สำนวนคำพูดที่ว่า “南米北面” คนเหนือกินบะหมี่ คนใต้กินข้าวนั้นไม่ใช่เป็นคำพูดที่เป็นทางการ แต่เป็นสำนวนภาษาพูดหรือคำสแลงมากกว่า ที่คนจีนทั่วไปใช้พูดกัน ซึ่งชาวจีนมักใช้สำนวนคำพูดนี้เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ทางภูมิศาสตร์ระหว่างจีนตอนใต้กับจีนตอนเหนือ เดิมทีมีการสันนิษฐานว่าอาจมีต้นกำเนิดมาจากการพยายามที่จะอธิบายลักษณะทางภูมิศาสตร์ง่าย ๆ เพื่อให้คนจีนทั่วไปหรือชาวต่างชาติเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานของภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมจีน
โดยปกติแล้วคนจีนอาจใช้สำนวนนี้ในการสื่อสารทั่วไปเพื่อบอกเป็นนัยว่าประเทศจีนนั้นมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ภูมิประเทศ วัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันถึงแม้จะได้ชื่อเรียกว่า “คนจีน” เหมือนกันก็ตาม ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและชัดเจนในการอธิบายที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมของคนจีนเพื่อช่วยให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างจีนทางตอนใต้กับจีนทางตอนเหนือ
เมื่อศึกษาเกี่ยวกับประเทศจีนจะเห็นได้ว่า สภาพทั่วไปแล้วภาคใต้ของจีนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหลัก เพราะข้าวทางภาคใต้มีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์และมีสภาพแบบชื้น มีแม่น้ำสำคัญหลายสาย มีฝนตกต้องตามฤดูกาล จึงทำให้สามารถผลิตข้าวได้ปีละสองครั้ง แต่ข้าวในภาคเหนือของจีนสามารถผลิตได้ปีละครั้งเพียงเท่านั้น และพื้นที่สามารถปลูกข้าวได้เมื่อเทียบกับทางภาคใต้แล้วนั้นมีไม่มาก นอกจากนี้ดินดำในภาคใต้ของจีนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ข้าวที่ปลูกนั้นพื้นที่ทางภาคใต้ของจีนในอดีตยังเคยใช้เป็นเครื่องบรรณาการต่อกษัตริย์ ซึ่งถูกขนามนามว่า “ข้าวบรรณาการ” และข้าวทางภาคใต้ของจีนจึงเป็นข้าวที่อร่อยที่สุดในประเทศจีน
อีกประการหนึ่ง คนจีนตอนใต้คิดว่าคนจีนทางตอนเหนือทุกคนกินบะหมี่ เพราะทางตอนเหนือมีความแห้งแล้งและแหล่งน้ำน้อยกว่าทางใต้ นอกจากจะปลูกข้าวได้จำนวนไม่มากเท่าภาคใต้แล้ว อากาศก็ยังมีส่วนสำคัญในการปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตดีอีกด้วย อีกทั้งการรับประทานบะหมี่ที่น้ำซุปร้อน ๆ สามารถคลายหนาวได้ดีกว่าการรับประทานข้าวสวยร้อน ๆ แน่นอน ทั้งนี้พื้นที่ภาคเหนือของจีนเน้นการปลูกข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี ที่เป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อยและทนหนาวได้ดี
จากผลสำรวจและศึกษาวิจัยพบว่า คนจีนทางตอนเหนือเมื่อเดินทางไปในประเทศจีนที่ใดก็ตาม มักจะสั่งบะหมี่มากกว่าสั่งข้าวมารับประทาน เช่น คนจากมณฑลซานตงและที่อื่นๆ ทางเหนือยังคงคุ้นเคยกับการกินบะหมี่อยู่ ถึงแม้จะเดินทางไปเที่ยวยูนนานที่อยู่ทางตอนใต้ของจีนก็ตาม แต่เมื่อคนทางตอนใต้ของจีนเดินทางไปทางเหนือของจีนก็มักจะสั่งข้าวมากกว่าบะหมี่เช่นกัน ถึงแม้บางครั้งในทางตอนเหนือของจีนจะมีร้านบะหมี่มากกว่าร้านข้าวก็ตาม ทั้งนี้จึงเกิดความเชื่อว่าเป็นแบบนี้จริง ๆ ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วการจะรับประทานอะไรนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าจะอาศัยอยู่ทางใต้หรือทางเหนือของจีน แต่มันขึ้นกับความเคยชิน ความสะดวกและความอยากรับประทานมากกว่า ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจที่มาของสำนวนคำพูดที่ว่า “คนเหนือกินบะหมี่ คนใต้กินข้าว” ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นจึงขออธิบายด้วยเหตุผลและวัฒนธรรมที่สอดคล้องกันกับการรับประทานข้าวและบะหมี่ดังต่อไปนี้
1.คนเหนือกินบะหมี่ 北方人吃面 สื่อความหมาย “อายุยืนยาว” 长寿命
