การใช้สำนวน คือการใช้ถ้อยคำพิเศษไปจากธรรมดา เพื่อช่วยตกแต่งให้ภาษาน่าสนใจและมีลูกเล่นมากขึ้น ภาษาจีนเป็นอีกภาษาหนึ่งที่มีสำนวนหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า สำนวนพักท้าย หรือที่เรียกในภาษาจีนว่า 歇后语
คำว่า 歇后语 นั้นเกิดขึ้นจากการนำคำสามคำมารวมกัน ได้แก่กริยา 歇 ที่แปลว่าพัก; พักผ่อน คำนาม 后 ที่แปลว่าด้านหลัง; ด้านท้าย และคำนาม 语 ที่แปลว่าคำ; ถ้อยคำ; ภาษา เมื่อรวมกัน สำนวนชนิดนี้ จึงหมายความว่า ถ้อยคำที่พักส่วนท้ายเอาไว้ ผู้เขียนเคยได้ยินผู้เชี่ยวชาญบางท่านแปลคำนี้ว่า “สำนวนพักท้าย” ซึ่งสั้นกระชับและเข้าใจง่าย จึงขอใช้ตามในคอลัมน์วันนี้
สำนวนพักท้าย ประกอบด้วยสองส่วน คือส่วนต้น ที่เปรียบได้กับปริศนาคำทาย และส่วนท้าย ที่เปรียบได้กับคำตอบของปริศนานั้น และโดยทั่วไป คนจีนจะพูดเพียงแค่ส่วนต้นของปริศนานี้ แต่ผู้ฟังก็จะทราบความหมายที่ต้องการสื่อเอง ด้วยการเติมคำตอบในสมองโดยอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น 猫哭老鼠——假慈悲 ส่วนต้นคือปริศนาคำทาย ที่แปลเป็นไทยได้ว่า “แมวร้องไห้ให้แก่หนู” สำหรับส่วนหลัง 假慈悲 นั้น เป็นคำเฉลยของปริศนานี้ นั่นก็คือ “ความเห็นใจจอมปลอม” นั่นเอง
ตัวอย่างอื่นๆ ที่ผู้เขียนมองว่าเป็นสำนวนพักท้ายที่น่าสนใจ เช่น 孔子搬家 (ขงจื่อย้ายบ้าน) และ 刘备摔孩子 (เล่าปี่โยนลูกทิ้ง) เป็นต้น
ว่ายังไงคะ พอจะเดากันได้ไหมว่าส่วนต้นของสำนวนพักท้ายทั้งสองสำนวนข้างบนนี้ น่าจะหมายถึงอะไรกัน...ให้เวลาคิด 2 นาทีค่ะ
คำเฉลยคือ 孔子搬家——尽是书 (หนังสือทั้งนั้น) และ 刘备摔孩子——收买民心 (ซื้อใจประชาชน) นั่นเอง
สำนวนแรก 孔子搬家——尽是书 ในเมื่อขงจื่อเป็นปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ ก็ย่อมต้องเปี่ยมไปด้วยภูมิรู้ เป็นผู้อ่านมากแน่นอน ดังนั้นหากท่านขงจื่อจะต้องย้ายบ้านล่ะก็ ของที่ย้ายก็คงมีแต่หนังสือใช่ไหมล่ะคะ
สำหรับสำนวนที่สอง 刘备摔孩子——收买民心 นั้น ผู้อ่านคงคุ้นๆ เหมือนเคยอ่านในอมตวรรณคดีจีนอย่าง สามก๊ก ใช่ไหมล่ะคะ หลิวเป้ยหรือที่ชาวไทยเรารู้จักในชื่อ “เล่าปี่” นั้น มีลูกชายชื่อว่าอาเต๊า แต่ในสงครามครั้งหนึ่ง เตียวจูล่งขุนศึกคู่ใจเล่าปี่เสี่ยงชีวิตไปช่วยทารกอาเต๊าออกมาจากวงล้อมศัตรู เล่าปี่เมื่อเห็นว่าลูกยังปลอดภัยดี ย่อมต้องดีใจเป็นธรรมดา แต่สิ่งที่เล่าปี่ทำ กลับกลายเป็นโยนทารกน้อยทิ้งไปเสีย (แต่จูล่งก็รับไว้ทันอยู่ดีแหละนะ...) ซึ่งสาเหตุที่เล่าปี่ทำเช่นนั้น ก็เพื่อซื้อใจลูกน้องอย่างจูล่งนั่นเอง (และได้ผลดีเยี่ยมเสียด้วย)
เป็นอย่างไรบ้างคะ น่าสนุกดีไหม สำนวนจีนประเภทนี้
อันที่จริง ในภาษาไทยของเราเอง ก็มีลูกเล่นทางภาษาที่มีลักษณะคล้ายกับ “สำนวนพักท้าย” เช่นกันนะคะ วัยรุ่นยุค 90 อย่างผู้เขียนน่าจะเคยได้ยิน หรือเผลอๆ อาจจะเคยเอามุกตลกทางภาษานี้ไปพูดกับเพื่อนด้วยซ้ำ วลี “เข็มขัดสั้น” ที่แปลว่า “คาดไม่ถึง” นั่นอย่างไรล่ะ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
Xiehouyu. weixin.com. (n.d.). Retrieved from https://baike.baidu.com/.../%E6%AD%87%E5%90%8E%E8.../93030