รถไฟจีน

หมวดหมู่ข่าว: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนตุลาคม 2567

เรื่อง รถไฟจีน

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ มีชัยโย (อาจารย์ประจำสำนักวิชาจีนวิทยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)

          ครั้งหนึ่งแนวคิดการสร้างรถไฟในจีนเคยถูกต่อต้านโดยกลุ่มขุนนางหัวโบราณที่อ้างว่า “ทางรถไฟเป็นสิ่งที่จะทําลายรถและเรือ ทําลายทุ่งนา ทําลายรากเหง้าวัฒนธรรม ทําลายขนบธรรมเนียมประเพณี และทําลายทรัพย์สินเงินทอง ประเทศชาติและประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากการนี้ แต่ผลประโยชน์กลับไปตกอยู่ที่พวกฝรั่ง” หรืออ้างศาสตร์ฮ้วงจุ้ยว่า “เมื่อทางรถไฟตัดผ่านภูเขาก็ต้องเจาะทะลุไป เมื่อไปเจอแม่น้ำลําธารก็ต้องสร้างสะพานข้ามไป ดังนั้นทางรถไฟถือเป็นสิ่งอัปมงคลที่รบกวนเจ้าป่าเจ้าเขาและพญามังกร การสร้างทางรถไฟจะทําให้เทพเจ้าโกรธเคืองได้ ซึ่งจะนํามาซึ่งภัยพิบัติรุนแรงมหาศาล”แต่ถ้าหากว่าขุนนางหัวโบราณเหล่านั้นได้ตื่นขึ้นมาเห็นจีนตอนนี้อาจจะช็อคตายไปอีกครั้งเพราะว่าปัจจุบัน เส้นทางรถไฟของจีนมีระยะทางรวมประมาณ 159,000 กิโลเมตร และเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 46,000 กิโลเมตร นับว่ายาวที่สุดในโลก

ประวัติศาสตร์การรถไฟจีน

         ในประวัติศาสตร์รถไฟจีน ทางรถไฟสายแรกเริ่มก่อสร้างในสมัยปลายราชวงศ์ชิงรู้จักกันในชื่อว่ารถไฟสายอู่ซง (吴淞) นับตั้งแต่ราชสำนักชิงพ่ายแพ้แก่กองทัพชาวต่างชาติ ผลของการแพ้สงครามแต่ละครั้ง ราชสำนักชิงต้องทำสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและต้องยอมเสียอธิปไตยเหนือดินแดนให้ชาติตะวันตกในรูปแบบข้อตกลงต่างๆ ทั้งสัมปทานและเขตเช่า รวมถึงการที่ต้องยินยอมให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินกิจการรถไฟด้วย หลังจากปี 1894 ประเทศตะวันตกก็กลายเป็นผู้ถือสิทธิ์ประกอบกิจการทางรถไฟในจีน เช่น รัสเซียสร้างรถไฟตงเสิ่ง ฝรั่งเศสสร้างรถไฟเตียนเย่ว์ เยอรมันสร้างรถไฟเจียวจี่ ญี่ปุ่นสร้างรถไฟอันเฟิ่ง เป็นต้น ประเทศเหล่านี้เป็นเจ้าของรถไฟในจีน ส่วนใหญ่ใช้วิธีให้เงินกู้กับรัฐบาลจีน จึงมีสิทธิ์ครองทางรถไฟและใช้รถไฟเป็นเครื่องมือปกครองประเทศจีน

          หลังจากที่เติ้งเสี่ยวผิงผู้นำรุ่นที่สองของจีนได้เยือนญี่ปุ่นในปี 1978 และมีโอกาสนั่ง “รถไฟชิงกันเซ็ง” ซึ่งเป็นรถไฟความเร็วสูงที่เร็วที่สุดในโลกขณะนั้น กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้จีนหันมามองเรื่องเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง แต่จีนก็ยังมีข้อจำกัดในด้านเทคโนโลยีและงบประมาณ จนกระทั่งในปี 1995 จีนจึงได้ผลักดันรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นหนึ่งใน “แผนแห่งชาติระยะห้าปี” ฉบับที่ 9 อย่างไรก็ตามการที่จีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงแบบก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งคือนโยบายกำหนดให้บริษัทรถไฟต่างชาติที่จะทำธุรกิจกับจีนจะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีหลักให้กับจีนด้วย