ภูมิอากาศ: สภาพอากาศในฤดูหนาวทางตอนเหนือของจีนมักจะเย็นและแห้ง ส่วนอาหารประเภทเส้นหรือแป้งแผ่น เช่น บะหมี่ เกี๊ยว ฯลฯ มักจะให้คาร์โบไฮเดรตจำนวนมาก ให้ความร้อนและพลังงาน และช่วยให้ร่างกายอบอุ่นและตอบสนองความต้องการพลังงานในฤดูหนาว การรับประทานบะหมี่ร้อนๆ ยังให้ความรู้สึกอบอุ่นแก่ผู้รับประทานอีกด้วย
ปรับให้เข้ากับสภาพทางภูมิศาสตร์: สภาพแวดล้อมการผลิตทางการเกษตรในภาคเหนือเหมาะสำหรับการเพาะปลูกข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์และธัญพืชอื่น ๆ ธัญพืชเหล่านี้สามารถทำเป็นเส้นหรือแป้งได้ ดังนั้นการทำและรับประทานบะหมี่จึงค่อนข้างพบได้ทั่วไปในภาคเหนือ
ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม: วัฒนธรรมการรับประทานบะหมี่ในภาคเหนือของจีนมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทางภาคเหนือมีวิธีทำและรับประทานบะหมี่แบบดั้งเดิมหลายวิธี เช่น บะหมี่โกน บะหมี่ราเมง บะหมี่ผัด เกี๊ยว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นอาหารรสเลิศที่ได้รับการพัฒนาและสืบทอดมาเป็นเวลานาน
สะดวกและรวดเร็ว: โดยทั่วไปแล้วบะหมี่จะทำและปรุงง่าย และเตรียมได้รวดเร็ว ซึ่งเป็นที่นิยมโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวในภาคเหนือ นอกจากนี้บะหมี่ยังเหมาะอย่างยิ่งสำหรับซื้อกลับบ้านและกลายเป็นอาหาร “ฟาสต์ฟู้ด” แบบจีน ซึ่งทำได้ง่ายและรวดเร็ว สอดคล้องกับความเร่งรีบของชีวิตคนเมืองสมัยใหม่
2.คนใต้กินข้าว 南方人吃米 สื่อความหมาย “กลมเกลียวเหนียวแน่น” 和谐凝聚
ภูมิอากาศ: ภูมิอากาศทางตอนใต้ของประเทศจีนค่อนข้างอบอุ่นและชื้นซึ่งเหมาะสำหรับการปลูกข้าว ข้าวเป็นพืชที่ให้ผลผลิตสูงที่สามารถปลูกได้ในนาข้าวชื้นที่มีน้ำ ดังนั้นข้าวจึงมีบทบาทสำคัญในการผลิตทางการเกษตรในจีนตอนใต้
ภูมิศาสตร์: จีนตอนใต้อุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำ รวมถึงแม่น้ำ ทะเลสาบ และอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำเหล่านี้ให้น้ำชลประทานปริมาณมาก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูกข้าว ข้าวจึงกลายเป็นพืชอาหารหลักของภาคใต้
ประเพณีเกษตรกรรม: การเพาะปลูกข้าวมีประเพณีทางประวัติศาสตร์มายาวนานในจีนตอนใต้ เทคนิคและความรู้ทางการเกษตรที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นโดยเกษตรกรในจีนตอนใต้ มักจะเกี่ยวข้องกับแง่มุมต่างๆ เช่น การเพาะปลูกข้าวและการเก็บเกี่ยวข้าว
วัฒนธรรมอาหาร: วัฒนธรรมอาหารในจีนตอนใต้มีความเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับข้าว ข้าวเป็นอาหารหลักบนโต๊ะในภาคใต้ ผู้คนมักรับประทานกับข้าวและกับข้าวต่างๆ เช่น กวางตุ้ง เสฉวน ฝูเจี้ยน และรูปแบบการปรุงอาหารอื่นๆ ในภาคใต้ล้วนใช้ข้าวเป็นอาหารหลัก นอกจากนี้การทำอาหารที่รับประทานคู่กับข้าวก็ยังมีขั้นตอนพิถีพิถันอีกด้วย
พกพาสะดวก: ข้าวสามารถพกพาและจัดเก็บได้ง่าย เพราะเมื่อปรุงสุกแล้วจะมีความเหนียวไม่มีน้ำ ทำให้เหมาะเป็นอาหารเวลาทำงานหรือเดินทาง ลักษณะนี้ยังสะท้อนให้เห็นในการขนส่งทางน้ำและวัฒนธรรมการประมงของภาคใต้ด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
He, L. (2013). A brief analysis of the differences between the north and the south of Chinese culture - taking the historical and geographical environment of "Introduction to Chinese Culture" as an example. Chongqing: Chongqing Normal University.
Ye, D. (2022). 15 cultural differences between north and south China. Digest of Party and Government Cadres, 7, 38.
Zhang, J. & Qiao, Y. (2018). Does growing wheat cultivate the individualistic culture of northern China. Journal of Guiyang University(Social Sciences), 15, 32-39.
平安无事好. (2023, March 27). 都说“南米北面”,为什么南方人和北方人主食习惯差异这么大呀?.https://www.sohu.com/a/659581253_121648709