ครอบครัวเดียวกัน: เรื่องเล่าผ่านเลนส์และแผ่นฟิล์ม

หมวดหมู่ข่าว: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนมิถุนายน 2567

เรื่อง ครอบครัวเดียวกัน: เรื่องเล่าผ่านเลนส์และแผ่นฟิล์ม

โดย อาจารย์รัชฎาพรรณ วงษ์เลี้ยง (อาจารย์ประจำสำนักวิชาจีนวิทยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)

     ในยุคที่สื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร สะท้อนปัญหา ส่งผ่านความคิดและอุดมการณ์ของผู้คนในสังคมได้อย่างรวดเร็วและเปิดกว้าง ภาพยนตร์ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของสื่อที่ถูกคัดสรรให้ทำหน้าที่ส่งสารบางอย่างผ่านเรื่องราวของตัวละคร เสมือนเป็นกระจกเงาบอกเล่าประสบการณ์ พาผู้ชมย้อนไปสัมผัสกับบางช่วงเวลาของประวัติศาสตร์จากเรื่องเล่าในโลกเสมือน หรืออาจจะสร้างพื้นที่จินตนาการร่วมกันของคนดู นอกจากนี้ภาพยนตร์ไม่เพียงแต่จะพาเราสนุกเพลิดเพลินไปกับตัวละครที่มีชีวิตชีวาและถ่ายทอดเรื่องราวที่หลากหลายแล้ว ทั้งยังเป็นสื่อกลางที่จะทำให้เราได้มองตัวตนและสัมผัสกับความคล้ายคลึง ความแตกต่าง ความหลากหลายของอัตลักษณ์วัฒนธรรมที่ที่ซ่อนอยู่ในเบื้องหลังภาพยนตร์อีกด้วย

     ช่วงต้นเมษายนที่ผ่านมา GDH559 บริษัทผลิตภาพยนตร์ไทยได้นำเสนอภาพยนตร์แนวครอบครัว ‘หลานม่า’《姥姥的外孙》ให้โลดแล่นบนจอเงินในช่วงเวลาของการฉลองเทศกาลชิงหมิงเจี๋ย (清明节) หรือที่คนไทยติดปากเรียกว่าเทศกาล ‘เช็งเม้ง’ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีเพราะคนไทยเชื้อสายจีนมักรวมตัวกันในเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ตามประเพณีจีนดั้งเดิม เช่น ตรุษจีน เช็งเม้ง งานเทกระจาด เป็นต้น ซึ่งเวลาของ ‘หลานม่า’ สอดคล้องกับช่วงเทศกาลเช็งเม้งพอดี ทำให้ ‘หลานม่า’ ได้มีโอกาสพาหลาย ๆ คนที่เกิดและเติบโตมาในครอบครัวที่มีความเป็นจีนได้กลับไปรื้อฟื้นความทรงจำในชีวิตของตนเองผ่านกิจวัตรประจำวันของสมาชิกในครอบครัวของ ‘ม่า’และ‘เอ็ม’ เรื่องเล่าที่แสนจะเรียบง่ายนี้บางช่วงก็นำพาเราให้เชื่อมโยงกับ ‘คนที่บ้าน’ ได้อีกครั้ง นับจากวันที่เข้าฉายถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 67 เป็นเวลา 39 วัน ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้ภาพยนตร์ไทยรวมทั่วประเทศแล้วประมาณ 318.7 ล้านบาท ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองว่าภาพยนตร์แนวครอบครัวได้สร้างกระแสให้คนต่างรุ่นจูงมือกันไปชมภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก ‘หลานม่า’ ไม่เพียงแต่สะท้อนวิธีคิด วิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายจีน สายตระกูล จารีตกับความแตกต่างระหว่างชายหญิง พิธีกรรมและความเชื่อดั้งเดิมของชาวไทยเชื้อสายจีนที่เราพบเจอได้ทั่วไปในสังคมแล้ว สิ่งที่น่าสนใจกว่ารายละเอียดทางวัฒนธรรมที่ผู้สร้างภาพยนตร์นำเสนอให้เห็นภาพแทนความเป็นจีนเหล่านั้นก็คือการชวนให้คนดูได้ ‘ขบคิด’ ถึงความหมายของความเป็นครอบครัวเชื้อสายจีนในปัจจุบัน สายใยที่ยึดโยงสายสัมพันธ์ความเป็นจีน (ชาวไทยเชื้อสายจีน) แน่นอนว่าไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แนวคิดครอบครัวของคนที่มีเชื้อสายจีนยังคงเป็นรากของชีวิตที่ไม่ได้เลือนหายไปตามกาลเวลาเสียทีเดียว แต่มันถูกผลิตซ้ำด้วยกระบวนการและรูปแบบที่แตกต่างกันแค่นั้นเอง มาลองนึกย้อนดูปัจจุบันนี้ ภาพยนตร์จีนก็ไม่ได้นำเอาศิลปะการป้องกันตัวกังฟู (功夫) มาเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมจีนผ่านภาพยนตร์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว

     ปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนมีแนวทางทางการผลิตภาพยนตร์ที่หลากหลาย และยังได้รับการส่งเสริมการพัฒนาทางเทคโนโลยีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายทางวัฒนธรรม ยกตัวอย่าง ปี 2019 จีนได้นำเสนอภาพยนตร์เรื่อง ‘ปฏิบัติการฝ่าสุริยะ’《流浪地球1》และปี 2023 ได้ส่งภาคต่อ ‘ฝ่ามหันตภัยเพลิงสุริยะ’《流浪地球2》ออกสู่สายตาผู้ชมทั่วโลก และยังมีอีกหลายเรื่องที่ทำให้เราเห็นกระแสการเปลี่ยนแปลงทิศทางการผลิตภาพยนตร์จีนที่จากเดิมเน้นส่งเสริมเอกลักษณ์ด้วยศิลปะกังฟู ปัจจุบันมุ่งสร้างเอกลักษณ์ใหม่ที่สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีตามยุคสมัย ยกตัวอย่างเรื่อง ‘ปฏิบัติการฝ่าสุริยะ’ ภาพยนตร์แนวไซไฟ (科幻题材电影) เชิงพาณิชย์ของจีนที่ต้องใช้เทคนิคสูงมาก แต่บริษัทผลิตภาพยนตร์จีนก็สามารถสร้างให้ภาพยนตร์ดูสมจริง สร้างความมั่นใจในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งสองเรื่องเป็นบอกเล่าถึงชะตากรรมร่วมกันมนุษย์ที่ต้องเผชิญหน้ากับ มหันตภัยครั้งใหญ่จากระบบสุริยะที่เสื่อมลง เมื่อโลกหยุดหมุนและเกิดการแข็งตัว เพื่อให้มนุษย์รอดพ้นจากภัยพิบัติในครั้งนี้จำเป็นต้องคิดวิธีการติดตั้งเครื่องยนต์อวกาศหลายพันเครื่องตามแนวเส้นศูนย์สูตรเพื่อผลักโลกออกจากระบบสุริยะ ไม่ให้ปะทะชนกับดาวพฤหัสบดี แม้ในระยะเวลาจำกัดตัวเอกของเรื่องพบกับอุปสรรคมากมาย แต่ด้วยความร่วมมือจากรัฐบาลโลกและการเสียสละเพื่อส่วนรวมของนักวิทยาศาสตร์และนักบินอวกาศ ฯลฯ จนสามารถยั้งมหันตภัยในครั้งนี้ได้สำเร็จ

