ก่อนจะเข้าสู่รายละเอียดจะขอปูพื้นหลังทางประวัติศาสตร์สักเล็กน้อย หลักแนวคิดเรื่องความกตัญญูย้อนกลับไปถึงช่วง 541-479 BCE (ราว 2,600 ปีก่อน) ซึ่งผูกและมีความเกี่ยวข้องกับนักคิดนักปรัชญาจีนนามว่าขงจื่อ ขงจื่อมองว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวสำคัญยิ่งกว่าความสัมพันธ์ที่ผู้คนมีต่อรัฐ ดั่งจะเห็นได้จากตัวอย่างที่ถูกยกขึ้นมาในคัมภีร์หลุนอี่ว์ 13.18:
เซ่อกงกล่าวแก่ขงจื่อว่า “ในแคว้นเรามีคนตรง เมื่อบิดาขโมยแกะ บุตรไปเป็นพยาน”
ขงจื่อกล่าวว่า “ในแคว้นของข้า คนตรงจะต่างออกไป บิดาจะซ่อนความผิดบุตร บุตรจะซ่อนความผิดบิดา ความตรงดำรงอยู่ ณ ใจกลางพฤติกรรมเหล่านี้แล้ว”
จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าขงจื่อให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างมาก และไม่ว่าหน้าที่หรือความรับผิดชอบต่อรัฐจะมีมากแค่ไหน มันก็ไม่อาจจะเหนือไปกว่าความสัมพันธ์ในครอบครัว ในแคว้นของเซ่อกงมีคนที่ซื่อตรงถึงขั้นเป็นพยานให้บิดาตนเองถูกจับ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าขงจื่อสนับสนุนให้คนลักขโมยแต่ในมุมมองของขงจื่อคนที่เลี้ยงดูเรามาย่อมสำคัญกว่ารัฐที่ไร้ค่าหน้าตาและการกระทำของบุตรนั้นถือว่าอกตัญญู
การส่งเสริมคุณค่าทางความกตัญญูเกิดขึ้นและถูกสืบทอดมาเป็นเวลา 2,600 ปีจนกระทั่งไม่นานสังคมจีนเริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ปัจจุบันมีความไม่สมดุลทางประชากรที่ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายลูกคนเดียว (One Child Policy ) คนชรามีอยู่มาก หนุ่มสาวช่วงวัยทำงานน้อยลงจนคนหนึ่งจะต้องเลี้ยงดูคนชราสี่คน ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมเช่นลูกหลานส่งพ่อแม่ไปบ้านพักคนชรา
ปรากฏการณ์ทางสังคมที่ลูกหลานส่งพ่อส่งแม่ไปบ้านพักคนชราทำให้เกิดการโต้เถียงในวงกว้างว่าการกระทำดังกล่าวขัดกับหลักแนวคิดความกตัญญูหรือไม่ ทางหนึ่งคุณอาจไม่สามารถทำงานไปด้วยและดูแลพ่อแม่ไปด้วยได้ และในอีกทางจะต้องกตัญญูดูแลส่งจนปลายทาง (养老送终Yǎnglǎo sòngzhōng) ในทางกลับกันมีกระแสใหม่ที่สามารถยอมรับตรงส่วนนี้ได้และฝ่ายบิดามารดาเองก็ยินยอม การส่งพ่อส่งแม่ไปบ้านพักคนชรากลับถูกมองว่าไม่ต่างจากการส่งเขาไปเที่ยวไปพักผ่อน มีบ้านพักไม่ต่างจากโรงแรม มีกิจกรรมให้ทำ และมีผู้ที่สามารถให้การดูแลในกรณีที่เกินเรื่องฉุกเฉิน
ปรากฏการณ์สังคมผู้สูงอายุเป็นโจทย์ที่ประเทศทั่วโลกกำลังเร่งหาทางออก และในครั้งนี้บริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปได้ขัดกับชุดค่านิยมที่สังคมนั้นมีเช่นในแบบที่ผมยกเรื่องความกตัญญูขึ้นมา ก้าวสำคัญสู่การแก้ปัญหาคือการเข้าใจหลักแนวคิดที่แฝงอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของมนุษย์ ผมหวังว่าได้ช่วยให้ทุกท่านเข้าใจแนวคิดความกตัญญูในจีนปัจจุบันไม่มากก็น้อย
ข้อมูลอ้างอิง
สุวรรณา สถาอานันท์. (2562). ขงจื่อสนทนา. กรุงเทพฯ:โอเพ่น โซไซตี้.
Hello my old China: https://podcasts.apple.com/.../inside-china/id1447345793...
Goldin, P. (2020). The Art of Chinese Philosophy: Eight Classical Texts and How to Read Them. Princeton University Press.