมีซาลาเปา ข้าวต้มและอื่นๆ แจกให้กับผู้มาเยือนอีกด้วย ทุกครั้งที่ผู้เขียนไปกราบไหว้ จะแวะซื้อผลไม้เพื่อบูชา ทางวัดจะจัดคนมารับผลไม้จากเรา และทุกครั้งที่รับผลไม้จากเรา เขาจะอวยพรเราทุกครั้งเสมอว่า อมิตตาพุทธ (阿弥陀佛) จากนั้นจะนำผลไม้ไปถวายบนโต๊ะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสถานที่แห่งนี้ เป็นสถานที่ที่ผู้เขียนชื่นชอบอย่างมาก
วัดพระนอนปักกิ่ง (北京卧佛寺) เป็นวัดหลวงโบราณ สร้างขึ้นในราชวงศ์ถัง เดิมชื่อวัดสือฟางผู่เจวี๋ย (十方普觉寺) ตั้งอยู่ที่สวนพฤกษชาติปักกิ่ง (北京植物园) วัดนี้มีประวัติยาวนานมากกว่า 1,300 ปี และเป็นหนึ่งในวัดที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงปักกิ่งอีกด้ว
วิหารพระนอน (卧佛殿) เป็นวิหารพระนอนที่แกะสลักด้วยไม้จันทน์หอม ซึ่งหากไปถึงแล้วเรายังสามารถขอพรให้ประสบความสำเร็จในด้านการเรียน การทำงาน ซึ่งผู้เขียนก็ไม่รอช้า ได้ขอพรเรื่องการเรียนเช่นกัน
ในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นช่วงแห่งฤดูใบไม้ผลิ จะมีดอกเหมย หรือดอกบ๊วยที่ส่งกลิ่นหอมทั่วทั้งบริเวณ และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้ชื่นชมความงดงามของดอกเหมย วัดนี้มีบรรยากาศที่สวยงามมาก หากใครต้องการไปสถานที่ที่สงบ และห่างไกลจากตัวเมือง ผู้เขียนขอแนะนำวัดพระนอนแห่งนี้ ค่าเข้าชมวัดพระนอนอยู่ที่ 5 หยวน การเดินทางต้องนั่งรถประจำทาง ประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อไปถึงสวนพฤกษชาติจะต้องใช้เวลาเดินทางเข้าไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งหากใครมีเวลาจำกัด ก็สามารถนั่งรถไฟฟ้าที่ทางสวนพฤกษชาติจัดไว้ให้ได้
พุทธสถานที่กล่าวมาข้างต้น เป็นที่ที่ผู้เขียนไปแล้วรู้สึกสบายใจทุกครั้งที่ได้ไปกราบไหว้ แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมีวัดปาต้าชู่ (八大处) วัดเจินเจวี๋ย (真觉寺) วัดต้าจง (大钟寺) และอีกหลายสถานที่เลยทีเดียว กรุงปักกิ่งเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ด้านวัฒนธรรมอย่างมาก หากใครพอมีเวลาจากการไปท่องเที่ยวตามสถานที่ที่มีชื่อเสียงแล้ว ลองมาเยือนสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเหล่านี้สักครั้งหนึ่ง เพื่อชมความสวยงามของสถาปัตยกรรมวัดจีน
เอกสารอ้างอิง
1. china.com.cn (2017). Yonghegong, Retrieved February,15,2020, from http://www.china.com.cn/v/zhuanti/yonghegong/2017-01/05/content_40045177.htm.
2. aplustravelservice.com. วัดลามะแห่งกรุงปักกิ่ง, Retrieved February,15,2020, from https://www.aplustravelservice.com/travel-knowledge/100/ข้อมูลเที่ยวจีน-วัดลามะแห่งกรุงปักกิ่ง-.html.
3. chinabuddhism.com.cn. 北京广济寺, Retrieved February,15,2020, from www.chinabuddhism.com.cn/zs/2012-03-16/635.html.
4. visitbeijing.com.cn. 北京卧佛寺, Retrieved February,15,2020, from s.visitbeijing.com.cn/html/j-117907.shtml.
5 Sohu.com.佛教寺庙朝拜攻略之北京卧佛寺, Retrieved February,15,2020, from www.sohu.com/a/60347315_383375.
[1] china.com.cn (2017). Yonghegong, Retrieved February,15,2020, from www.china.com.cn/v/zhuanti/yonghegong/2017-01/05/content_40045177.htm.
[2] aplustravelservice.com. วัดลามะแห่งกรุงปักกิ่ง, Retrieved February,15,2020, from www.aplustravelservice.com/travel-knowledge/100/ข้อมูลเที่ยวจีน-วัดลามะแห่งกรุงปักกิ่ง-.html.
3chinabuddhism.com.cn. 北京广济寺, Retrieved February,15,2020, from www.chinabuddhism.com.cn/zs/2012-03-16/635.html.
[4] visitbeijing.com.cn. 北京卧佛寺, Retrieved February,15,2020, from s.visitbeijing.com.cn/html/j-117907.shtml.