     ในภาพยนตร์เราเห็นฉากอันยิ่งใหญ่ที่มีความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรูปแบบต่าง ๆ ที่ต้องใช้จินตนาการในการรับชม แต่แม้เทคโนโลยีที่นำเสนอต่อสายตาผู้ชมจะให้ความรู้สึกถึงความล้ำสมัยเพียงใด ผู้ผลิตภาพยนตร์จีนก็ยังคงเผยแพร่วัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของจีนเข้าไปด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นในวันที่โลกจะต้องเผชิญหน้ากับมหันตภัยร้ายเป็นช่วงเดียวกันกับที่เทศกาลตรุษจีนใกล้จะมาถึง ตัวเอกของเรื่องซึ่งทำหน้าที่บนสถานีอวกาศรอคอยเวลาที่จะกลับบ้านเพื่อร่วมเฉลิมฉลองปีใหม่กับคนในครอบครัว หรือฉากที่ ‘หล่าวหาน’ (老韩) ปู่ของตัวเอกที่ออกซิเจนในหมวกกำลังจะหมด กำชับให้หลิวฉี่ (刘启) พาหานตั๋วตั่ว (韩朵朵) น้องสาวกลับบ้านให้ได้ เห็นได้ว่าเทศกาลตรุษจีนคนที่อยู่ไกลบ้านจะได้กลับบ้านเพื่อฉลองเทศกาลด้วยกัน จุดนี้เองเทศกาลตรุษจีนมีบทบาทสำคัญที่ร้อยความผูกพันของคนในครอบครัวเข้าไว้ด้วยกัน ในช่วงเวลาที่จำกัดหลิวฉี่ (ตัวเอกของเรื่อง) ร่วมมือกับคนในทีมช่วยเหลือ พยายามทุกวิถีทางที่จะช่วย ‘โลก’ (地球) รอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ นี่เป็นการแสดงความรู้สึกความผูกพันของคนที่มีต่อ ‘พื้นที่’ นั่นเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการผูกติดกับดินที่ถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสังคมจีนเช่นกัน

     หากใครได้ชมภาพยนตร์ ‘ปฏิบัติการฝ่าสุริยะ’ และ ‘ฝ่ามหันตภัยเพลิงสุริยะ’ จะได้สัมผัสได้ถึงแนวคิดสำคัญเรื่องของความผูกพันของชาวจีนต่อบ้านเกิดและพื้นถิ่น (乡土情结) ที่ซ่อนในเรื่องราวได้อย่างชัดเจน ซึ่ง “乡” หมายถึง บ้านเกิด “土” หมายถึง ผืนดิน “情结” หมายถึง ความรู้สึกผูกพัน ความรู้สึกที่ลึกซึ้ง ในมโนทัศน์ของชาวจีนตั้งแต่สมัยโบราณนอกจากฟ้า/สวรรค์แล้ว ‘ดิน’ คือสิ่งที่คนจีนให้ความเคารพยกย่องเป็นอย่างมาก ซึ่งความผูกพันกับดินเกี่ยวข้องกับการผูกพันกับสายเลือด หากจะย้อนเส้นทางความเชื่อมโยงความผูกพันต่อพื้นถิ่น ก็อาจจะมองได้ตั้งแต่สมัยโบราณที่จีนเป็นสังคมเกษตรกรรม แบบแผนของชีวิตถูกจำกัดอยู่กับความเคยชินทางกายภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจึงดำเนินไปตามจังหวะของการทำงาน ดังภาษิตโบราณกล่าวว่า ‘ตื่นพร้อมตะวันขึ้น นอนพร้อมตะวันลับ’ (日出而作,日落而息) ผืนดินจึงกลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะพระอาทิตย์ขึ้นผู้คนออกไปทำงาน การทำงานก็คือไปทำนาปลูกข้าว ดินทำให้ข้าวและธัญพืชเจริญเติบโต ข้าวสามารถนำไปเลี้ยงคนได้ เมื่อคนกินอิ่ม ทำงานได้ ใช้ชีวิตต่อไปได้ สังคมก็พัฒนาต่อไป มนุษย์เราต้องพึ่งพาข้าวปลาอาหารในการยังชีพ ดังนั้นพื้นถิ่นใดให้ข้าวปลาอาหารได้ก็จะมีความสำคัญ เพราะทำให้คนในพื้นถิ่นเติบโต ผู้คนจึงคุ้นชินและก่อเกิดสำนึกรักและผูกพันกับพื้นถิ่นที่เติบโตมาอย่างเป็นธรรมชาติ

     ในสังคมจีน ความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุดก็คือเครือญาติ เครือญาติเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดจากการแต่งงานและมีบุตรหลาน ครอบครัวถูกทำให้เป็นสื่อกลางในการสร้างกลุ่มทางสังคมและจัดกลุ่มทางสังคม คนที่อยู่ในพื้นถิ่นเดียวกันก็จะมีความเป็นครอบครัวเดียวกัน ซึ่งในภาษาจีนคำว่า ‘ครอบครัว’ (家) ใช้ได้หลายแบบ เช่น คนที่บ้าน (家里人) คนของเรา (自家人) อาจจะรวมใครก็ได้ที่ต้องการดึงเข้ามาอยู่ในวงจรชีวิต และสามารถใช้คำนี้เพื่อบ่งบอกความสนิทกับเขาเหล่านั้น ซึ่งขอบเขตของคนของเรา (自家人) สามารถขยายออกหรือหดเข้า ขึ้นอยู่กับเวลาและพื้นที่ อาจจะใช้แบบทั่วไป หรือแม้กระทั่งหมายความว่าทุกคนที่อยู่ภายใต้ดวงอาทิตย์ดวงนี้ต่างเป็นครอบครัวเดียวกัน (เฟ่ย, 2553, 32)

