ปรัชญาว่าด้วย “ศาสตร์แห่งการปกครอง” ของขงจื่อ

หมวดหมู่ข่าว: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนตุลาคม 2567

เรื่อง ปรัชญาว่าด้วย “ศาสตร์แห่งการปกครอง” ของขงจื่อ

โดย อาจารย์ ดร.พรภวิษย์ หล้าพีระกุล (อาจารย์ประจำสำนักวิชาจีนวิทยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)

          ประเทศจีนมีประวัติศาสตร์และอารยธรรมที่ยาวนานมากกว่าสองพันปี สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ประเทศจีนนั้นคงไว้ซึ่งความยิ่งใหญ่และรวมเป็นหนึ่งได้นั้นคือ “ศาสตร์แห่งการปกครอง” (The Art of Governance) ที่ผู้นำและกษัตริย์ในอดีตใช้ปกครองจีน ดำเนินยุทธศาสตร์ทางการทหาร การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ซึ่งศาสตร์แห่งการปกครองนี้ได้รับอิทธิพลมาจากการถูกปลูกฝังด้วยหลักคำสอนภายใต้ปรัชญา (Philosophy 哲学Zhéxué) ปรัชญาจีนที่โด่งดังและมีการใช้มาจนถึงปัจจุบันคือ ปรัชญาของขงจื่อ (Confucianism 孔子的哲学思想) ปรัชญาของขงจื่อมุ่งเน้นหลักคำสอนไปที่ “ความเมตตากรุณา” “ความกตัญญู” “ขนบจารีตและประเพณี” “ความยุติธรรม” และ “ความซื่อสัตย์” (“慈悲”、“感恩”、“习俗和传统”、“正义”和“诚实”) การเมืองในอุดมคติของของจื่อ คือ “การปกครองประเทศให้มีความสงบสุข ทุกคนเปรียบเสมือนบุคคลในครอบครัว ” ความคิดทางด้านการศึกษาคือ “ไม่ว่าใครก็สามารถรับการศึกษาได้” “การศึกษาตามความถนัดและความสามารถของแต่ละคน” และยังให้ความสำคัญกับสติปัญญาและคุณธรรมเป็นต้น ปรัชญาของขงจื่อจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและลึกซึ้งจนถึงปัจจุบัน

          ในด้านของการปกครองนั้น ปรัชญาการปกครองแบบขงจื่อมุ่งเน้นที่หลักจริยธรรมและความกลมเกลียวในสังคม โดยเน้นการปกครองที่มีคุณธรรม (德, dé) และการแสดงความเมตตาต่อผู้อื่น (仁, rén) ในสังคม รู้จักระเบียบแบบแผน หน้าที่และลำดับขั้นของตน (礼, lǐ) ขงจื่อเชื่อว่าผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนและผู้ที่อยู่ใต้การปกครองของตน โดยการใช้ศีลธรรมในการบริหารจัดการบ้านเมือง มากกว่าการใช้กฎหมายที่เคร่งครัดหรือการลงโทษ มีการใช้เหตุและผลในการตัดสินและปกครอง ให้เกิดการประณีประนอม เห็นอกเห็นใจมากกว่าตัดสินแบบเด็ดขาดด้วยกฎเกณฑ์ที่โหดร้ายทารุณ จุดเน้นคือผู้ปกครองจะต้องการศึกษาและเรียนรู้การปกครองอย่างไม่สิ้นสุด (学, xué) ดังนั้นหลักการสำคัญในปรัชญาการปกครองแบบขงจื่อประกอบด้วย 4 ประการสำคัญคือ 德、仁、礼、学

          คุณธรรมของผู้ปกครอง (德, dé) ขงจื่อเน้นว่าผู้ปกครองควรมีคุณธรรมสูงสุด เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการนำพาสังคม มีคุณธรรมเพียบพร้อมเพื่อปกครองประชาชนและผู้ใต้บังคับบัญชา หากผู้ปกครองปฏิบัติตนอย่างเหมาะสม ประชาชนก็จะปฏิบัติตนตาม อันจะทำให้ประเทศชาติ สังคม องค์กรนั้นมีความสงบสุข

