โครงสร้างประโยค “把” เป็นโครงสร้างในภาษาจีนที่มีลักษณะพิเศษและมีความซับซ้อน เนื่องจากในหลาย ๆ ภาษาไม่มีโครงสร้างลักษณะนี้ ภาษาไทยก็เช่นเดียวกัน “把” จึงเป็นประเด็นไวยากรณ์หนึ่งที่มีความยากสำหรับผู้เรียนชาวไทย และปัญหาที่ผู้เรียนประสบมากที่สุดคือไม่รู้ว่าจะใช้ประโยค “把” เมื่อไหร่จึงจะเหมาะสม และจะใช้อย่างไรให้ถูกต้องตามโครงสร้าง ในบทความนี้จึงขอนำเสนอหน้าที่และโครงสร้างของ “把” และเทคนิคการแต่งประโยค “把” อย่างถูกต้อง
1.หน้าที่และความสำคัญของโครงสร้างประโยค “把”
“把” เป็นคำบุพบท (介词) ตามหลักไวยากรณ์จีน คำบุพบท (介词) ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นส่วนประกอบหลักของประโยคได้ด้วยตนเอง ต้องมีกรรมตามหลัง เกิดเป็นวลีบุพบท (คำบุพบท+คำนาม) เพื่อทำหน้าที่เป็นส่วนขยายกริยาในประโยค (วางหน้ากริยา) การนำกรรมของกริยาหลักในประโยคยกมาวางอยู่หน้ากริยาได้นั้น จึงต้องอาศัย “把” ตัวอย่างประโยคเช่น “我写<完>作业了” แปลว่า “ฉันเขียน (ทำ) การบ้านเสร็จแล้ว” เป็นประโยคกริยาพื้นฐานที่ประกอบด้วย ประธาน (ฉัน,我) + กริยา (เขียน,写) + ส่วนเสริมกริยา (เสร็จ,完) + กรรม (การบ้าน,作业) ในประโยคนี้ กริยาหลักคือ 写 (เขียน) กรรมของกริยาหลักคือ 作业 (การบ้าน) เราสามารถเขียนเป็นประโยค “把” ได้ว่า “我【把作业】写 <完>了” จะเห็นได้ว่าเมื่อใช้ “把” เข้ามาช่วย ทำให้เราสามารถย้ายกรรมของประโยคมาอยู่หน้ากริยาได้ และทำให้ประโยคนี้ไม่มีส่วนกรรมเนื่องจากได้นำไปรวมกับ “把” และกลายเป็นวลีบุพบทแล้ว โครงสร้างประโยค “把” ยังใช้เน้นย้ำว่ากรรมในประโยคถูกจัดการและสุดท้ายมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีผลลัพธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังเช่นประโยคข้างต้น ที่เน้นว่าการบ้าน (作业) ถูกจัดการโดยกริยาหลักคือ “เขียน” (写) และผลลัพธ์ที่เกิดสุดท้ายที่เกิดขึ้นกับการบ้านคือ เสร็จแล้ว ทำให้เห็นว่าการบ้านถูกจัดการจนเกิดการเปลี่ยนแปลง จากที่ยังเขียนไม่เสร็จเป็นเขียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ ด้วยกฎไวยากรณ์ของภาษาจีนในบางโครงสร้าง จำเป็นต้องใช้ “把” เข้ามาช่วยให้เกิดเป็นประโยคที่ถูกต้องและสมบูรณ์มากขึ้น เช่น ประโยคที่มีส่วนเสริมกริยาบอกผลลัพธ์ (结果补语) 在,到,给 และ 成 ที่ได้วางเงื่อนไขไว้ว่า ส่วนเสริมกริยาบอกผลลัพธ์ต้องเสริมอยู่หลังกริยาหลักเท่านั้น โดยไม่สามารถนำส่วนอื่น ๆ เข้ามาแทรกกลางได้ ทำให้ต้องใช้ “把” เพื่อสามารถนำกรรมของกริยาหลักวางไว้หน้ากริยาหลักตัวนั้น ๆ ได้ เช่น 他【把咖啡】放 <在桌子上>。มีความหมายว่า เขาวางกาแฟไว้บนโต๊ะ ในประโยคนี้ ผู้กระทำคือ เขา (他) กริยาหรือ วาง (放) กรรมหลักของกริยาคือ บนโต๊ะ (在桌子上) คือส่วนเสริมกริยาบอกผลลัพธ์ ซึ่งประโยคนี้ไม่สามารถวางกรรมหลักคือ กาแฟ (咖啡) ไว้หลังกริยาหลัก (放) หรือหลังส่วนเสริมบอกผล (在桌子上) ได้ จึงนำมาวางไว้หน้ากริยาหลักโดยใช้ “把” เข้ามาช่วยนั่นเอง