     แนวคิดครอบครัวเดียวกัน เราจึงเห็นการปลูกฝังและส่งเสริมจริยธรรมในการอยู่ร่วมกันของชาวจีนที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือ การมีจิตใจที่เห็นแก่ส่วนรวม ซึ่งในสังคมมีทั้งที่เป็นปัจเจกบุคคลและมีทั้งอยู่รวมกันหมู่มาก เมื่อต้องเลือกประโยชน์ของบุคคลหรือของกลุ่ม ชาวจีนก็จะพิจารณาประโยชน์ของกลุ่มเป็นอันดับแรก นี่คือความหมายของแนวคิดการเน้นส่วนรวม หรือที่เรียกว่า คติมวลชน (集体主义) ภาพยนตร์ทั้งเรื่อง ‘ปฏิบัติการฝ่าสุริยะ’ และ ‘ฝ่ามหันตภัยเพลิงสุริยะ’ สะท้อนแนวคิดนี้ผ่านพฤติกรรมของตัวละครที่เน้นเรื่องของการเสียสละเพื่อส่วนรวม เพื่อที่จะรักษา ‘ครอบครัว’ ใหญ่เอาไว้ให้แก่ลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

     แม้ว่าในปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนจะเน้นความทันสมัยและวิวัฒนาการเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แต่ก็มักสอดแทรกแนวคิด ค่านิยมหลักของสังคมเรื่องการประกอบสร้าง “ครอบครัวเดียวกัน” ผ่านภาพยนตร์ไว้เช่นกัน เพราะค่านิยมเป็นหนึ่งในองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญ ที่จะกำหนดความสำเร็จของภาพยนตร์เชิงพาณิชย์ เนื่องจากต้องสื่อสารกับผู้คนทั่วไปจำนวนมาก จึงต้องท้าทายกับอารมณ์ร่วม สำนึกร่วมและค่านิยมที่คนส่วนมากให้การยอมรับซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ครอบครัว’ ก็เป็นหนึ่งในค่านิยมพื้นฐานของชาวจีนที่มีความสำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การสื่อสารความคิดและอุดมการณ์ผ่านภาพยนตร์จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างระบบวาทกรรมที่สอดคล้องกัน ซึ่งมีผลในการสร้างและเผยแพร่ภาพลักษณ์ของประเทศจีนในหลายมิติ นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างชุมชนแห่งอนาคตร่วมกัน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญจากการประชุม 2 สภาในปี 2021 อีกด้วย

ข้อมูลอ้างอิง

รายการอ้างอิง

เสี้ยวทง เฟ่ย. (2553). From the Soil [พื้นถิ่นแผ่นดินจีน สังคมวิทยาชนบทจีน] (พิมพ์ครั้งที่1). โครงการจัดพิมพ์คบไฟ.

Li, M.Y. (2019). Liulang Diqiu: Zhongguo kehuan dapian de leixinghua dianji [The Wandering Earth: The Genre' s Foundation of Chinese Sci-Fi Blockbuster]. Zhongguo Yishu, (2), 53-55.

Li, Y.F. (2020). Liulang Diqiu: Daguo kehuan zhangxian daguo qinghuai ["The Wandering Earth": Grand Science Fiction Showcases Grand National Sentiments]. Journal of Mudanjiang College of Education, (07),14-16.

Sun H.Q. (2023). Renlei mingyun gongtongti shiyu xia de jiaguo qinghuai: Dianying ‘Liulang Diqiu 2’ de Lunli Xushi [The Emotion of Family-Country from the Perspective of a Community with a Shared Future for Mankind: The Ethical Narration of Wandering Earth II]. Movie Review, (14), 50-54.

  • 37 ครั้ง