          ความเมตตา (仁, rén) การแสดงความเมตตาและความปรารถนาดีต่อผู้อื่นเป็นหัวใจของการปกครอง ขงจื่อมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนควรจะเป็นเหมือนความสัมพันธ์ของพ่อ แม่กับลูก ซึ่งพ่อ แม่จะมีความเมตตาต่อบุตรธิดาของตน ให้ความรักใคร่ เอาใจใส่ ซึ่งถ้าประชาชนหรือผู้ใต้บังคับบัญชาได้รับการเอาใจใส่ ได้รับความเมตตาปราณีก็จะทำให้ประชาชนนั้นรักและเชิดชูผู้นำ

          ความเคารพในลำดับชั้น (礼, lǐ) ขงจื่อให้ความสำคัญกับความเป็นระเบียบและการเคารพตามลำดับชั้นในสังคม การปกครองที่ดีควรรักษาความสงบเรียบร้อยผ่านการเคารพซึ่งกันและกันในหน้าที่และบทบาทที่กำหนด มากกว่าการเคารพกันด้วยความสามารถหรืออายุเพียงเท่านั้น การมีบทบาท ลำดับขั้นนั้นจะทำให้ทั้งผู้ปกครองและผู้ใต้บังคับบัญชานั้นรู้จักหน้าที่ของตน ความเหมาะสมในการปฏิบัติตัว อันจะทำให้ทุกฝ่าย ทุกคนเดินตามหน้าที่และลำดับขั้นของตนได้อย่างเหมาะสม

          การศึกษา (学, xué) ประการสำคัญ ขงจื่อให้ความสำคัญกับการศึกษาและการพัฒนาตนเอง ผู้ปกครองและประชาชนควรได้รับการศึกษา เพื่อเป็นคนที่ดีและมีคุณธรรม การพัฒนาศีลธรรมผ่านการเรียนรู้ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมที่เจริญ การถูกอบรมบ่มเพาะให้รู้จักเมตตาปราณีต่อผู้อื่นจะทำให้สังคมนั้นสงบสุข การมีความตระหนักรู้ในหน้าที่และเคารพในการเป็นศิษย์และอาจารย์ การเป็นผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองก็จะทำให้สังคมนั้นสงบสุขและรุ่งเรือง

          ด้วยปรัชญาทั้ง 4 ข้อนี้ ขงจื่อมองว่าหากผู้ปกครองสามารถใช้คุณธรรม มีความเมตตา เคารพในลำดับขั้นและความสัมพันธ์ต่าง ๆ รวมถึงการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่เสมอนั้น การบริหารจัดการบ้านเมือง องค์กรต่าง ๆ จะทำให้เกิดความสงบสุขและความเป็นธรรมในสังคม บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง เฟื่องฟู มีความสันติและไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคม และผู้นำก็จะสามารถปกครองบ้านเมืองได้อย่างราบรื่นและยาวนาน

รายการอ้างอิง

กิตติพัฒน์ สุวรรณสิริเมธี. (2550). เอกสารประกอบวิชาปรัชญาการเมือง “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับปรัชญาการเมือง”. นครราชสีมา : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

นิยม รัฐอมฤต. (2556). สำรวจปรัชญาการเมืองการปกครองจีน. สถาบันพระปกเกล้า, ฉบับกันยายน - ธันวาคม, 33-51.

สถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยอัชสัมชัญ. (2558). ปรัชญาความคิดขงจื่อ. http://www.ci.au.edu/th/index.php/about/2015-08-24-11-58-20

อติชาติ คำพวง และอรอนงค์ อินสะอาด. (2562). ปรัชญาของขงจื่อกับการจัดระเบียบทางสังคม : การศึกษาวิเคราะห์คัมภีร์หลุนอี่ว์. วารสารภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม, 8 (2), 126-164.

Morrison, Donald. (1945). Review: Public Administration and the Art of Governance. Public Administration Review, 5(1 - Winter,1945), 83-87.

Ingraham, Patricia W. & Laurence E. Lynn Jr. (2004). The Art of Governance: Analyzing Management and Administration. Washington, DC.: Georgetown University Press.

  • 12 ครั้ง