คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือน สิงหาคม
เรื่อง การรับมือกับโครงสร้างประชากรของจีนในอนาคต
โดย อาจารย์เอกชัย ทวีปวรชัย
ประเทศจีนมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากร โดยเริ่มจากยุคสมัยชุนชิวที่เน้นการมี“บุตรเร็ว มีบุตรมาก และมีบุตรชาย” เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางทหาร สร้างความมั่งคั่งให้กับชาติ และการสืบทอดตระกูลเป็นแนวคิดหลัก ต่อมาในช่วงยุคกลางและปลายราชวงศ์ชิงถึงช่วงสาธรณรัฐจีน ด้วยอัตราการเติบโตประชากรที่เพิ่มเร็วขึ้น จึงเริ่มมีแนวคิดเกี่ยวกับการควบคุมประชากร และให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวมากขึ้น กระทั่งยุคสมัยการปกครองด้วยระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เรื่อยมาจนถึงยุคกลาง-ปลายศตวรรษที่ 20 ความไม่สอดคล้องระหว่างจำนวนประชากรกับสภาพเศรษฐกิจในประเทศเริ่มเด่นชัดขึ้น รัฐบาลจีนขณะนั้น จึงมีแผนปรับระบบโครงสร้างของประชากรโดยการจำกัดอัตราการเกิดด้วยนโยบาย “สมรสช้า” “เว้นระยะ มีบุตร” “มีบุตรน้อย” จากนั้นเร่งการควบคุมอัตราการเกิดด้วย นโยบายบุตรคนเดียว“One-child policy” แต่ก็อนุญาตให้ครอบครัวที่อาศัยตามชนบทที่มีความลำบากให้สามารถมีบุตรสองคนได้ ซึ่งนโนบายดังกล่าวค่อนข้างได้รับความร่วมมือจากประชาชนจนรัฐบาลจีนสามารถควบคุมอัตราการเกิดได้ตามแผน และเปลี่ยนสถานการณ์จาก “อัตราการเกิดสูง เสียชีวิตต่ำ และอัตราการเพิ่มประชากรสูง” กลายมาเป็น “อัตราการเกิดต่ำ เสียชีวิตต่ำ และ อัตราการเพิ่มของประชากรต่ำ” อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้จีนได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการปันผลทางประชากรวัยแรงงานในหลายสิบปีมานี้ (Jian,2020) ทว่าการจำกัดประชากรให้เติบโตช้า และอัตราการเสียชีวิตต่ำลงนั้น เป็นแนวโน้มไปสู่ปัญหาใหม่เช่นกัน นั่นคืออัตราการทดแทนของประชากรเริ่มห่างจากระดับมาตรฐานสากลที่ 2.1 รวมถึงการเริ่มก้าวสู่สังคมสูงอายุในช่วงปี 2000 ซึ่งขณะนั้น อัตราการเจริญพันธุ์ของจีนอยู่ที่ 1.6 และอัตราส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 6.9 ดังนั้นในปี 2011 รัฐบาลจีนจึงมีแผนปรับโครงสร้างประชากรอีกครั้ง โดยเปลี่ยนจากการลดอัตราการเกิดไปสู่การเพิ่มอัตราการเกิด ด้วยนโยบายบุตรสองคน“Two - child policy” ซึ่งเริ่มจากให้สิทธิ์คู่สามีภรรยาที่เป็นลูกโทน ต่อมาปี 2013 จีนมีการปรับเงื่อนไขนโยบายบุตรสองคนสำหรับคู่สามีภรรยาที่คนใดคนหนึ่งเป็นลูกโทน และในปี 2016 ก็ได้ปรับใช้นโยบายบุตรสองคนเป็นรูปแบบครอบคลุมไม่จำกัดสิทธิ์ อย่างไรก็ตามจีนก็ยังพบว่าภาพรวมของอัตราการเติบโตประชากรในประเทศยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมาย และมีแนวโน้มเติบโตในระดับที่ต่ำลงไปอีก กระทั่งล่าสุดในกลางปี 2021 ที่ประชุมคณะกรรมการกลางกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีนเห็นชอบดำเนินนโยบายลูก 3 คน “Three-child policy” ผนวกแพ็คเกจสนับสนุน เพื่อกระตุ้นการเกิดและสร้างความสมดุลของประชากรจีนในภาวะที่ประชากรสูงอายุทวีขึ้นอย่างน่ากังวล ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองว่าจีนจะรับมือกับประชากรสูงอายุของประเทศที่มีจำนวนมากเท่าประชากรของบางประเทศนี้ได้อย่างไร จะสามารถกระตุ้นให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมาย เหมือนคราวที่ประสบความสำเร็จในช่วงการดำเนินนโยบายลดอัตราการเกิดของประชากรได้หรือไม่ การได้รับประโยชน์จากการปันผลทางประชากรมีแนวโน้มอย่างไร ซึ่งผู้เขียนจะนำเสนอถึงข้อมูลประชากรจีนในปัจจุบัน สถานการณ์แนวโน้มโครงสร้างประชากรจีน และมาตรการการรับมือกับโครงสร้างประชากรของจีนในอนาคต
1. ข้อมูลโครงสร้างประชากรจีนปัจจุบัน
ข้อมูลจาก “ประกาศผลสำรวจสำมะโนประชากรจีน ครั้งที่ 7” (National Bureau of Statistics, 2021) ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก ประมาณ 1,411.78 ล้านคน(ไม่รวมฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน) คิดเป็น 18 % ของประชากรโลก ซึ่งประกอบไปด้วยชนชาติฮั่นร้อยละ 91.11 และชนชาติกลุ่มน้อยอีกร้อยละ 8.89 โดยใน 10 ปีที่ผ่านมานั้น ประชากรจีนเพิ่มขึ้น 72 ล้านคน แต่เมื่อเทียบการเพิ่มของประชากรเฉลี่ยรายปี มีอัตราการเพิ่มของประชากรอยู่ที่ร้อยละ 0.53 ซึ่งน้อยกว่า 10ปีที่แล้วที่มีอัตราการเพิ่มของประชากรรายปีที่ร้อยละ 0.57 อยู่ 0.4 จุด ด้านอัตราส่วนเพศเมื่อเทียบกับข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรครั้งที่ 6 ไม่แตกต่างกันมากนัก จากค่า 105.2 ในปี 2010 เป็นค่า 105.1 ในปี 2020 หากมองเฉพาะอัตราส่วนเพศแรกเกิดในปี 2020 จะมีค่าเท่ากับ 111.3 ซึ่งลดลงจากผลสำรวจสำมะโนประชากรครั้งที่ 6 ที่ 6.8 ถือว่าค่อย ๆ ขยับสู่ระดับปกติ ทั้งนี้อายุเฉลี่ยของประชากรยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดี คือ 38.8 ปี เมื่อจำแนกตามช่วงอายุจะพบว่า ประชากรเด็กช่วงอายุแรกเกิด-14 ปีมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2010 ที่ 30.92 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.35 จุด ประชากรวัยแรงงานอายุ 16-59 ปี เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว ลดลง 40 กว่าล้านคน ลดลง 6.79 จุด แต่สัดส่วนประชากรวัยแรงงานยังถือว่าอยู่ในระดับเต็มศักยภาพ ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีทั้งหมด 260 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.7 ของสัดส่วนประชากรทั้งหมด มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้อมูลสำคัญอีกด้านหนึ่งคือ คุณภาพประชากรและระดับการศึกษามีอัตราส่วนเพิ่มมากขึ้น โดยจำนวนปีเฉลี่ยในการรับการศึกษาจากกลุ่มคนอายุ 15 ปี ขึ้นไปเพิ่มขึ้นจาก 10 ปีที่แล้ว จาก 9.08 ปี เป็น 9.91 ปี กลุ่มประชากรในวัยแรงงานตั้งแต่อายุ 16-59 ปี ได้รับการศึกษาเฉลี่ยจาก10 ปีที่แล้ว 9.67 ปี เพิ่มเป็น 10.75 ปี อัตราส่วนคนไม่รู้หนังสือ(อายุ15ปีขึ้นไป)ลดลงจาก 10 ปีที่แล้ว จากร้อยละ 4.08 เป็นร้อยละ 2.67 ลดลง 1.41 จุด
2.สถานการณ์แนวโน้มที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างประชากรจีน
