สิงโตหินแกะสลักผู้พิทักษ์ของชาวจีน

หมวดหมู่ข่าว: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนพฤศจิกายน 2565

เรื่อง สิงโตหินแกะสลักผู้พิทักษ์ของชาวจีน

โดย อาจารย์ปรียาภรณ์ อิทธิพิสิฐ

     ตามพระราชวังโบราณวัดวาอารามสถานที่ราชการสวนสาธารณะหรืออาคารสำนักงานใหญ่ในประเทศจีน เราจะพบเห็นสิงโตหินแกะสลัก(石狮子)มายืนรอต้อนรับอยู่ตรงหน้าประตูทางเข้าออก เป็นการตั้งตามหลักฮวงจุ้ย(风水)ของคนจีนที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานานแสนนานจนถึงปัจจุบัน แต่ทุกคนคงเคยสงสัยเหมือนกันว่าตัวไหน คือ เพศผู้เพศเมีย วันนี้เราจะมาเคลียร์ให้หายข้องใจไปพร้อม ๆ กันค่ะ

     สิงโตหินแกะสลัก โดยทั่วไปแล้วทางด้านซ้ายของประตูจะเป็นสิงโตตัวผู้(雄)สังเกตได้จากที่เท้าเหยียบลูกบอลอยู่ แสดงถึงความมีพลังอำนาจ และทางด้านขวาของประตูจะเป็นสิงโตตัวเมีย(雌)ที่ใช้เท้าปลอบประโลมลูกสิงโตน้อย แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของลูกหลาน

     ในแต่ละพื้นที่ของประเทศจีนสิงโตหินจะมีลักษณะการแกะสลักที่โดดเด่นเป็นพิเศษแตกต่างกันออกไป เช่น ทางภาคเหนือมีลักษณะเรียบง่ายไม่มีรายละเอียดมากนัก ทางภาคใต้จะมีรายละเอียดมากกว่า ลักษณะของสิงโตจะมีท่าทางที่ร่าเริงขี้เล่น และบางครั้งลูกสิงโตก็ไม่ได้อยู่ที่เท้าของตัวแม่ แต่อาจจะกำลังปีนอยู่บนหลังของตัวแม่ก็ได้ นอกจากนี้เราอาจจะพบว่าสิงโตบางตัวกำลังคาบลูกกลม ๆ อยู่ในปาก มาจากความเชื่อที่ว่าสิงโตชอบเล่นไข่มุกราตรี ดังนั้นจึงมีลูกหินกลม ๆ อยู่ในปากของสิงโตนั่นเอง

            ความเชื่อต่าง ๆ ของการตั้งสิงโตหินไว้ที่ประตูทางเข้าออก

       1. ชาวจีนสมัยโบราณเชื่อว่าสิงโตหิน สามารถขับไล่มารร้ายภูตผีปีศาจ ปัดเป่าเสนียดจัญไร สิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ ออกไป ช่วยเสริมสร้างความสิริมงคล และแสดงออกถึงการขอพรภาวนาให้ทุกคนภายในสถานที่นั้นอยู่รอดปลอดภัย

       2. เพื่อใช้ในการทำนายถึงภัยพิบัติ (灾害)ทางธรรมชาติ คนสมัยก่อนมีความเชื่อที่ว่า หากจะเกิดภัยธรรมชาติ เช่น น้ำป่าไหลหลาก แผ่นดินไหว ดวงตาของสิงโตหินจะเปลี่ยนเป็นสีแดง หรือมีเลือด (血) ไหลออกมาจากดวงตา

       3. เพื่อแสดงถึงผู้ที่มีตำแหน่งสูง และมีอำนาจ ในสมัยก่อนตั้งสิงโตหินไว้ที่พระตำหนัก ทำเนียบ สถานที่ราชการ บ้านเรือน เพื่อปกปักรักษา และแสดงถึงอำนาจอิทธิพล ความมีเกียรติ และความสูงศักดิ์ของผู้อาศัย

       4. เป็นศิลปะตกแต่ง สิงโตหินนอกจากจะเป็นสิ่งก่อสร้างโบราณแล้ว แต่ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่หันมาใช้สิงโตหินไปประดับตกแต่งอาคารบ้านเรือน เพื่อความสวยงาม

     นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อของการลูบคลำ (摸)ตามลำตัวสิงโตหินอีกด้วย เช่น ลูบที่หัวจะทำให้ไม่มีความทุกข์ หรือลูบที่หลังจะทำให้ชีวิตดำเนินไปด้วยความราบรื่น หรือลูบที่ปากจะทำให้คู่สามีภรรยาไม่ทะเลาะกัน หรือลูบที่สะโพกจะทำให้ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ และถ้าหากลูบตั้งแต่หัวมาจนถึงหางเชื่อว่าจะนำความโชคดีเข้ามาในชีวิต

     ไม่น่าเชื่อเลยว่าจากก้อนหินธรรมดา ๆ ที่ไม่พิเศษ หรือมีความรู้สึกอะไร แต่เมื่อถูกนำมาแกะสลักจนกลายเป็นสิงโต จะทำให้ดูเป็นสิ่งที่ทรงพลัง มีอำนาจ น่าเกรงขาม จนทำให้เกิดความเชื่อต่าง ๆ ขึ้นมาได้

     สิงโตหินจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการปกป้อง คุ้มครอง คุ้มภัย จึงทำให้มีประเพณีการตั้งสิงโตหินไว้ตามทางเข้าออกของอาคาร เพื่อความเป็นสิริมงคลของผู้อยู่อาศัยนั่นเอง

อ้างอิง/ที่มา

baike.baidu.com/item/%E7%9F%B3%E7%8B%AE%E5%AD%90/1130665

  • 94 ครั้ง