การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศจีน

หมวดหมู่ข่าว: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนสิงหาคม 2567

เรื่อง การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศจีน

โดย อาจารย์เอกชัย ทวีปวรชัย (อาจารย์ประจำสำนักวิชาจีนวิทยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)

     ปัจจุบันประเทศจีนได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ จากข้อมูลกรมสถิติแห่งชาติของจีน ปลายปี พ.ศ. 2566 ประเทศจีนมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 2.9 ร้อยล้านคน ซึ่งสวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด การรับมือกับสังคมสูงอายุโดยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในสังคมจีน เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 ของจีน หากศึกษากฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของผู้สูงอายุ จะพบว่ารัฐบาลจีนมีนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับสังคมสูงอายุหลากหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่รัฐบาลกลางให้ความสำคัญและมีข้อเสนอแนะต่าง ๆ ให้แต่ละมณฑลนำไปปฏิบัติ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีที่รักษาพยาบาล มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้และทักษะ มีบทบาทต่อสังคม และมีความสุข บทความนี้จะนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ สวัสดิการผู้สูงอายุ และการส่งเสริมด้านการศึกษาผู้สูงอายุในประเทศจีน

1. การส่งเสริมคุณภาพการดูแลผู้สูงอายุ

1.1 การอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ

     โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งในประเทศจีน มีการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการเข้ารับการรักษาพยาบาลของผู้สูงอายุ ตั้งแต่การให้บริการที่สะดวกรวดเร็ว การสร้างห้องพักที่สะดวกต่อการเข้าพักรักษา การสร้างห้องสุขาสำหรับผู้สูงอายุ การสร้างสถานที่ออกกำลังกายที่ป้องกันการลื่นล้ม เช่น ศูนย์สุขภาพจิตแห่งหนึ่งในเทศบาลนครฉงชิ่ง จัดพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ สร้างห้องน้ำที่สะดวกต่อการลุกนั่งของผู้สูงวัย และมีการปูแผ่นยางกันลื่นในลานออกกำลังกายกลางแจ้งด้วย (Chongqing Daily, 2024) หรือที่เทศบาลนครเทียนจิน โรงพยาบาลบางแห่งมีช่องบริการช่วยเหลือผู้สูงอายุโดยเฉพาะ และมีโรงพยาบาลอีกจำนวน 28 แห่ง ที่มีบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ One Stop Service เกี่ยวกับการทำเรื่องเข้าพัก การตรวจสอบประกัน การชำระเงินเป็นต้น (Xu, 2023)

1.2 การผลักดันเทคโนโลยีการประเมินสุขภาพผู้สูงอายุแบบองค์รวมในสถานพยาบาล

     ศูนย์วิจัยการแพทย์กลุ่มผู้สูงอายุแห่งชาติ (โรงพยาบาลเซี่ยงหย่า) National Clinical Research Center for Geriatric Disorders (XiangYa Hospital) จัดอบรมนักการประเมินสุขภาพผู้สูงอายุจำนวนหลายครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดคือ ครั้งที่ 22 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีบุคลากรด้านการแพทย์และด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเข้ารับการอบรม กว่า 10 มณฑล วัตถุประสงค์การจัดอบรมในครั้งนี้คือ การมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ในทางคลินิก โดยมีสถาบันทางการแพทย์เป็นแกนหลัก และอาศัยเครือข่ายความร่วมมือต่าง ๆ เป็นแรงสนับสนุน เพื่อผลักดันการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลักในเวชศาสตร์ผู้สูงอายุอย่างมีวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมให้หน่วยงานในเครือข่ายและสถาบันทางการแพทย์ในระดับพื้นฐาน เกิดความเท่าเทียมกันในการพัฒนาเทคโนโลยีการวินิจฉัยและรักษาในเวชศาสตร์ผู้สูงอายุให้มีความเป็นมาตรฐานและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งผู้เขียนมองว่าหากจีนประสบความสำเร็จในการผลักดันระบบการประเมินผู้สูงอายุแบบองค์รวม (Comprehensive Geriatric Assessment-CGA) ในวงกว้างได้ การดูแลผู้สูงอายุจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นแน่นอน

