จิ้งจอกเก้าหางปรากฎในหนังสือวรรณกรรมซานไห่จิง(山海经) หนังสือเล่มนี้ได้ประพันธ์ขึ้นเมื่อ 221 ปีก่อนคริสตกาลโดยถือเป็นวรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดที่ได้บันทึกเรื่องราวของจิ้งจอกเก้าหางเอาไว้ ในหนังสือมีประโยคหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า “ถัดไปสามร้อยลี้จะเป็นภูเขาที่ชื่อว่าชิงชิวในดินแดนแห่งนั้น มีสัตว์ป่าที่มีลักษณะเหมือนจิ้งจอกแต่มีเก้าหางมีเสียงร้องดั่งทารกสามารถกินคนและหากผู้ใดได้กินเนื้อ ของจิ้งจอกเก้าหางจะทำให้ไม่โดนมนต์สะกดหรือหลุดออกจากอำนาจมนต์สะกดของสิ่งชั่วร้าย” แสดงให้เห็นว่าจิ้งจอกเก้าหางเป็นสัตว์ที่มีลักษณะเป็นสัตว์ป่าดุร้ายสามารถกินคน และหากได้กินเนื้อจิ้งจอกเก้าหางจะทำให้หลุดพ้นจากอำนาจชั่วร้ายได้
นอกจากนี้ในหนังสืออู๋เยวี่ยชุนชิว (吴越春秋) ในสมัยตงฮั่นซึ่งถือเป็นพงศาวดารอิงประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ของจีน ในหนังสือก็ได้กล่าวถึง “ต๋าอวี๋อายุได้สามสิบแล้วแต่ยังไม่ได้แต่งงาน ต๋าอวี๋จึงได้กล่าวรำพึงว่าการแต่งงานของข้า จะต้องมีลางบอกสิ ทันใดนั้นจิ้งจอกเก้าหางสีขาว ก็ได้ปรากฎต่อหน้าให้ต๋าอวี๋ ต๋าอวี๋จึงกล่าวว่า ในบทเพลงถูซานได้กล่าวไว้หากผู้ใดได้เจอจิ้งจอกเก้าหางถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีต่อไป จะได้เป็นถึงกษัตริย์หรือเจ้าเมือง ซึ่งต่อมาต๋าอวี๋ก็ได้แต่งงานกับเจียวซึ่งเป็นหญิงสาวในถูซาน” จากประโยคนี้ แสดงให้เห็นว่าในสมัยก่อน คนที่อาศัยอยู่ในถูซานมีความเชื่อว่าหากใครได้พบเห็นจิ้งจอกเก้าหาง ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีและทำให้ได้เป็นกษัตริย์และการที่ต๋าอวี๋ได้เจอจิ้งจอกเก้าหางถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีทำให้สมหวังในการแต่งงาน
ในสมัยฮั่นสถานะของจิ้งจอกเก้าหางถือเป็นสัตว์เทพชั้นสูง ชาวฮั่นนิยมในการให้ความเคารพและนับถือซีหวังหมู่ ด้วยความเชื่อว่าเป็นเทพหญิงที่มี ยาอายุวัฒนะที่ทำให้ไม่แก่ไม่ตาย ในสุสานฮั่นจึงมักพบภาพสลักหินที่เป็นรูปของซีหวังหมู่เป็น การแสดงถึงความเป็นอมตะ เป็นผู้นำวิญญาณของผู้ตายไปสู่โลกหน้า ไม่เจ็บไม่ตายและกลายเป็นเทพ โดยในรูปของซีหวังหมู่ที่ปรากฎในสุสานมักจะมีสัตว์เทพที่คอยรับใช้ซีหวังหมู่ปรากฎอยู่ร่วมด้วย อาทิ จิ้งจอกเก้าหาง นกสามขา นกฟีนิกส์ กระต่ายหยก คางคกสามขาฯลฯ อยู่ข้างกาย ดังนั้นในยุคสมัยฮั่น สถานะของสัตว์เทพข้างกายของซีหวังหมู่จึงสูงมาก โดยจิ้งจอกเก้าหาง บนภาพสลักหินในสุสานฮั่น เป็นตัวแทนของความเป็นสิริมงคล และมีหน้าที่ช่วยนำวิญญาณของผู้ตาย ไปยังแดนสวรรค์ของซีหวังหมู่
ส่วนหางของจิ้งจอกเก้าหางที่มีหลายหางถึง 9 หางนั้นหมายถึงการมีลูกมาก ซึ่งในสมัยโบราณ การมีบุตรเยอะถือเป็นลางดี เนื่องจากในสมัยก่อนความรู้ ทางด้านการแพทย์และวิทยาการยังไม่เจริญ ก้าวหน้าดังเช่นปัจจุบัน หากเกิดโรคระบาด หรือเกิดอุบัติเหตุ ร้ายแรงทำให้บุตรเสียชีวิตแล้ว มีบุตรเพียงคนเดียวหรือบุตรน้อยอาจทำให้หมดวงศ์ตระกูล จึงทำให้คนสมัยก่อนมีความเชื่อว่า การมีลูกเยอะถือเป็นสิริมงคลแก่ครอบครัว และการที่จิ้งจอกมี 9 หาง นอกจากจะหมายถึงความ อุดมสมบูรณ์ ยังมีความหมายของการสืบพันธุ์ หากดูจากการออกลูกของ สุนัขจิ้งจอกมักจะมีลูกดก ออกลูกครั้งละหลายตัว และสรีระของสุนัขจิ้งจอกตัวเมียช่องคลอดของสุนัขจิ้งจอกจะอยู่ใกล้กับหาง ดังนั้นคนสมัยโบราณจึงเชื่อว่าหากจิ้งจอกมีหางที่มากขึ้น จะทำให้มีช่องคลอดที่มากขึ้นตาม แล้วจะทำให้มีลูกมากขึ้น และตัวเลข 9 ก็ถือเป็นธาตุหยาง ซึ่งหมายถึงผู้ชาย ดังนั้น เลขเก้า และ ธาตุหยาง จึงหมายถึงการมีทายาทหรือการสืบพันธุ์
จากภาพสลักหินที่เป็นรูปจิ้งจอกเก้าหางที่ปรากฎ ในสุสานพบว่ามีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทแรกภาพจิ้งจอกเก้าหางปรากฎอยู่ข้างกายซีหวังหมู่ ส่วนใหญ่ซีหวังหมู่จะปรากฎอยู่ ส่วนกลางของรูปและข้างกายของซีหวังหมู่ นอกจากจะมีจิ้งจอกเก้าหางแล้ว มักปรากฎร่วมกับ สัตว์เทพอื่นๆด้วย อย่างกระต่ายหยก นกสามขา คางคกสามขาเป็นต้น
ส่วนประเภทที่สองที่พบในสุสาน จะเป็นภาพสลักหินที่เป็นรูปจิ้งจอกเก้าหาง ปรากฎอยู่กับนกสามขา หรือนกเทพประเภทอื่น สาเหตุที่ปรากฎภาพนกคู่กับจิ้งจอก เนื่องมาจากในสมัยราชวงศ์ฮั่น ได้เริ่มมีการแพร่หลายในการทำนาย โดยจิ้งจอกเก้าหางมีความหมายเป็นสิริมงคล มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉิน ซึ่งหากดูในหนังสือพวกคำทำนาย และหนังสือเสี้ยวจิงหยวนเสินชี่(孝经援神契) จะมีการกล่าวถึง จิ้งจอกเก้าหางไว้ว่า “นกและสัตว์ที่มี คุณธรรมที่สุดจะมีจิ้งจอกเก้าหางอยู่ข้างกาย” นอกจากนี้หนังสือหลี่จี้(礼记)ในยุคซีฮั่นยังได้บันทึกไว้ว่า “เมื่อจิ้งจอกเก้าหางตาย มันจะหันหัว ไปทางรังที่มันเกิด” ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงคุณธรรมและเป็นการเปรียบเปรยถึงการไม่ลืมในรากเหง้า ของตัวเอง ในช่วงราชวงศ์ฉินและฮั่น สถานะของจิ้งจอกเก้าหางจึงสูงมาก กลายมาเป็นเทพและเป็นตัวแทน ของความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ
ในยุคต่อมามีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการอ่านอักษรโบราณท่านหนึ่ง ได้ตีความในจารึกผิดไป เนื่องจากอักษรเลือนลางทำให้ความหมายของจิ้งจอกในแง่ดีกลายเป็นแง่ร้าย บวกกับยุคราชวงศ์หลังๆ อย่างราชวงศ์ถังและราชวงศ์เป่ยซ่ง ภาพลักษณ์ของจิ้งจอกเก้าหางก็ได้เปลี่ยนไป ทำให้ภาพลักษณ์ ของจิ้งจอกเก้าหางกลายมาเป็นปีศาจที่อันตราย หรือสัตว์ประหลาดที่ถูกคนเกลียดชัง และสามารถ แปลงร่างเป็นหญิงงามมีเสน่ห์ยั่วยวน และจากภาพลักษณ์ของจิ้งจอกที่สามารถแปลงร่างเป็นหญิงได้ โดยวรรณกรรมในยุคหลังที่โด่งดังในแง่ไม่ดีอย่างห้องสิน(封神榜/封神演义)ในสมัยราชวงศ์หมิง ในคริสตศักราชที่ 1550 ภาพลักษณ์ของจิ้งจอกเก้าหางคือปีศาจที่รับใช้เทพหนี่วา ได้ถูกเจ้าแม่หนี่วา สั่งให้ไปทำให้กษัตริย์โจ้วหวังลุ่มหลงจนละเลยงานราชกิจเพื่อให้ประเทศล่มจม โดยภาพลักษณ์ของ จิ้งจอกเก้าหาง ได้กลายมาเป็นปีศาจเต็มตัวสามารถสิงร่างมนุษย์ได้ มีความงดงามและมีเสน่ห์ ยั่วยวนให้ผู้คนลุ่มหลงได้ ในปัจจุบันก็ยังมีวรรณกรรมที่เกี่ยวกับจิ้งจอกเก้าหางออกมาเรื่อยๆ แต่ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของจิ้งจอกเก้าหางมีความหลากหลาย และมีความหมายทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย