เรื่องกินที่คุณไม่ควรกิน

หมวดหมู่ข่าว: sclc-ชีพจรจีน

 

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนพฤษภาคม 2566

เรื่อง เรื่องกินที่คุณไม่ควรกิน

โดย อาจารย์จิรญา โฮ วงศ์ใหญ่ (อาจารย์ประจำสำนักวิชาจีนวิทยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)

     ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนคงหนีไม่พ้นเรื่องการกิน การกินมักเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจและยังมักใช้ถามไถ่แสดงความห่วงใยซึ่งกันและกัน เช่น กินข้าวหรือยัง 吃饭了吗?(chī fàn le ma) ซึ่งคำว่ากินในภาษาจีนคือ 吃 (chī) หากแต่เมื่อนำมารวมกับชื่อของกินบางอย่างในภาษาจีน ความหมายจะไม่ได้หมายถึงกินสิ่งนั้น ๆ แบบตรงตัว แต่มันเป็นเพียงคำแสลงในภาษาจีนที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม สภาพแวดล้อม ทัศนคติรวมถึงแนวคิดของคนจีนในช่วงนั้น ๆ เพื่อเป็นคำสอนให้กับลูกหลานและคนรุ่นหลังสืบต่อมา บทความนี้ขอนำเสนอ 4 คำแสลงภาษาจีนในเชิงลบที่เกี่ยวกับการกินของที่ไม่ควรกิน (หมายถึงอย่าไปทำแบบนี้ไม่ว่ากับใคร เข้าใจมั๊ยยยยยย)

     มาเริ่มกันที่ 吃豆腐 (chī dòufu) “กินเต้าหู้” คำแสลงนี้มีความหมายออกแนวติดลบ มีเรื่องเล่าว่าในสมัยราชวงศ์ฮั่น สามีภรรยาคู่หนึ่งเปิดร้านขายเต้าหู้ในเมืองฉางอัน กลางคืนสามีมีหน้าที่บดเต้าหู้เตรียมของ ส่วนตอนกลางวันภรรยาจะทำหน้าที่เป็นแม่ค้าขายเต้าหู้ ด้วยความสวยหมวยขาวของแม่ค้า ช่วยดึงดูดลูกค้าหนุ่ม ๆ ได้เป็นอย่างดี จนกิจการร่ำรวย ลูกค้าหนุ่ม ๆ ส่วนใหญ่ชอบใช้ข้ออ้างหาเรื่องออกบ้านเพื่อมาซื้อเต้าหู้เป็นประจำ และมักฉวยโอกาสจับมืออันเรียวงามของแม่ค้าในขณะที่จ่ายเงิน ดังนั้น 吃豆腐จึงมีความหมายแสลงว่า ลวนลาม เอาเปรียบกัน หรือที่เราเรียกกันง่าย ๆ ว่า “แต๊ะอั๋ง” นั่นเอง แต่ในปัจจุบัน การ吃豆腐สามารถใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย

     มาดูอีกสิ่งหนึ่งที่คุณผู้ชายทั้งหลายไม่ควรกิน นั่นก็คือ 吃软饭 (chī ruǎnfàn) “กินข้าวนิ่ม” เรื่องราวเกิดขึ้นจากความเหงาของสาวแก่แม่ม่ายผู้ร่ำรวยเงินทองคนหนึ่งได้ตกหลุมรักชายหนุ่มอายุน้อย และได้พาชายหนุ่มไปกินข้าวกันที่ร้านอาหาร ชายหนุ่มรู้ดีว่าฟันของสาวแก่ไม่ค่อยดีนัก เคี้ยวอาหารแข็ง ๆ ไม่ได้แน่ เพื่อเป็นการเอาใจสาวแก่ชายหนุ่มจึงสั่งเด็กเสิร์ฟว่า 我们要吃软饭。“พวกเราขอเป็นข้าวนิ่ม ๆ แล้วกัน” ซึ่งประโยคนี้ทำเอาสาวแก่ใจฟูเป็นอย่างมาก ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าตอนจ่ายค่าอาหารใครจะเป็นคนเลี้ยง หากจะแปลความหมายง่าย ๆ ของ 吃软饭ก็คือ ผู้ชายที่เกาะผู้หญิงกิน ผู้ชายที่ไม่ทำงาน มักให้ภรรยาหรือแฟนทำมาหาเลี้ยงตนเอง นั่นเอง

