นวัตกรรมและเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของมนุษย์ และในทุก ๆ วันก็มีนวัตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย หลายสิ่งประดิษฐ์ที่เคยเป็นที่รู้จักกันในอดีตก็ค่อยๆถูกลืมและเลือนหายไปไม่เป็นที่รู้จักแก่คนรุ่นหลังอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็น “เพจเจอร์” ( pager ) “ตลับเทป”( compact cassette ) “เครื่องพิมพ์ดีด”( Typewriter ) หรือเครื่องมือคำนวณที่เก่าแก่ไปกว่านั้นอย่างเช่น “ลูกคิด” ( Abacus )
ลูกคิดนับเป็นเครื่องมือคำนวณในยุคแรกๆของโลก โดยแรกเริ่มเดิมทีมนุษย์ใช้นิ้วมือในการนับจำนวน ก่อนจะพัฒนามาเป็นกิ่งไม้หรือก้อนหิน และต่อยอดมาเป็นลูกคิดในท้ายที่สุด ลูกคิดเป็นวิวัฒนาการร่วมของหลายภูมิภาค โดยถูกพัฒนาออกไปในรูปแบบที่แตกต่างกัน ต้นกำเนิดของลูกคิดถูกพูดไว้หลายรูปแบบ ในบทความนี้เราจะพูดถึงลูกคิดจีน (中国算盘、中国珠算) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย ลูกคิดจีนได้รับการขนามนามว่าเป็นยอดสิ่งประดิษฐ์ลำดับที่5 ของจีน (中国第五大发明) นอกเหนือจากเข็มทิศ (指南针) ดินปืน (火药) กระดาษ (造纸术) และการพิมพ์ (印刷术) สำหรับประเด็นที่ว่าใครคือผู้คิดค้นลูกคิดยังคงเป็นข้อถกเถียงที่หาคำตอบไม่ได้จนถึงปัจจุบัน และจากการสืบค้นข้อมูลพบว่าในปี2556 คณะกรรมการองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) มีมติให้“ลูกคิดจีน” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของโลก
ลักษณะของลูกคิดจีน
ลูกคิดประกอบไปด้วย โครงสี่เหลี่ยม(框) แกน(档) รางกั้น(梁) ลูกคิดด้านบน(上珠) และลูกคิดด้านล่าง(下珠) ลูกคิดด้านบนจะมี2เม็ด โดย1เม็ดแทนค่า5 ลูกคิดด้านล่างมี 5 เม็ด แต่ละเม็ดแทนค่า1 ลูกคิด1แกนแทนค่า1หลัก สำหรับวิธีการใช้ลูกคิดคำนวณผลลัพธ์ ก็เพียงแต่ใช้ปลายนิ้วดีดเพื่อเลื่อนลูกคิดขึ้นลงได้ทันที โดยไม่ต้องบวกลบลงในกระดาษ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันผู้คนจะใช้เครื่องคิดเลขในการคำนวณ แต่ก็ยังมีหลายๆที่ที่ใช้ลูกคิดในการฝึกสมาธิเด็ก
คำศัพท์สำนวนเกี่ยวกับลูกคิด
如意算盘หมายถึง การคิดคำนวณทุกอย่างเพื่อให้ตนได้ประโยชน์สูงสุด คิดเข้าข้างตนเองเพื่อประโยชน์ของตน
铁算盘 หมายถึง มีทักษะการคำนวณที่ดีเยี่ยม แม่นยำ หรือคนที่ประเมินสถานการณ์ได้อย่างละเอียดรอบคอบ
三下五除二 หมายถึงการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ไม่ลังเล ไม่โลเล (三下五除二 เป็นภาษาที่ใช้ในการคำนวนสูตรของลูกคิด)
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำศัพท์สำนวนที่เกี่ยวข้องกับลูกคิดที่สอดแทรกอยู่ในภาษาและวัฒนธรรมจีน สะท้อนให้เห็นว่าลูกคิดอยู่คู่กับประวัติศาสตร์จีนและวัฒนธรรมจีนมายาวนาน แม้ในปัจจุบันลูกคิดจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้งานอีกต่อไป และคงค่อยๆเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่ลูกคิดยังคงเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาอันปราดเปรื่องของคนโบราณ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
สุภัตรา ทรัพย์อุปการ. คิดถึงลูกคิดกันไหม. สืบค้นเมื่อ18 สิงหาคม 2565 จาก https://www.scimath.org/.../item/10616-2019-09-02-01-29-55
创意玩机械|中国古代科技发明创造系列②——中国珠算. สืบค้นเมื่อ18 สิงหาคม 2565 จาก https://www.sohu.com/a/461204473_587438
算盘不是中国发明的吗? . สืบค้นเมื่อ18 สิงหาคม 2565 จาก https://www.zhihu.com/question/308204095
算盘的由来. สืบค้นเมื่อ18 สิงหาคม 2565 จาก https://www.taozhi.cn/phone_a/2860.htm
中国传统计算工具. สืบค้นเมื่อ18 สิงหาคม 2565 จาก https://baike.baidu.com/item/%E7%AE%97%E7%9B%98/363020