1.3 การเพิ่มความเข้มแข็งต่อจิตสำนึกการให้บริการผู้สูงอายุ

     จิตสำนึกการให้บริการผู้สูงอายุเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การยกระดับการดูแลสุขภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และลดความกดดัน คลายความกังวลใจของผู้สูงอายุ เพิ่มความสุขและความรู้สึกปลอดภัย คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน สำนักงานคณะกรรมการปฏิบัติงานผู้สูงอายุทั่วประเทศ และกรมการแพทย์แผนจีนแห่งชาติจีนร่วมตีพิมพ์ (2021) หลายสถานพยาบาลจีนจึงมีการยกระดับการให้บริการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุมากยิ่งขึ้น และครบวงจรมากยิ่งขึ้น เช่น ชุมชนซ่านตั้นร่วมกับโรงพยาบาลประชาชนอำเภอฟู่ หมิน (2024) ในเมืองคุณหมิงจัดกิจกรรมตรวจสุขภาพผู้สูงอายุเคลื่อนที่ โดยให้บริการตรวจสุขภาพแก่ผู้สูงอายุจำนวน 300 คน และได้มีการให้คำปรึกษาและยารักษาหลังฟังผล เพื่อส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ หรือที่เทศบาลนครฉงชิ่ง คณะกรรมการสุขภาพเขตต้าจู๋ (2024) ใช้ 3 มาตรการในการยกระดับคุณภาพการให้บริการผู้สูงอายุ คือ 1.ยกระดับการให้บริการผู้สูงอายุ 2.การปรับปรุงพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้ารับการรักษาของผู้สูงอายุ และ 3.ระบบการสนับสนุนการให้บริการการรักษาดูแลอย่างสมบูรณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์

2. ด้านสวัสดิการเบี้ยผู้สูงอายุ

     ประเทศจีนมีระบบสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุหรือกลุ่มคนหลังเกษียณหลากหลายรูปแบบ ครอบ คลุมบุคคลลักษณะต่าง ๆ ซึ่งมีเกณฑ์หรือระเบียบการสนับสนุนที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละมณฑลหรือเขตพื้นที่อาศัย Sohu (2024) ดังนี้

2.1 เงินเกษียณ

     เงินเกษียณหรือประกันสังคมเป็นลักษณะการสะสมสมทบ ชำระอย่างน้อย 15 ปี โดยสามารถเว้นชำระได้ ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มคนหลัก ๆ เช่น บุคลากรรัฐ บริษัท และชาวบ้านทั่วไป ชาวจีนเมื่อหลังเกษียณ ชายคืออายุ 60 ปี หญิงอายุ 55 ปี ก็จะได้รับเงินดังกล่าวในรูปแบบรายเดือน สำหรับเงินหลังเกษียณประเภทประชาชนทั่วไปนั้นจะได้รับในจำนวนเงินที่แตกต่างกันไปตามขนาดเศรษฐกิจของแต่ละมณฑล เขตพื้นที่การปกครอง เช่น เทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ จะได้รับเดือนละ 1400 หยวนต่อเดือน ส่วนมณฑลกุ้ยโจวจะได้รับเพียงเดือนละ 128 หยวน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความมากน้อยของการสะสมในแต่ละเดือน

2.2 เบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ

     เบี้ยเลี้ยงประเภทนี้จะได้รับตามตัวเลขอายุ ซึ่งมีความแตกต่างไปในแต่ละพื้นที่ ส่วนใหญ่จะเริ่มที่อายุ 80 ปี ขึ้นไป เช่นใน เมืองเซินเจิ้นมณฑลกวางตุ้ง ผู้สูงอายุ 70-90 ปี จะได้รับเงิน 200 หยวนต่อเดือน 80-99ปี จะได้รับเงิน 300 หยวนต่อเดือน 90-99 ปี จะได้รับเงิน 500 หยวนต่อเดือน และอายุ 100 ปีขึ้นไปจะได้รับเงิน 1000 หยวนต่อเดือน แต่ในมณฑลเหอเป่ย ผู้สูงอายุ 80-89ปี จะได้รับเงิน 50 หยวนต่อเดือน 90-99 ปี จะได้รับเงิน100 หยวนต่อเดือน และ 100 ปีขึ้นไปจะได้รับเงิน 300 หยวนต่อเดือน

2.3 เบี้ยเลี้ยงทุพพลภาพ

     เป็นสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ที่มีความพิการหรือสูญเสียความสามารถ โดยการให้เงินสนับสนุนนั้นขึ้นอยู่กับระดับของการพิการ คือ กรณีสูญเสียความสามารถขั้นสูงสุดคือไม่สามารถช่วยตัวเองได้เลย จะได้รับเงินสนับสนุนช่วยเหลือ 700 หยวนต่อเดือน แบ่งเป็น การช่วยเหลือกรณีผู้สูงอายุ 300 หยวน และ การช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาล 400 หยวน ผู้รับสิทธิประโยชน์นั้นจะต้องมีความสอดคล้องกับลักษณะบุคคลตามที่กำหนด

2.4 เบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุยากไร้

     เบี้ยเลี้ยงนี้จะให้สำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยตามเกณฑ์ที่รัฐบาลท้องถิ่นนั้น ๆ กำหนด ก็จะมีสิทธิ์ขอรับเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวนี้ได้ เช่น ในมณฑลซานตงกรณีผู้สูงอายุ 60-79 ปี ที่มีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่าเกณฑ์ที่เขตที่อยู่อาศัยกำหนด สามารถขอรับเงินเบี้ยเลี้ยงในส่วนนี้เป็นจำนวน 80 หยวนต่อเดือน

2.5 เบี้ยเลี้ยงครอบครัวลูกคนเดียว

     สำหรับเบี้ยเลี้ยงนี้มีความเกี่ยวข้องกับนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาล ผู้สูงอายุที่มีใบประกาศเกียรติคุณพ่อแม่ลูกโทน สามารถขอรับเบี้ยเลี้ยงดังกล่าวได้ ซึ่งจะมีการมอบให้ขณะลูกมีอายุไม่เกิน 14 ปี 16 ปี หรือ 18 ปีตามแต่พื้นที่ อีกส่วนหนึ่งคือจะมอบให้หลังเกษียณ เช่นเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ ก่อนบุตรอายุ 16 ปี จะมีการมอบเงินให้ครอบครัวลูกคนเดียวเดือนละ 30 หยวน และเมื่อหลังพ่อแม่เกษียณจะได้รับเงินอีกก้อนหนึ่งจำนวน 5000 หยวน

2.6 เบี้ยเลี้ยงเครื่องดื่มเย็น

     ช่วงฤดูร้อน(มิถุนายน-กันยายน)นั้น รัฐยังส่งเสริมให้มีเบี้ยเลี้ยงเครื่องดื่มคลายร้อนสำหรับผู้สูงอายุด้วย เช่นเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง เมื่อถึงช่วงเดือนดังกล่าว ผู้สูงอายุจะได้รับเบี้ยเลี้ยงเครื่องดื่มเย็นเดือนละ 130 หยวน เป็นเวลา 4 เดือน รวมทั้งสิ้น 520 หยวน

2.7 เบี้ยเลี้ยงเทศกาล

     ในเทศกาลสำคัญ ๆ ของจีน ยังคงเห็นความห่วงใยต่อผู้สูงอายุเช่นกัน เช่นในเทศกาลตรุษจีน หลาย ๆ เขตพื้นที่การปกครองจะมีเบี้ยเลี้ยงสำหรับใช้ในเทศกาลให้กับผู้สูงอายุด้วย ยกตัวอย่าง เมืองหางโจวจะมีเงินให้สำหรับเทศกาลตรุษจีน เทศกาลไหว้พระจันทร์ และเทศกาลบ๊ะจ่าง ส่วนเมืองหนิงโปจะจ่ายให้เป็นก้อนครั้งเดียวเลยที่ 2000 หยวน

3.การเพิ่มพูนความรู้ผู้สูงอายุ

     ประเทศจีนให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุในด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ฉบับที่ 14 แห่งชาติจีน ในด้านการพัฒนากิจการผู้สูงอายุและระบบการให้บริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ข้อที่ 8 (20 21 22) ระบุถึงการสร้างและพัฒนาการศึกษาผู้สูงอายุ โดยเปิดสถานศึกษาเพื่อรองรับผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่ การกระตุ้นผู้สูงอายุแสดงศักยภาพต่อเนื่อง และการส่งเสริมการใช้ชีวิตด้านวัฒนธรรม กีฬาและนันทนาการ ตัวชี้วัดด้านสถานศึกษาผู้สูงอายุคือ อย่างน้อย 1 อำเภอต่อ 1 แห่ง ซึ่งผู้สูงอายุสามารถสมัครเรียนได้ทั้งในรูปแบบการเรียนทางไกลหรือรูปแบบการเรียนในสถานศึกษา และอำนวยความสะดวกในการสมัครเรียน จากแผนและข้อเสนอของรัฐบาลกลาง กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจึงร่วมขานรับและนำนโยบายไปปฏิบัติ

     มหาวิทยาลัยผู้สูงอายุแห่งชาติจีน (The Seniors University of China) ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือน มีนาคม พ.ศ. 2567 ซึ่งตั้งอยู่ใน มหาวิทยาลัยเปิด (The Open University of China) ตามข้อเสนอแนะของรัฐบาลกลางใน “ประกาศข้อเสนอแนะในการเพิ่มความเข้มแข็งการทำงานด้านผู้สูงอายุในยุคสมัยใหม่” การตั้งมหาวิทยาลัยดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ มีคุณธรรมจริยธรรม การเรียนรู้ตลอดชีวิต สุขภาพเชิงรุก การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เป็นต้น เพื่อไปสู่ผลลัพธ์ของชาติคือ เป็นผู้สูงวัยที่มีการเรียนรู้ มีความสุข และมีผลงาน ทรัพยากรที่มีอยู่สำหรับผู้สูงอายุนั้นค่อนข้างหลากหลาย ครอบคลุมถึง หลักสูตรความบันเทิงหย่อนใจ สุขภาพเชิงรุก การเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็น และสานฝันผู้สูงอายุ ในปลายปีพ.ศ. 2566 มีวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยจำนวนถึง 40 แห่ง ศูนย์การเรียนรู้ผู้สูงอายุจำนวน 3000 แห่ง และแหล่งการเรียนรู้ผู้สูงอายุอีกว่า 50000 แห่ง ช่องทางในการรับสมัครเรียนก็สามารถเข้าถึงได้ง่าย ทั้งในรูปแบบของเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น และวีแชท