จากการเปิดเผยข้อมูลของ Ning Jizhe อธิบดีกรมสถิติแห่งชาติซึ่งอ้างอิงข้อมูลสำมะโนประชากรครั้งที่ 7 จำนวนประชากรจีนตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 18.7 เมื่อเทียบเกณฑ์ระดับสังคมสูงอายุแล้วถือว่าอยู่ในระดับ “สังคมสูงอายุ” ยังไม่ถึงระดับ “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” แต่สิ่งที่ปรากฏชัดคือประชากรสูงอายุของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายไปสู่วงกว้างของประเทศอย่างไม่เท่าเทียม คือบางมณฑลมีจำนวนประชากรสูงอายุถึง 10 ล้านคน และมีหลาย ๆ มณฑลหรือเขตปกครองตนเองที่มีจำนวนประชากรสูงอายุมากกว่า 5 ล้านคน อีกประการคือระดับคุณภาพของผู้สูงอายุในสังคมเมืองกับชนบทก็มีความแตกต่างกัน เหตุปัจจัยจากความแตกต่างด้านเศรษฐกิจสังคมและการเคลื่อนที่ของประชากรในแต่ละพื้นที่ในอัตราส่วนที่สูง แม้ว่าความเป็นเมืองกระจายตัวมากขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตามคุณภาพประชากรสูงอายุของจีนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สังคมสูงอายุจะนำมาซึ่งความท้าทายและโอกาส คือจะเป็นแรงกดดันจากการลดลงของจำนวนประชากรแรงงาน การเพิ่มภาระการเลี้ยงดูในครอบครัว รวมทั้งแนวโน้มการสนับสนุนให้บริการสาธารณะพื้นฐาน ในขณะเดียวกันก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจสูงวัย (Silver Economy) ซึ่งการอุปโภคและบริโภคผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุจะขยายตัวมากขึ้น ทั้งยังเอื้อประโยชน์ต่อการผลักดันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน ที่สำคัญในกลุ่มประชากรสูงอายุของจีนตั้งแต่ 60-69ปี ซึ่งคิดเป็นร้อยละ55.83 ของประชากรสูงอายุของจีนทั้งหมด มีความรู้ ทักษะ ความสามารถ และมีสุขภาพทีดี ยังมีศักยภาพในการสร้างประโยชน์ค่อนข้างมาก มีแนวโน้มที่จีนจะเปลี่ยนการพึ่งประโยชน์จากการปันผลประชากร(Demographic Dividend) สู่การปันผลทางปัญญา (Talent Dividend) มากยิ่งขึ้น ส่วนสถานการณ์ด้านอัตราการเกิดของจีน มีแนวโน้มลดลง ซึ่งอัตราการเจริญพันธุ์รวมอยู่ที่ 1.3 ถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ส่วนหนึ่งมาจากการลดลงของจำนวนสตรีวัยเจริญพันธุ์ และปัจจัยด้านนโยบาย ด้านความพร้อม ด้านทัศนคติ อย่างไรก็ตามจากข้อมูลสำรวจพบว่ายังมีสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ปรารถนามีบุตรชาย/หญิงอยู่ที่ 1.8 ด้านภาวะการมีงานทำของประชากรวัยแรงงานแม้ว่ามีจำนวนลดน้อยลง แต่ความกดดันในด้านการหางานก็ยังคงมีไม่น้อย เพราะความต้องการแรงงานทักษะสูงนับวันก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน งานวิจัย Meng ( 2021) ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ปัญหาของสังคมสูงอายุของจีนว่าจะกระทบต่อโครงสร้างการผลิตของประเทศ ด้วยการลดลงของประชากรวัยแรงงาน อาจทำให้การทดแทนเกิดความไม่ต่อเนื่อง รวมทั้งความต้องการในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องใช้สำหรับผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น จึงอาจส่งผลต่อสถานการณ์ด้านการอุปโภคและบริโภค และที่สำคัญปัญหาด้านสุขภาพผู้สูงอายุที่อาจทรุดโทรมไปตามวัย อันส่งผลต่ออัตราการพึ่งพิงเพิ่มสูงขึ้น
3.มาตราการรับมือโครงสร้างประชากรจีนในอนาคต
