” (没有什么事,是一顿火锅不能解决的,如果有,那就两顿。)
จีนมีคำกล่าวนึงที่ว่า “ไม่มีเรื่องอะไรที่แก้ไขไม่ได้ด้วยหม้อไฟหนึ่งมื้อ ถ้ามี ก็คงสองมื้อ
“หม้อไฟ”หรือในภาษาจีนเรียกว่า “火锅”( หั่วกัว)ซึ่งคำว่า “火”(หั่ว) แปลว่า ไฟ ส่วนคำว่า “锅”(กัว) แปลว่า หม้อ จึงเป็นที่มาของคำว่า “หม้อไฟ”นั่นเอง
เกี่ยวกับความเป็นมาของหม้อไฟ ชาวจีนเชื่อว่าหม้อไฟมีมาตั้งแต่สมัยโบราณย้อนไปเมื่อหลายพันปีก่อน โดยมีคำกล่าวเกี่ยวกับที่มาของหม้อไฟอยู่สองแบบคือ 1.หม้อไฟมีที่มาตั้งแต่ยุคของกษัตริย์สุยหยางตี้(隋炀帝)สมัยสามก๊ก(三国时期)ซึ่งเชื่อว่า “铜鼎”(ถงติ่ง) หรือภาชนะติ่งในสมัยนั้นก็คือต้นกำเนิดของหม้อไฟในปัจจุบัน 2.หม้อไฟเริ่มปรากฎในสมัยฮั่นตะวันออก(东汉)โดยเชื่อว่าวัตถุโบราณชื่อว่า “斗”(โต่ว) ที่ถูกขุดค้นพบคือหม้อไฟในสมัยนั้น
“หม้อไฟ”ในจีนภายหลังได้มีวิวัฒนาการ เกิดเป็นความหลากหลายของประเภทและรสชาติ รวมถึงวิธีการเรียกชื่อที่แตกต่างตามแต่ละพื้นที่และแต่ละวัฒนธรรม เช่น ปักกิ่งเรียกว่า “涮羊肉”(ซ่วนหยางโย่ว)แถบเสฉวนฉงชิ่งเรียก “火锅”(หั่วกัว) พื้นที่เจียงเจ้อ(ภาคตะวันออกของจีน) เรียก “暖锅”(หน่วนกัว) กว้างตุ้งเรียก “打边炉”(ต่าเปียนหลู่) แถบหนิงเซี่ย(ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน) เรียก “锅子”(กัวจื่อ)
สำหรับในประเทศไทย เมนู “หม้อไฟ”ที่เป็นที่นิยมและรู้จักกันดีในปัจจุบันคือหม้อไฟที่มาจากพื้นที่แถบเสฉวน-ฉงชิ่ง โดยหม้อไฟจากพื้นที่นี้ยังแบ่งออกเป็นสองค่าย คือ หม้อไฟเฉิงตูที่เน้นซุปหมาล่าน้ำมันหอม 清油锅底 (รสชาติเผ็ดน้อย) และหม้อไฟซุปหมาล่าน้ำมันวัว 牛油锅底 (รสชาติเผ็ดร้อนจัดจ้าน) นอกจากนี้ พี่น้องชาวเมืองฉงชิ่งที่รักการกินหม้อไฟเป็นชีวิตจิตใจยังประดิษฐ์คิดค้นวิธีการกินหม้อไฟในรูปแบบต่างๆ เช่น หม้อไฟ1หม้อแต่แบ่งเป็น9ช่อง เรียกว่า 九宫格 (จิ่วกงเก๋อ) ซึ่งในแต่ละช่องจะให้อุณหภูมิความร้อนและความเข้มข้นของน้ำซุปที่แตกต่างกันออกไป โดยวิธีการรับประทานก็คือนำวัตถุดิบแต่ละประเภทไปต้มหรือลวกในช่องที่ต่างกัน เพื่อได้รสชาติที่ดีที่สุด และนอกจากนี้ หากคุณได้มีโอกาสไปทานหม้อไฟที่ฉงชิ่ง ในเมนูอาหารของบางร้านจะระบุเวลาที่แนะนำสำหรับการต้มหรือลวกวัตถุดิบแต่ละประเภท ทำให้สัมผัสได้ถึงความพิถีพิถันของวัฒนธรรมการกินหม้อไฟ หากวันนี้คุณเจอปัญหา คิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรดี ลองหาร้าน “หม้อไฟ”จีนสักร้าน นั่งลงทานอย่างเอร็ดอร่อย เชื่อว่า “หม้อไฟ”จะเยียวยาทุกอย่างเอง
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
1.Baijiahao: https://baijiahao.baidu.com/s?id=1707032523462102100...
2. 我爱历史网:https://www.52lishi.com/article/69033.html