     ความสำเร็จในเบื้องต้นของจีนคือ จำนวนสถานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น และครอบคลุมแทบจะทุกพื้นที่ มีช่องทางการเรียนรู้ที่สะดวกสามารถเรียนได้ทั้งในพื้นที่และเรียนรู้ทางออนไลน์ สิ่งที่ยังต้องจับตามองคือ การสร้างมูลค่าที่เกิดจากการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ต่อผู้สูงอายุ

     จากข้อมูลที่นำเสนอข้างต้นพบว่าจีนมีความพยายามพัฒนาระบบการรักษาพยาบาลให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ พยายามสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก และสร้างจิตสำนึกในการให้บริการแก่ผู้สูงอายุ สิ่งสำคัญคือหลายมณฑลและเขตการปกครองมีความกระตือรือร้นในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายตามบริบทของพื้นที่ การคุ้มครองสิทธิประโยชน์และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศจีนยังมีอีกหลายด้าน เช่นด้านการอุปการะเลี้ยงดูจากครอบครัว การให้บริการจากสังคม สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพักอาศัย เป็นต้น เห็นได้ชัดว่าจีนให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก ถือว่ารัฐประสบความสำเร็จเชิงนโยบายในระดับหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์สังคมในปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศ การจะแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี ถือว่ามีความท้าทายอย่างมาก แต่ด้วยนโยบายหรือข้อเสนอแนะของรัฐบาลจีนนั้นค่อนข้างทรงพลัง ผู้เขียนประเมินว่าสามารถประสบความสำเร็จในภาพรวมได้ ซึ่งมีความคล้ายกับการก้าวสู่สังคมกินดีอยู่ดีที่จีนประสบความสำเร็จในปีพ.ศ. 2564 มาแล้ว และเป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่า ในพ.ศ. 2569-2573 จีนจะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรผู้สูงอายุได้ในระดับใดตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 15 ซึ่งคาดว่าจะเน้นเรื่องของกำลังการผลิตแนวใหม่ new quality productive forces ซึ่งก็มีความเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปเชิงลึกในด้านพลังงานทางเลือก รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ไฟฟ้า เป็นต้น

รายการอ้างอิง

重庆日报.(2024年5月16日).《适老化改造!这个老年病区重装后投用》. 百家号.

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1799226198862701212...

富民县人民政府.(2024年7月2日).《提升老年人健康水平,增强老年人健康保健意识》.

http://www.kmfm.gov.cn/c/2024-07-02/6875422.shtml

高明科.(2024年8月5日).《大足:“三举措”提升老年健康高质量服务》.新华网.

http://www.cq.xinhuanet.com/.../6d7acf9d15974341b6.../c.html

国家老年疾病临床医学研究中心(湘雅医院).(2024年 8月9日).《第二十二期全国老年综合评估技术暨老年人能力评估师培训班在银川成功举办》. https://ncrcgdxy.csu.edu.cn/info/1024/ 3008.htm

国家卫生健康,委全国老龄办,国家中医药局.(2021年 12月 31日). 《关于全面加强老年健康服务工作的通知》. https://www.gov.cn/.../zhe.../2022-01/18/content_5669095.htm

国务院.(2021年12月30日).国务院关于印发“十四五”国家老龄事业发展和养老服务体系规划的通知.《国务院公报》. https://www.gov.cn/gongbao/content/2022/content_5678066.htm

王雪.(2023年3月5日).《国家老年大学成立,一文带你了解这个学校》.新华社.

http://www.news.cn/2023-03/05/c_1129415410.htm

小保细说.(2024年8月7日).《退休人员注意了,除了养老金,退休人员还有6种补贴可以领取!》. Sohu. https://www.sohu.com/a/799155723_121248712... 70.0-0.10021.0&spm=smpc.content.fd-link.4.1723038714092ClYc8uN

徐杨.(2023年10月23日).全流程服务便捷老年人就医.《天津日报》.

http://epaper.tianjinwe.com/.../23/content_155_8437625.htm

  • 79 ครั้ง