ในอนาคตรัฐบาลจีนจะดำเนินการนโยบายการมีบุตร 3 คน พร้อมกับการสนับสนุนสวัสดิการต่าง ๆ ควบคู่ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2022 เพื่อรับมือสังคมสูงอายุ หากดูจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 14 ทางรัฐบาลได้มีข้อเสนอในการพัฒนาระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ยกระดับการสร้างสังคมให้สูงขึ้น โดยการเพิ่มรายได้ของประชากร เน้นสร้างนโยบายการมีงานทำเป็นอันดับแรก ให้ความสำคัญกับคุณภาพอาชีพงาน รายได้ และการสร้างอาชีพตลอดชีวิต สร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูง ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถของเด็กในรอบด้าน ครอบคลุมทุกพื้นที่และทุกชนชาติ ยกระดับความรู้ความสามารถของครูอาจารย์ เน้นการพัฒนาทุนมนุษย์และระบบการศึกษาตลอดชีวิต สร้างระบบประกันสังคมที่ครอบคลุมทุกกลุ่มคน ชะลออายุการเกษียณงาน ดำเนินยุทธศาสตร์การรับมือสังคมสูงอายุ โดยกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาประชากรในระยะยาว สร้างนโยบายการเกิดที่มีคุณภาพ กำหนดนโยบายการเกิดที่เปิดกว้าง เพิ่มระดับประสิทธิภาพการให้บริการด้านการเกิด พัฒนาระบบการบริการสถานรับเลี้ยงเด็ก ลดต้นทุนการเกิด ลดค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดู และการศึกษา ส่งเสริมการพัฒนาประชากรแบบสมดุลในระยะยาว ยกระดับคุณภาพประชากร มุ่งพัฒนาทรัพยากรผู้สูงอายุ พัฒนาเศรษฐกิจผู้สูงอายุ ผลักดันกิจการและอุตสาหกรรมด้านการดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบเข้าถึงได้ถ้วนหน้ากับแบบช่วยเหลือกัน รูปแบบแรกคือรัฐสนับสนุนงบประมาณ สถานที่ และผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการให้บริการในราคาย่อมเยาว์ รูปแบบที่สองคือ การพึ่งพาบุคคลในครอบครัว เครือญาติ หรือเพื่อนบ้าน โดยการสนับสนุนจากรัฐบาล สนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว สร้างอาชีพใหม่ให้ผู้สูงอายุ สร้างระบบการให้บริการผู้สูงอายุที่เชื่อมโยงที่พักอาศัย หน่วยงาน การรักษาและการดูแลสุขภาพ สร้างระบบการดูแลและการให้บริการที่ครอบคลุม สร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจจากการปันผลทางปัญญามากขึ้น
การรับมือกับโครงสร้างประชากรจีนในอนาคตด้านหนึ่งคือเพิ่มอัตราการเกิดของประชากรพร้อมลดภาระต้นทุนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมีบุตรเพิ่มตั้งแต่แรกเกิดไปจนเติบใหญ่ ในอีกด้านหนึ่งคือยกระดับคุณภาพแรงงาน ยกระดับคุณภาพผู้สูงอายุและยกระดับคุณภาพสังคมให้มีความเชื่อมโยงกับทิศทางการพัฒนาในอนาคต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงระบบการรับมือกับโครงสร้างประชากรในแต่ละสถานการณ์ที่แตกต่างกันอย่างมีระบบของจีน ทำให้สัดส่วนของประชากร และปัญหาที่สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร รัฐบาลจีนสามารถรับมือได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่ดีในระดับหนึ่ง โดยเห็นได้จากคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ประชากรที่ดีขึ้น ความเป็นสังคมเมืองขยายกว้างขึ้นเป็นต้น แต่ก็ต้องมาดูกันยาว ๆ ว่าแผนพัฒนาเศษฐกิจและสังคมจีน 5 ปีฉบับที่ 14 จะนำไปสู่การปฏิบัติที่เชื่อมโยงกับสภาพความเป็นจริงในด้านเศรษฐกิจและสังคมมากน้อยเพียงใด จะกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่วงกว้างเพื่อลดการกระจุกตัวของการเคลื่อนที่ของประชากรไปสู่เมืองใหญ่ ๆ ได้หรือไม่ จะเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการมีครอบครัวของคนรุ่นใหม่ จนมีความปรารถนาที่จะมีครอบครัวและมีบุตรได้อย่างไร จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคมสูงอายุได้ตามแผนที่วางไว้หรือไม่