เทคโนโลยี IOT กับการพัฒนาประเทศจีน

หมวดหมู่ข่าว: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนมกราคม

เรื่อง เทคโนโลยี IOT กับการพัฒนาประเทศจีน

โดย อาจารย์ ดร.บัณฑิตา ภัทรวิชญ์กุล

 

 ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ “IOT” เป็นคำค้นหายอดนิยมสำหรับคนจีน แต่ในประเทศไทยยังคงไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนัก บทความนี้จะทำให้ทุกท่านรู้และเข้าใจความหมายของคำว่า “IOT” มากยิ่งขึ้น

 

 

       “IOT” เป็นคำเรียกย่อของคำว่า “Internet of Things” ในภาษาจีนเราเรียกว่า “物联网” หมายถึง เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อสรรพสิ่งต่าง ๆ ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน สิ่งที่เราพอจะคุ้นเคยกัน ยกตัวอย่างเช่น การจัดเก็บข้อมูลบน Cloud หรือการใช้งานแอปพลิเคชั่นในการสั่งเปิด-ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เป็นต้น

 

 

    IOT มีประโยชน์อย่างมากในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน สามารถช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต กระทั่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน นอกจากนี้ ยังเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เนื่องจากสามารถใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการบริหารจัดการต้นทุน ลดการจ้างแรงงานคน สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้แบบ Real-Time และมีความแม่นยำสูง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศจีนมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากประยุกต์ใช้ IOT ในการพัฒนาควบคู่กับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการดำเนินงานของภาครัฐ โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนที่มีชื่อเสียงในการพัฒนาระบบ IOT ได้แก่ บริษัท Huawei
       บริษัท Huawei นำเทคโนโลยี IOT มาประยุกต์ใช้งานจริงในโครงการ Smart Water การสร้างระบบน้ำประปาอัจฉริยะที่เมืองเสินเจิ้น เพื่อจัดเก็บข้อมูล วิเคราะห์คุณภาพของน้ำ เพื่อปรับปรุงระบบโครงสร้างการจ่ายน้ำ โครงการ Smart Gas การสร้างระบบติดตามการจ่ายและใช้งานก๊าซที่เมืองเสินเจิ้น และปักกิ่ง เพื่อตรวจสอบการใช้งานก๊าซของตนเอง และทำการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ โครงการ Smart Parking การใช้ Sensor ค้นหาที่จอดรถในสถานที่ต่างๆ โครงการ Smart Street Lamps การบริหารจัดการระบบไฟบนท้องถนนหรือในพื้นที่ห่างไกล โครงการ Smart Building การเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้คนในอาคาร และเพื่อประหยัดพลังงาน โครงการ Smart Home ระบบบ้านอัจฉริยะ การใช้เทคโนโลยีในการควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้าน เช่น ระบบควบคุมไฟฟ้าแสงสว่าง ระบบควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน เป็นต้น

 

 

      นอกจากนี้ ประเทศจีนยังนำเทคโนโลยี IoT มาประยุกต์ใช้งานในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและโรงงานการผลิต ซึ่งการประยุกต์ใช้งานในภาคการเกษตร จะเรียกว่า Smart farming (สมาร์ทฟาร์ม หรือเกษตรอัจฉริยะ) ในภาษาจีนเราเรียกว่า “智慧农业” เป็นรูปแบบการทำเกษตรแบบใหม่ ที่มีการใช้เทคโนโลยี หรือหุ่นยนต์ เครื่องจักรต่าง ๆ ที่มีความแม่นยำสูงเข้ามาช่วยในการทำงาน โดยให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด เน้นการทำการเกษตรให้เข้ากับสภาพพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
       ส่วนการประยุกต์ใช้งานในภาคอุตสาหกรรมและโรงงานการผลิต จะเรียกว่า Industrial Internet of Things หรือ IOT ในภาษาจีนเราเรียกว่า “工业物联网” คือ การใช้เทคโนโลยีที่มีความแม่นยำสูงเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรม มีส่วนช่วยในการผลิต ตั้งแต่การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ตลอดจนการบำรุงรักษา และเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน เนื่องจาก IOT สามารถนับจำนวนการใช้และจำนวนคงเหลือของวัตถุดิบและอะไหล่ได้อย่างแม่นยำและถูกต้อง ทำให้มีประโยชน์ในการป้องกันและลดความผิดพลาดในการบริหารจัดการคลังสินค้า
นี่คือประโยชน์จากเทคโนโลยี IOT ที่จีนนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศให้กลายเป็นผู้นำระดับต้น ๆ ของโลก

 

ที่มา

1. TechTalkThai. (2018). 18 เทคโนโลยี IoT สำหรับภาครัฐและธุรกิจที่เกิดขึ้นจริงแล้วในประเทศจีน. สืบค้นจาก https://www.techtalkthai.com/18-real-iot-use-cases-in.../. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2564

2. ขวัญชนก พุทธจันทร์. (2020). เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm). สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. สืบค้นจาก https://www.lib.ku.ac.th/.../info-deedee/1043-smart-farm. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2564

3. Krongkaew Phompanya. (2020). Internet of Things (IoT). สืบค้นจาก http://km.prd.go.th/iot-platform/. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2564

4. ศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์. (2020). เทคโนโลยี Internet of Things (IoT). สืบค้นจาก https://eiu.thaieei.com/.../%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84.../. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2564

5. กมลวรรณ วิชัยรัตน์. (2021). รู้จักเทคโนโลยี IoT ความอัจฉริยะที่หลายคนคาดไม่ถึง. สืบค้นจาก https://tonkit360.com/76959. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2564

  • 2545 ครั้ง