เมื่อเอ่ยถึง “ผีผา pípá” สิ่งแรกที่คุณนึกถึงคืออะไรนึกถึงผลไม้หรือว่าภูตผีใช่มั้ย? ไม่สิ มันล้วนไม่ใช่ “ผีผา” ที่ผู้เขียนต้องการสื่อนั้นคือเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง เป็นเครื่องดนตรีโบราณชนิดหนึ่งของจีนประเภทเครื่องสาย
เหตุใดเมื่อเอ่ยถึง “ผีผา” ทำให้หลายคนนึกถึงผลไม้ก่อนเป็นอันดับแรก นั่นเป็นเพราะในประเทศจีนมีผลไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่า “ผีผา枇杷” แล้วออกเสียงเหมือนกับคำว่า “ผีผา琵琶” ที่เป็นเครื่องดนตรีโบราณของจีน โดยมีตำนานกล่าวไว้ว่าในยุคราชวงศ์ฉิน มีฮ่องเต้พระองค์หนึ่งชื่นชอบผลไม้ที่เรียกว่า “ผีผา枇杷” เป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงออกคำสั่งให้ช่างประดิษฐ์เครื่องดนตรีสร้างเครื่องดนตรีขึ้นมาโดยมีรูปทรงเลียนแบบมาจาก “ผีผา枇杷” ที่เป็นผลไม้ของจีนนี้ และตั้งชื่อว่า “ผีผา琵琶” เช่นกัน
อันที่จริงแล้วตามบันทึกประวัติศาสตร์นั้น “ผีผา琵琶” ในตอนแรกได้ถูกเรียกว่า “พีปะ批把” หากดีดออกจากตัวผู้เล่นพร้อมกันสี่สาย โดยลักษณะการดีดนี้จะเรียก “พี批” และหากดีดเข้าหาตัวผู้เล่นพร้อมกันทั้งสี่สายจะเรียกการดีดในลักษณะนี้ว่า “ปะ把” ต่อมาได้มีการตั้งชื่อใหม่ว่า “ผีผา琵琶” ตามลักษณะของเรื่องดนตรี (ด้านบนของทั้งสองตัวอักษร王王ที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนพิณ)
เครื่องดนตรี “ผีผา” ในสมัยโบราณได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นักกวีสมัยราชวงศ์ถังนามว่า ไป๋จวีอี้ เคยบรรยายการบรรเลงผีผาและเสียงของผีผาเอาไว้ในบทกวีที่ชื่อ “ลำนำพิณผีผา”《琵琶行》โดยในเนื้อหาได้กล่าวว่า “สายทุ้มดังซู่ซ่าคล้ายสายฝนโหมกระหน่ำ สายเอกดังแผ่วเบาปานเสียงกระซิบกระซาบ เสียงสูงต่ำดังสลับดีดบรรเลงเพลงประสาน ดุจไข่มุกเม็ดน้อยใหญ่ตกกระทบลงบนจานหยก” (大弦嘈嘈如急雨,小弦切切如私语。嘈嘈切切错杂弹,大珠小珠落玉盘) นอกจากนี้ ในภาพวาดฝาผนังที่มีชื่อเสียงที่เมืองตุนหวงก็ปรากฏภาพวาดนางฟ้าที่กำลังถือผีผาในท่วงท่าอรชรงดงามหลายภาพ
อย่าได้ดูแคลนผีผาเชียว เพราะความมหัศจรรย์ของผีผานั้นสามารถทำให้ผู้คนเห็นภาพผ่านดนตรีบรรเลงในเนื้อเสียงและทำนองที่แตกต่างกัน อาทิเช่น
“บทเพลงวงล้อมสิบทิศ(十面埋伏)” เมื่อผู้บรรเลงเริ่มกรอสายโดยใช้นิ้วชี้ดีดทั้งสี่สายออกไปอย่างพร้อมเพรียง(扫) แล้วค่อยใช้นิ้วโป้งดีดกลับมา(拂) ในวินาทีที่เสียงดังขึ้นนั้น สงครามฉู่–ฮั่น(楚汉之战)ก็พลันเริ่มต้นขึ้นแล้ว หรือกระทั่งบทเพลง “วีรสตรีพี่น้องแห่งที่ราบสูง(草原英雄小姐妹)” เพลงนี้เองก็ได้ใช้วิธีดีดสาย(弹挑)อย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นถึงภาพหญิงสาวสองพี่น้องกำลังเลี้ยงแกะในที่ราบสูงกว้างใหญ่อย่างเบิกบาน และเมื่อเกิดลมพายุโหมกระหน่ำ ผู้บรรเลงจะใช้วิธีเอามือซ้ายเกี่ยวสายเส้นแรกเข้ากับสายเส้นที่สองเพื่อให้เกิดเสียงลมพายุกระหน่ำขึ้นมา ภาพที่อากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันก็เหมือนปรากฏออกมาตรงหน้าผู้ฟัง
ผลงานเด่นของผีผายังมีอีกมากมาย แต่มิได้หมายความว่าผีผาจะบรรเลงได้เฉพาะเพลงคลาสสิคเท่านั้น ผีผายังถูกใช้เล่นในแนวเพลงร็อคด้วย อาทิเช่น เพลง Aqueous Transmission ของวงอินคูบัส (Incubus) ในแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกเหนือจากนี้ ท่วงทำนองเสียงของผีผาสามารถเลียนเสียงของเครื่องดนตรีหลากหลาย จากประเทศต่างๆ ได้เช่นกัน อาทิเช่น พิณซีตาร์และกลองทับ บล้าของอินเดีย เครื่องสายซามิเซ็งของญี่ปุ่น เครื่องให้จังหวะทำจากไม้เรียกว่า คาสทาเน็ตของสเปน กีตาร์คลาสสิคและกีตาร์ไฟฟ้าของยุโรป และอื่นๆ
ครั้งหน้าถ้าหากมีคนพูดถึงเครื่องดนตรีผีผากับคุณ อย่าบอกเขาเชียวล่ะ ว่า“เคยกินแล้ว อร่อยมาก”
รายการอ้างอิง
หยาง ซูจิง, คมกริช กํารินทร์. (2022). การเรียนการสอนดนตรี ผีผา (Pipa) ในโรงเรียนประถมศึกษา เมืองกุ้ยโจว ประเทศจีน. วารสารดนตรีและการแสดง, 8(1), 48-58. https://so06.tci-thaijo.org/.../article/view/257446/173228
Man W. (2020).《琵琶史一件有中西血统的乐器》. https://www.lifeweek.com.cn/h5/article/
detail?artId= 102433
https://www.youtube.com/watch?v=OREC4lrkkl8