หนุ่มสาวจีนยุคหลัง 90 กับการ “นอนราบ” ต่อค่านิยมการแต่งงานมีลูกแบบเก่าๆ

หมวดหมู่ข่าว: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนเมษายน

เรื่อง หนุ่มสาวจีนยุคหลัง 90 กับการ “นอนราบ” ต่อค่านิยมการแต่งงานมีลูกแบบเก่าๆ

โดย อาจารย์ ว่าที่ร้อยตรีหญิงกานต์สินี รอดเลี้ยง

 

 

      จากวัฒนธรรมการ “เร่งแต่งงาน”(催婚)ที่มีมาอย่างยาวนานของจีนสู่ค่านิยมไม่แต่งงานของหนุ่มสาวจีนยุคหลังปี 90 เพราะเหตุใดหนุ่มสาวชาวจีนที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1990 – 2000 ถึงเลือกที่จะ “นอนราบ”(躺平)กับค่านิยมการแต่งงานมีลูกแบบเก่าๆ 

 

 

คำว่า “นอนราบ” เป็นคำศัพท์อินเทอร์เน็ตสุดฮิตที่เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว หมายถึง การนอนอยู่เฉยๆ ไม่สนใจหรือไม่ให้ความสำคัญต่อสิ่งเร้าภายนอกหรือค่านิยมเก่าแก่ดั้งเดิม

 

 

      แม้ว่าช่วงตุลาคมปี ค.ศ. 2015 จะมีนโยบายลูก 2 คน (Two-child policy) เข้ามาแทนที่นโยบายการมีลูกคนเดียว ส่งผลให้ในระยะแรกมีอัตราการเกิดของประชากรจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ แต่ต่อมาในช่วงเดือนพฤษภาคมของปี ค.ศ. 2021 ที่มีการปล่อยนโยบายลูก 3 คน (Three-child policy) ตามมา จนมีการเพิ่มเงินสนับสนุนให้กับครอบครัวที่มีลูกสามคนเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานี้ ก็ไม่ได้มีกระแสตอบรับที่ดีมากนักจากหนุ่มสาวจีนยุคใหม่ ตามข้อมูลที่กระทรวงกิจการพลเรือนของจีนที่ได้เปิดเผย พบว่า อัตราการจดทะเบียนสมรสของคนจีนในปี ค.ศ. 2021 ทุบสถิติใหม่ ลดลงต่ำสุดในรอบ 20 ปี จากปี ค.ศ. 2010 ที่มีจำนวนการจดทะเบียนสูงถึง 12.41 ล้านคู่ ลดลงเหลือเพียง 7.63 ล้านคู่ในปี ค.ศ. 2021 แนวโน้มดังกล่าวนี้เป็นไปทิศทางเดียวกันกับอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือเพียง 8% เท่านั้นในปีเดียวกัน 

 

 

      ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการพูดถึง “การไม่แต่งาน” และ “ไม่มีลูก” เป็นจำนวนมากใน Weibo แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจีนที่มีผู้ใช้งานมากถึง 570 ล้านคน การเลือกไม่แต่งงาน ไม่มีลูกของหนุ่มสาวจีนยุคใหม่อาจมาจากหลายปัจจัย เช่น มุมมองความรักที่เปลี่ยนไป ความเครียดและความกดดันจากการทำงานแบบ 996 (เข้างานเก้าโมง เลิกงานสามทุ่ม ทำงานหกวันต่อสัปดาห์) ราคาค่าที่พักอาศัยที่สูงเสียดฟ้า ต้นทุนในการมีลูกที่เพิ่มสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพ อัตราการหย่าร้างที่เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้คนกลัวการแต่งงาน เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้หนุ่มสาวจีนคิดว่า การเรียนจบ ทำงาน แต่งงาน มีลูก อาจไม่ใช่ชีวิตที่พวกเขาต้องการอีกต่อไป

 

 

     หนุ่มสาวจีนยุคใหม่มองว่าไม่จำเป็นต้องทำงานหนัก ทุ่มเทหาเงินเพื่อนำเงินไปใช้รักษาสุขภาพตัวเองตอนแก่ บางทีการมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง ทำเท่าที่พอหาเลี้ยงตัวเองให้มีความสุขได้ ไม่ต้องเปรียบเทียบ ไม่ต้องแข่งขันกับใครอาจเป็นหนึ่งในชีวิตในอุดมคติของพวกเขาก็เป็นได้
    ทั้งนี้ ค่านิยมการไม่แต่งงาน ไม่มีลูกอาจนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทวีความรุนแรงของปัญหาสังคมผู้สูงอายุยิ่งขึ้น จีนยังคงต้องเตรียมแผนรับมือต่อกับค่านิยมที่เปลี่ยนไป การเร่งแต่งงานจากพ่อแม่ สวัสดิการสนับสนุนการมีลูกของรัฐบาลอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีอีกต่อไป แต่ควรปรับนโยบายและให้สอดรับกับความต้องการของประชากรและกระแสสังคมโลก

 

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

1. พัชรี จันทร์แรม. (2022). Gen Z ในจีนฉีกค่านิยมคนรุ่นก่อน ไม่แต่งงานงดมีลูก ขอ ‘มีชีวิตเพื่อตัวเอง’. TNN Online. เข้าถึงได้จาก https://www.tnnthailand.com/news/world/101392/.... สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2565

2. Parichat Chk. (2021). จีนห่วง คนรุ่นใหม่ไม่สนใจแต่งงาน: อัตราประชากรลด เสี่ยงขาดแคลนแรงงานระยะยาว. Brand Inside. เข้าถึงได้จาก https://brandinside.asia/china-meet-demographic-crisis.../. สืบค้นเมื่อ 19 เมษายน 2565

3. กระทรวงกิจการพลเรือนสาธารณรัฐประชาชนจีน. (2022). เข้าถึงได้จาก http://www.mca.gov.cn/article/sj/. สืบค้นเมื่อ 18 เมษายน 2565

  • 2706 ครั้ง