ในยุคของโซเชียลมีเดียและสารสนเทศ ผู้คนมักใช้อินเทอร์เน็ตเป็นตัวกลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน จากสถิติในปลายปี 2022 จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศจีนมีมากกว่า 1 พันล้านคน จากการที่ชาวจีนเริ่มเข้ามาใช้งานและแสดงความคิดเห็นบนแพลตฟอร์มต่างๆ ในอินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้นในแต่ละปีนี้เอง ทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่ๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก ผลผลิตเหล่านี้ของชาวเน็ตมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แฝงไว้ด้วยความขบขำ ความมีชีวิตชีวา ความติดดินเข้าถึงง่าย และเป็นตัวแทนที่บ่งบอกวิถีชีวิตของคนในช่วงเวลานั้นๆ รวมถึงสิ่งที่คนในสังคมนั้นๆ ให้ความสนใจและติดตาม แม้ว่าศัพท์บางคำอาจนิยมใช้ในช่วงระยะเวลาเพียงสั้นๆ แต่ก็ยังมีอีกหลายคำที่ใช้ต่อเนื่องกันมาหลายปี ที่มาของคำศัพท์เหล่านี้มีทั้งมาจากวงการสื่อสารมวลชน วงการเกมส์ วงการแฟนคลับ วงการซีรีย์ เป็นต้น บทความนี้จะแนะนำศัพท์ในเน็ตของจีนประเภท 简缩类 (ตัวย่อ) โดยคร่าวๆ ว่ามีที่มาและวิธีการใช้อย่างไร
1. ตัวย่อที่มาจากการสะกดพยัญชนะต้นของพินอิน(拼音字母) บนแป้นพิมพ์ ศัพท์ประเภทนี้เกิดจากความอัจฉริยะของระบบบนอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือและคอมพิวเตอร์ ทำให้คนจีนมีความเคยชินในการพิมพ์ข้อความโต้ตอบกันด้วยการพิมพ์เฉพาะพยัญชนะต้น(声母)ของแต่ละคำ ช่วยประหยัดเวลาในการสะกดพินอินแบบเต็มทั้งพยัญชนะและสระผสมกัน
นอกจากนี้ ชาวจีนยังนิยมใช้การสะกดคำย่อด้วยพยัญชนะต้นของพินอิน ในการแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงคำที่จะถูกเซ็นเซอร์จากแพลตฟอร์มต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต เช่น ในแวดวงแฟนคลับศิลปินดาราจะพบคำว่า blx(玻璃心);jz(集资);rz(弱智);xj(戏精);sjb(神经病)เป็นต้น และในช่วงที่มีการระบาดของโคโรนาไวรัส มีการเซ็นเซอร์คำศัพท์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้ชาวเน็ตจีนต้องหาคำศัพท์อื่นๆ มาใช้แทน “คำที่อ่อนไหว” เช่น zf(政府);jc(警察);zz(政治)
2. ตัวย่อที่มาจากการสะกดพยัญชนะต้นของภาษาอังกฤษ
นอกจากนี้ยังมีคำศัพท์ที่เป็นตัวย่อระหว่างภาษาอังกฤษผสมกับภาษาจีน เช่น栓Q ที่มาจากคำว่า Thank you ; C位ที่มาจากคำว่า Center(carry)รวมถึงคำศัพท์ภาษาอังกฤษผสมตัวเลข เช่น u1s1(有一说一)ที่แปลว่า พูดอย่างมีเหตุผล เป็นต้น