“的” คือคำช่วยเสริมโครงสร้าง (结构助词) ในภาษาจีน ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างคำขยายคำนาม(定语)และคำนามหลักที่ถูกขยาย(中心语)ตามหลักไวยากรณ์ภาษาจีน คำขยายคำนาม (定语) จะวางหน้าคำนามเสมอ ซึ่งตรงกันข้ามกับภาษาไทยที่วางคำขยายไว้หลังคำนามหลัก เช่น วลี “我 (ฉัน) 的 (ของ) 书 (หนังสือ)” “我” อ่านว่า “หว่อ” แปลว่าฉัน ทำหน้าที่เป็นคำขยาย “的” อ่านว่า “เตอ” คือคำช่วยเสริมโครงสร้างเพื่อบอกความเป็นเจ้าของ และ “书” อ่านว่า “ซู” แปลว่าหนังสือ ทำหน้าที่เป็นคำหลัก ซึ่งหากแปลเป็นภาษาจีนไทยจะต้องแปลว่า “หนังสือของฉัน”
จากประสบการณ์การสอนของผู้เขียนพบว่า ผู้เรียนหลายคนมักเข้าใจว่า “的” แปลว่า “ของ” เพียงความหมายเดียว แต่แท้จริงแล้ว “的” ยังสามารถแปลได้อีกหลายความหมาย มีอีกหลายโครงสร้าง ซึ่งแต่ละความหมายในวลีหรือประโยคจะขึ้นอยู่กับชนิดคำขยายด้านหน้าของคำนามหลักนั้น ๆ โดยวลีที่พบมากที่สุด ผู้เขียนขอสรุปอย่างง่ายและนำเสนอ 3 โครงสร้าง ดังนี้
โครงสร้างที่ 1 คำนาม (ส่วนขยาย) + 的 + คำนาม(คำหลัก)
โครงสร้างนี้เป็นโครงสร้างที่แสดงถึงการเป็นเจ้าของ โดยคำขยายด้านหน้า“的”จะเป็นเจ้าของของคำหลักที่อยู่หลัง “的” เช่น “我(ฉัน = ส่วนขยาย)的书”(หนังสือ = คำหลัก) และวลีนี้แปลว่า หนังสือของฉัน (ฉันเป็นเจ้าของของหนังสือ) วลีนี้ตัด “的” ไม่ได้ ไม่สามารถพูดว่า “我书”ได้
“玛丽(แมรี่ = ส่วนขยาย)的钱 (เงิน = คำหลัก) ” วลีนี้แปลว่า เงินของแมรี่ (แม่รี่เป็นเจ้าจองของเงิน) วลีนี้ก็ “的” ไม่ได้
“这儿(ที่นี่ = ส่วนขยาย)的东西 (สิ่งของ = คำหลัก) ” วลีนี้แปลว่า สิ่งของของที่นี่ (สิ่งของต่างๆเป็นของที่นี่) วลีนี้ก็ “的” ไม่ได้เช่นกัน
กรณีคำขยายและคำหลักบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ของบุคคล มักไม่ใช้“的” เช่น “我(ฉัน)妈妈 (แม่) ” แปลว่า แม่ของฉัน“你(คุณ)姐姐(พี่สาว) ” แปลว่า พี่สาวของคุณ
โครงสร้างที่ 2 คำคุณศัพท์ (ส่วนขยาย) + 的 + คำนาม (คำหลัก)
โครงสร้างนี้เป็นโครงสร้างที่แสดงถึงการขยายความคำนาม โดยส่วนขยายด้านหน้าของ “的 ทำหน้าที่ขยายความคำนามด้านหลัง โดยส่วนขยายด้านหน้าเป็นคำหรือวลีคุณศัพท์(形容词)โครงสร้างนี้ยังแบ่งย่อยออกเป็นหลายรูปแบบ ดังนี้
1) โครงสร้าง คำคุณศัพท์สองพยางค์ (ส่วนขยาย) + 的 + คำนาม (คำหลัก)
โครงสร้าง คำคุณศัพท์สองพยางค์ (ส่วนขยาย) + 的 + คำนาม (คำหลัก) เช่น 美丽(สวย=ส่วนขยาย)的花园 (สวนดอกไม้ = คำหลัก) วลีนี้แปลว่า สวนดอกไม้ที่สวยงาม โดยคำว่า “美丽” (สวยงาม) ทำหน้าที่ขยายและอธิบายเพิ่มเติมถึงลักษณะของดอกไม้ ว่าเป็นดอกไม้ที่สวย นอกจากนี้ ส่วนขยายอาจเป็นวลีก็ได้ เช่น
又干净又整齐(ทั้งสะอาดและเป็นระเบียบ=ส่วนขยาย)的房间 (ห้องนอน = คำหลัก) วลีนี้แปลว่า ห้องนอนที่ทั้งสะอาดและเป็นระเบียบ วลี “又干净又整齐” (ทั้งสะอาดและเป็นระเบียบ) ทำหน้าที่ขยายความและอธิบายสภาพของคำนามคือห้องนอน ว่าเป็นห้องนอนที่สะอาดและเป็นระเบียบ)