     หากพูดถึงเรื่องการสอบ ทุกคนก็คงหวังคะแนนสูง ๆ กันทั้งนั้น ดังนั้นหากเราขยันตั้งใจอ่านหนังสือสอบ เราไม่มีทางได้ 吃鸭蛋 (chī yādàn) “กินไข่เป็ด” แน่นอนค่ะ คำแสลงนี้มีความหมายคล้ายกับภาษาไทยบ้านเราที่ชอบพูดกันว่า กินไข่ต้ม ซึ่งก็หมายถึงการสอบที่ได้ 0 คะแนน แล้วทำไมคนจีนถึงใช้ไข่เป็ดแทนสัญลักษณ์ของความว่างเปล่าล่ะ ว่ากันว่าไข่เป็ดมีลักษณะเป็นก้อนกลม ๆ ลูกใหญ่ ๆ มีลักษณะใกล้เคียงกับตัวเลข 0 อีกทั้งไข่เป็ดยังมีเปลือกสีขาว ซึ่งสีขาวในภาษาจีนคือ 白 (bái) จะสื่อความหมายว่า ว่างเปล่า ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นความหมายของการกินไข่เป็ดก็เปรียบเสมือนว่าเราสอบได้คะแนน 0 นั่นเอง

     และของกินสิ่งสุดท้ายที่เราไม่ควรกินก็คือ 吃干饭 (chī gānfàn) “กินข้าวแห้ง” และ 吃白饭(chī bái fàn) “กินข้าวเปล่า” เป็นการเปรียบเทียบว่าไร้ความสามารถ ทำงานไม่ได้เรื่อง แปลความหมายมาจาก 只会吃饭不会干事 (zhǐ huì chīfàn bú huì gànshì) กินข้าวเป็นอย่างเดียว แต่ทำงานไม่เป็น เป็นอย่างไรบ้างคะ วันนี้ได้เรียนรู้คำศัพท์แสลงจีนที่เป็นของกินที่เราไม่ควรกิน (ในความหมายแสลงเชิงลบ) แต่อย่างไรก็ตามในการดำรงชีวิตประจำวันของเรา เต้าหู้ ข้าวนิ่ม ข้าวเปล่า และไข่เป็ด ก็ยังเป็นอาหารที่ให้ประโยชน์และจำเป็นต่อการเจริญเติบโตเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายเราอยู่นะคะ กินจริงกินได้ แต่หากเป็นความหมายแสลงเราเลือกที่จะไม่กินดีกว่าค่ะ

อ้างอิง

说由来. (2/4/2022). 为什么占便宜会俗称吃豆腐. Zhihu. https://www.zhihu.com/question/20179330/answer/2420609615

山川文视. (15/11/2018). 你知道“吃软饭”是怎么来的吗?跟一老寡妇有关,后人都不觉丢脸. Toutiao. https://www.toutiao.com/article/6623965891744760323/...

สุชัญญา ประภาทรง. (2561). การศึกษาสำนวนจีนที่เกี่ยวกับอาหารการกิน. มหาวิทยาลัยศิลปากร. http://isas.arts.su.ac.th/.../2561/langlit/05580635.pdf

อาศรมสยาม-จีนวิทยา. (2558, มีนาคม). คำศัพท์และสำนวนที่เกี่ยวเนื่องกับการกินของคนจีน.จดหมายข่าวอาศรมสยาม-จีนวิทยา, (101). https://www.arsomsiam.com/.../%e0%b8%a0%e0%b8%b2%e0.../...

 

  • 56 ครั้ง