เชื่อว่าหลายคนที่เรียนภาษาจีนเคยเรียนคำว่า “了” กันมาบ้างแล้ว บางคนเรียนวันแรกก็อาจจะได้พูดประโยคนี้เลย อย่างเช่น“我吃饭了。ฉันกินข้าวแล้ว ”แต่พอเริ่มเรียนในระดับที่สูงขึ้นก็จะพบว่ามีการใช้“了”ในอีกหลายรูปแบบ เช่น
1. 我吃了饭,就去看电影。ฉันกินข้าวแล้วก็ไปดูหนัง (กินแล้วไปดูหนังต่อทันที)
2. 我吃了两碗饭。ฉันกินข้าวไปสองชามแล้ว (การกินเกิดขึ้นและจบลงแล้ว)
3. 我吃了两碗饭了。ฉันกินข้าวไปสองชามแล้ว (อาจจะกินต่อไปอีก)
จะเห็นได้ว่าประโยคเหล่านี้มีการวางตำแหน่ง “了” ที่แตกต่างกันและสื่อความหมายต่างกัน ซึ่งนี่เป็นเหตุผลของมิติทางไวยากรณ์ การเรียนไวยากรณ์จีนให้ครบถ้วนจะต้องเรียนทั้งด้านการสื่อความหมาย การเรียงลำดับคำ และบริบทที่ใช้จริง หรือที่เรียกว่าไวยากรณ์เชิงสามมิติ(三维语法)จริงๆ แล้ว “了” จะมีรูปแบบทางไวยากรณ์ที่หลากหลายมาก ข้อมูลจากหนังสือด้านไวยากรณ์ที่เป็นที่ยอมรับมายาวนานที่ชื่อว่า《现代汉语八百词》ซึ่งได้ให้คำอธิบายไว้ถึง 8 รูปแบบเลยทีเดียว ซึ่งในบทความนี้จะขอนำเสนอรูปแบบพื้นฐานที่สุดเพียง 3 รูปแบบ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปปรับใช้ได้และไม่ยากจนเกินไป
1. ประโยค + 了。 การวาง “了” ไว้ท้ายประโยคแสดงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เสร็จสิ้นไปแล้วหรือมีเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว
- 我吃饭了。ฉันกินข้าวแล้ว (ประโยคนี้แสดงความหมายว่าเรื่องๆ นี้ได้เกิดขึ้นไปแล้วหรือเสร็จสิ้นไปแล้ว)
- 树叶红了。ใบไม้แดงแล้ว (ก่อนหน้านี้ใบไม้ไม่เป็นสีแดง ขณะพูดประโยคนี้ใบไม้เปลี่ยน เป็นสีแดงแล้ว)
- 他不爱我了。เขาไม่รักฉันแล้ว (เขาเคยรักฉันมาก่อน แต่ตอนนี้เขาเปลี่ยนใจไม่รักฉันแล้ว)
2. V + 了 + ……。แสดงถึงเหตุการณ์ที่จบลงแล้ว และอาจจะบอกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องด้วย
- 我吃了两碗饭。ฉันกินข้าวไปสองชามแล้ว (กินเสร็จแล้ว)
- 我学了两年汉语。ฉันเรียนภาษาจีนสองปีแล้ว (เรียนจบไปแล้ว)
- 我吃了饭,就去看电影。ฉันกินข้าวแล้วก็ไปดูหนัง (กินแล้วไปดูหนังต่อทันที)
ประโยคนี้เป็นการวาง “了” ไว้หลัง V ซึ่งบอกว่าเหตุการณ์นี้จบลง และยังสามารถบอกถึงการเกิดอีกเหตุการณ์หนึ่งต่อเนื่องทันที ซึ่งกรณีมีเหตุการณ์ต่อเนื่องทันทีนี้ เราจะวาง “了” ไว้หลังคำกริยา จะไม่วางที่ท้ายประโยค
3. V + 了 + …… + 了。โครงสร้างนี้มี “了” อยู่ด้านหลังกริยาและท้ายประโยค แสดงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและยังคงดำเนินต่อเนื่อง
- 我吃了两碗饭了。ฉันกินข้าวสองชามแล้ว (อาจจะยังเกิดการกินต่อได้)
- 我学了两年汉语了。ฉันเรียนภาษาจีนสองปีแล้ว (อาจจะเกิดการเรียนต่อเนื่องไปอีกได้)
สองประโยคนี้แสดงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และยังคงดำเนินต่อเนื่องไปอีก ซึ่งเป็นผลมาจากความหมายของ “了” ตัวที่อยู่ท้ายประโยคนั่นเอง รูปประโยคนี้หากใช้ลำพังไม่มีบริบทอื่นมาเกี่ยวข้อง การเติม “了” ที่ท้ายประโยคหรือไม่นั้นอาจจะไม่ทำให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจน แต่หากเรานำไปอยู่ในบริบทที่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นการกระทำที่จะเกิดขึ้นต่อไปอีก ก็จะเห็นได้ชัดเจนถึงความจำเป็นของ“了” ที่อยู่ท้ายประโยคนี้ เช่น
A:你还在中国学习汉语吗?เธอยังเรียนภาษาจีนอยู่ที่จีนไหม
B:是的,我学了两年汉语了。ใช่ ฉันเรียนภาษาจีนมาสองปีแล้ว
จากการสนทนาในบริบทนี้บ่งบอกชัดเจนว่า B ยังคงเรียนอยู่ที่ประเทศจีนในปัจจุบัน ซึ่งการพูดประโยคนี้จะต้องมี “了”อยู่ท้ายประโยคอย่างแน่นอน เพื่อแสดงความหมายว่าเหตุการณ์ยังคงมีการดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างการใช้ “了”ทั้งสามรูปแบบนี้ถือเป็นพื้นฐานที่ครอบคลุมการใช้ “了” ส่วนใหญ่ในประโยคภาษาจีน ซึ่งเพียงพอต่อการที่ผู้เรียนระดับเริ่มต้นถึงระดับกลางจะใช้ทำความเข้าใจการใช้ในรูปแบบต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตามหากผู้เรียนสนใจและชอบการเรียนเรื่องไวยากรณ์ก็สามารถหาความรู้เพิ่มเติมในระดับที่สูงขึ้นได้จากหนังสือ ตำราด้านไวยากรณ์ หรือบทความวิจัย บทความวิชาการต่างๆ ที่เขียนเกี่ยวกับไวยากรณ์จีนได้
ข้อมูลอ้างอิง
Lv, Sh.X., (2004) Xiandai Hanyu Babai Ci [现代汉语八百词]. Beijing: The Commercial Press.