2) โครงสร้าง คำคุณศัพท์พยางค์เดี่ยว (ส่วนขยาย) + 的 + คำนาม (คำหลัก)
คำคุณศัพท์พยางเดี่ยว (形容词)ที่ทำหน้าที่ขยายอยู่หน้า “的” ต้องเป็นคำซ้ำ เช่น
大大(ใหญ่ ๆ) 红红(แดง ๆ)长长 (ยาว ๆ) 大大 (ใหญ่ ๆ = ส่วนขยาย) 的房子 (บ้าน=คำหลัก) วลีนี้แปลว่า บ้านหลังใหญ่ ๆ (“ใหญ่ ๆ” ทำหน้าที่อธิบายขยายความบ้านว่าเป็นบ้านที่มีขนาดใหญ่) 红红(แดง ๆ = ส่วนขยาย)”的苹果 (แอปเปิ้ล=คำหลัก) วลีนี้แปลว่า แอปเปิ้ลลูกแดง ๆ (วลี“红红” (แดง ๆ) ทำหน้าที่ขยายเพื่อระบุสีของแอปเปิ้ลว่าเป็นแอบเปิ้ลลูกแดง ๆ ) ซึ่งทั้งสองวลีจะพูดว่า “大大房子” และ “红红苹果” ไม่ได้ ต้องมี 的อยู่ตรงกลางระหว่างส่วนขยายและคำหลัก หากมีคำคุณศัพท์พยางค์เดียวทำหน้าที่ขยายหน้าคำนามมักจะไม่ใช้ 的 เช่น 大箱子 (กล่องที่มีขนาดใหญ่) 好朋友 (เพื่อนที่ดี) เป็นต้น
3) โครงสร้าง คำคุณศัพท์พยางค์เดี่ยว (单音节) ที่มีคำวิเศษณ์ (副词) ขยายอยู่ด้านหน้า + 的 + คำนาม (คำหลัก) คำคุณศัพท์พยางค์เดี่ยวที่มีคำวิเศษณ์ (副词) ขยายอยูด้านหน้า เช่น 很好 (ดีมาก) 不大 (ไม่ใหญ่)很好(ดีมาก=ส่วนขยาย)的房子 (บ้าน=คำหลัก) วลีนี้แปลว่า บ้านที่ดีมาก (“ดีมาก”ทำหน้าที่ขยายลักษณะของ “บ้าน”อธิบายว่าเป็นบ้านที่ดีมาก) กรณีนี้ก็ไม่สามารถละ “的” ได้เช่นกัน
โครงสร้างที่ 3 กริยา/วลีทีมีกริยา (ส่วนขยาย) + 的 + คำนาม (คำหลัก)
โครงสร้าง กริยา/วลีที่ประกอบด้วยกริยา (ส่วนขยาย) + 的 + คำนาม (คำหลัก) เช่น 吃(กิน=ส่วนขยาย)的东西 (ของ=คำหลัก) วลีนี้แปลว่า ของกิน “吃” (กิน) เป็นกริยา แต่ทำหน้าที่ขยายหน้าคำนาม เป็นส่วนอธิบายคำหลักคำว่า “东西” เพื่อบอกว่าเป็นของที่กิน) 妈妈做 (แม่ทำ) 的菜(อาหาร)วลีนี้แปลว่า อาหารที่แม่ทำ (วลี“妈妈做” (แม่ทำ) ทำหน้าที่ขยายคำหลัก “菜” (อาหาร) เพื่อขยายและอธิบายคำหลัก “菜” (อาหาร) ว่าเป็นอาหารที่คุณแม่ทำ โดยโครงสร้างที่มีกริยาขยายคำหลักดังกล่าวจะขาดคำช่วยเสริมโครงสร้าง “的” ไม่ได้เลย เนื่องจากเมื่อตัด “的” ออก วลีหรือประโยคจะเปลี่ยนความหมายที่ต้องการสื่อไปเลย เช่น 妈妈做的菜 หมายถึง อาหารที่แม่ทำ แต่หากตัด “的”เหลือเพียง 妈妈做菜 ก็จะแปลว่า คุณแม่ทำอาหาร
โครงสร้างที่กล่าวมา เป็นเพียงหลักการการใช้บางส่วนของ “的” เท่านั้น แต่ผู้เขียนเห็นว่า เป็นโครงสร้างที่ผู้เรียนเบื้องต้นพบเห็นบ่อยครั้ง และจากการสรุปด้านบน จะเห็นได้ว่า “的” ที่ทำหน้าที่เสริมโครงสร้างคำขยายนามนั้นมีหลายความหมาย และสิ่งที่ชัดเจนมากที่สุดคือ โครงสร้างการขยายคำนามในภาษาจีนและภาษาไทยนั้นตรงข้ามกัน โดยภาษาจีนคำขยายนามอยู่หน้าคำนาม และภาษาไทยคำขยายอยู่ด้านหลังคำนาม หากผู้เรียนมีความเข้าใจถึงความต่างของทั้งสองภาษา ก็จะสามารถทำความเข้าใจและแปลประโยคที่มี “的” ได้ง่ายและถูกต้องมากขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง
1)https://wenku.baidu.com/.../5f959362974bcf84b9d528ea81c75...
2)https://wenku.baidu.com/.../c837410f7cd184254b353524.html...