2. เทคนิคการแต่งประโยค “把” และวิธีตรวจสอบความถูกต้องเบื้องต้น
ก่อนอื่นผู้เรียนต้องทราบก่อนว่า “把” ประกอบด้วย 5 ส่วนประกอบหลัก
ตารางตามรูปภาพ
* กรณีประโยคที่มีคำวิเศษณ์หรือกริยานุเคราะห์ขยายอยู่ด้วย ให้วางคำขยายเหล่านั้นไว้หน้า “把” เช่น
ตัวอย่างประโยคที่มีคำวิเศษณ์ขยายอยู่ด้วย
妈妈【没】把门关上。แม่ไม่ได้ปิดประตู
你【先】把手机放在桌子上。คุณวางโทรศัพท์ไว้บนโต๊ะก่อน
你【别】把小狗放出来。คุณอย่าปล่อยน้องหมาออกมานะ
ตัวอย่างประโยคที่มีคำกริยานุเคราะห์ขยายอยู่ด้วย
我【想】把自行车停在你家门口。ฉันอยากจะจอดจักรยานไว้หน้าบ้านคุณ
你【愿意】把你的心交给我吗?คุณยินดีมอบหัวใจของคุณให้ฉันหรือไม่
*กรณีประโยค “把” ที่มีส่วนขยายกริยาอื่นวางหน้ากริยาหลัก สามารถละ⑤ส่วนอื่น ๆ ได้ แต่ในที่นี้จะขอยังไม่กล่าวถึง
ต่อไปเรามาดูกันว่า วิธีการตรวจเช็คว่าประโยคที่แต่งถูกต้องหรือไม่ สามารถทำได้อย่างไร
ตรวจสอบว่ามีส่วนประกอบหลักครบทั้ง 5 ส่วนในประโยคหรือไม่ เช่น
①小王 ②把 ③我的午饭 ④吃 ⑤完了。
①我 ②把 ③你的手机 ④放 ⑤在桌子上。
ตรวจสอบว่าผู้กระทำเป็นผู้กระทำกริยาหลักในประโยคนั้นจริงหรือไม่ เช่น
妈妈把门关了。 (ผู้กระทำคือ “แม่”(妈妈)| กริยาหลักคือ “ปิด”(关)| “แม่” เป็นผู้ปิด √)
你把护照带着。 (ผู้กระทำคือ “คุณ”(你)| กริยาหลักคือ “พก”(带)| “คุณ” เป็นผู้พก √)
爸爸把小狗放出来了。(ผู้กระทำคือ “พ่อ” (爸爸)| กริยาหลักคือ “ปล่อย” (放)| “พ่อ” เป็นผู้ปล่อย √)
ตรวจสอบว่ากริยาหลักในประโยคเป็นกริยาที่ทำต่อผู้/สิ่งที่ถูกกระทำที่อยู่หลัง 把 จริงหรือไม่ เช่น
妈妈 把 门 关 了。 (กริยาหลักคือ “ปิด” (关)| ผู้/สิ่งที่ถูกกระทำคือ “ประตู” (门)| ประตูถูกปิด √)
你 把 护照 带 着。 (กริยาหลักคือ “พก”(带)| ผู้/สิ่งที่ถูกกระทำคือ “พาสปอร์ต” (护照)| พาสปอร์ตถูกพก √)
爸爸 把小狗 放 出来 了。(กริยาหลักคือ “ปล่อย” (放)| ผู้/สิ่งที่ถูกกระทำคือ “น้องหมา” (小狗)| น้องหมาถูกปล่อย √)
ตรวจสอบว่าผู้/สิ่งที่ถูกกระทำเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดผลลัพธ์อะไรหลังจากการจัดการหรือไม่ เช่น
你 把 这份文件 交 给李总。(สิ่งที่ถูกกระทำคือ “เอกสารฉบับนี้” (这份文件)การเปลี่ยนแปลงคือ เอกสารจะเกิดการเคลื่อนย้าย เปลี่ยนไปอยู่ในมือของประธานหลี่)
姐姐 把 我的衣服 洗 得很干净。(สิ่งที่ถูกกระทำคือ “เสื้อผ้าของฉัน” (我的衣服)การเปลี่ยนแปลงหรือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ จากเสื้อผ้าที่ไม่สะอาดกลายเป็นเสื้อผ้าที่สะอาดมาก)
รายการอ้างอิง
Ding, Ch. (2009). A course for Mandarin Chinese grammar. Beijing University Press.
Li, D. (2013). Analysis of foreign students in learning Chinese grammar. Beijing Language and Culture University Press.
Yang, J. (2016). Hanyu jiaocheng [汉语教程] (3nd ed.). Beijing Language and Culture University Press.