ทำไมคนจีนถึงพูดว่า “ฉันที่ร้านอาหารกินข้าว我在餐厅吃饭”

หมวดหมู่ข่าว: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนมกราคม 2566

เรื่อง ทำไมคนจีนถึงพูดว่า “ฉันที่ร้านอาหารกินข้าว我在餐厅吃饭”

โดย อาจารย์ ดร.อภิรักษ์ นุสิทธิ์ชัยการ

     ผู้เรียนภาษาจีนในระดับต้นมักจะพบปัญหาการเรียงลำดับคำในภาษาจีนเช่น การจะบอกว่าทำอะไรที่ไหน ตามหลักไวยากรณ์จีนจะต้องพูดสถานที่ขึ้นก่อนแล้วค่อยพูดว่าทำอะไรตามมาทีหลัง นอกจากการบอกสถานที่ยังรวมไปถึงการบอกเวลา การบอกการกระทำร่วม และส่วนทำหน้าที่ขยายกริยาในประโยคอีกมากมายรวมๆ 10 กว่ารูปแบบ ซึ่งเป็นเรื่องยากต่อการเรียนภาษาจีนของผู้เรียนในระดับต้น

     จริงๆ แล้วมีงานวิจัยเมื่อปี คศ. 1988 เขียนโดย Dai Haoyi ซึ่งส่วนหนึ่งของงานวิจัยพบว่าการเรียงลำดับคำของส่วนขยายที่อยู่หน้าคำกริยาในภาษาจีน มีการเรียงลำดับคำตามลำดับของเวลา หรือพูดง่ายๆ ว่าในความเป็นจริง อะไรจะเกิดขึ้นได้ก่อนก็จะวางคำนั้นไว้ด้านหน้า เช่น ตัวของฉันจะต้องถึงร้านอาหารก่อน แล้วจึงจะเกิดการกินข้าวได้ ดังนั้นในภาษาจีนจึงต้องพูดว่า “我在餐厅吃饭。ฉันที่ร้านอาหารกินข้าว ” นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างประโยคที่ผู้เรียนเริ่มต้นมักพบบ่อยเช่น

          ประโยคภาษาจีน แปลไทยตามลำดับคำของไวยากรณ์จีน แปลไทยตามไวยากรณ์ไทย

     (1) 我八点上课 ฉัน ตอนแปดโมง เรียน ฉันเรียนตอนแปดโมง

     (2) 我跟朋友吃饭 ฉัน กับเพื่อน กินข้าว ฉันกินข้าวกับเพื่อน

     (3) 我们电话联系 พวกเรา ทางโทรศัพท์ ติดต่อกัน พวกเราติดต่อกันทางโทรศัพท์

     ประโยคที่ (1) ฉันต้องถึงจุดเวลาแปดโมงก่อน แล้วจึงจะเริ่มต้นเรียนได้ ประโยคที่ (2) การกินข้าวกับเพื่อน หากลำดับตามการเกิดขึ้นจริงแล้ว ฉันจะต้องไปพบกับเพื่อนก่อน แล้วจึงไปกินข้าวด้วยกัน การกินข้าวจะเกิดขึ้นหลังจากที่ฉันพบกับเพื่อน ประโยคที่ (3) พวกเราเลือกวิธีการในการสื่อสารเป็นทางโทรศัพท์ ซึ่งต้องมีการกำหนดวิธีการหรือมีโทรศัพท์เกิดขึ้นก่อน แล้วจึงจะมีการติดต่อกันได้ ทั้งสามประโยคนี้แสดงให้เห็นว่าการลำดับคำของภาษาจีนมีความสอดคล้องกับการลำดับของเวลา

     นอกจากนี้ในงานวิจัยยังพบอีกว่าเมื่อประโยคหนึ่งมีการพูดถึงส่วนขยายกริยาหลายตัวทั้งเวลา สถานที่ ผู้กระทำร่วม และอื่นๆ การลำดับของคำ ก็ยังเป็นไปตามการเกิดขึ้นจริงของเวลาเช่นเดิม ตัวอย่างเช่น

          ภาษาจีน 我明天早上八点在图书馆跟朋友一起看书。

          แปลตรงตัว ฉัน พรุ่งนี้ เช้า แปดโมง ที่ห้องสมุด กับเพื่อน ด้วยกัน อ่านหนังสือ

          แปลไทย พรุ่งนี้แปดโมงเช้าฉันอ่านหนังสือด้วยกันกับเพื่อนที่ห้องสมุด

     ในประโยคนี้จะเห็นได้ว่าการเรียงคำของประโยคก็เป็นไปตามลำดับการเกิดขึ้นจริงเช่นกัน คือเรื่องราวจะเกิดขึ้นได้จะต้องถึงจุดเวลานั้นก่อน และในช่วงเวลาก็แบ่งเป็นพรุ่งนี้ ซึ่งเป็นขอบเขตใหญ่และชัดเจนที่สุดไปจนถึงตอนเช้า และเวลาแปดโมง ตัวฉันไปที่ห้องสมุดและพบกับเพื่อน และเกิดเป็นลักษณะการร่วมกัน (คำว่า “ด้วยกัน”) และจึงเกิดเป็นการอ่านหนังสือในลำดับสุดท้าย

     จากตัวอย่างที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าลำดับการเกิดขึ้นของเวลาสามารถนำมาใช้จริงได้ในการอธิบายการเรียงลำดับคำของภาษาจีน โดยส่วนใหญ่เป็นส่วนขยายที่วางหน้าคำกริยา ทั้งนี้กฏเกณฑ์ทางไวยากรณ์ก็ยังมีข้อยกเว้นหรือความยืดหยุ่นและการตีความที่หลากหลาย ผู้เรียนและผู้สอนภาษาจีนจึงควรพิจารณาเลือกใช้เพื่อความเหมาะสมในการเรียนภาษาจีน

อ้างอิง

戴浩一. (1988). 时间顺序和汉语的语序. 国外语言学. 1, 10-20.

  • 38 ครั้ง