เทคโนโลยีรถไฟ

          หากท่านได้ลองใช้บริการรถไฟความเร็วสูงของจีนอาจคุ้นชื่อรถไฟ和谐号 กับ复兴号 กันบ้าง แล้วรถไฟทั้งสองประเภทนี้มีความแตกต่างกันอย่างไร “和谐号” เป็นการร่วมทุนที่ผลิตโดยจีนผ่านความร่วมมือกับบริษัทต่างประเทศ โดยรถไฟรุ่นนี้จีนนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศทั้งเยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆ มาผลิตรถไฟ แต่จีนยังไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาที่สมบูรณ์ ส่วน “复兴号” เป็นรถไฟที่จีนพัฒนาขึ้นเองและมีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นอิสระอย่างสมบูรณ์ การที่和谐号เป็นกิจการร่วมค้าระหว่างจีนกับต่างชาติ รถไฟจึงมีชื่อรหัสว่า CRH ย่อมาจาก China Railway High-speed ในภาษาอังกฤษ ในขณะที่ 复兴号เป็นรถไฟที่ผลิตในประเทศจีนทั้งหมด รหัสภาษาอังกฤษคือ CR ซึ่งเป็นตัวย่อของ China Railway ปัจจุบันรถไฟความเร็วสูงของจีนก็จำแนกตามรุ่นรถไฟที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้

รุ่น和谐号(Harmony)

CRH1(和谐号CRH1型电力动车组)

CRH2(和谐号CRH2型电力动车组)

CRH3(和谐号CRH3型电力动车组)

CRH5(和谐号CRH5型电力动车组)

CRH6a(和谐号CRH6a型电力动车组)

CRH380A(L)CRH2-380(和谐号CRH380A(L)型电力动车组)

CRH380C(L)(和谐号CRH380CL型电力动车组)

CRH380D(L)CRH1-380 和谐号CRH380D(CRH1-380)型电力动车组)

รุ่น复兴号(Revival)

CR400AF(复兴号CR400AF型电力动车组)

CR400BF(复兴号CR400BF型电力动车组)

CR300(复兴号CR300型电力动车组)

ประเภทรถไฟ

          หากท่านเคยนั่งรถไฟของจีนจะพบว่าบนตั๋วรถไฟระบุตัวอักษรภาษาอังกฤษที่แตกต่างกัน เพราะหมายเลขขบวนรถไฟของจีนมักจะขึ้นต้นด้วยอักษร G, C, D, Z, T, K, Y, L และ S ซึ่งอักษรดังกล่าวเป็นการระบุประเภทของรถไฟ ลองมาทำความรู้จักกับรถไฟในประเทศจีนแต่ละประเภทกัน

G หมายถึง รถไฟความเร็วสูง “G” ในที่นี้ คือคำอ่านในภาษาจีนว่า “เกา” (高) ซึ่งหมายถึงเกาซู่ หรือ “ความเร็วสูง” นั่นเอง ซึ่งเป็นขบวนรถไฟที่มีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 350 กม./ชม.

C หมายถึง รถไฟระหว่างเมือง ซึ่ง “C” คือคำอ่านในภาษาจีนว่า “เฉิง” (城) หมายถึง “เมือง” มีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 300 กม./ชม.

D หมายถึงรถไฟที่ใช้ระบบไฟฟ้าในการวิ่ง (Electric Mutiple Unit = EMU) ซึ่ง “D” คือคำอ่านในภาษาจีนว่า “ต้ง” (动 ในที่นี้หมายถึง “เคลื่อนที่”) ที่มีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 250 กม./ชม.

Z หมายถึง รถไฟสายตรง หรือรถไฟที่วิ่งจากต้นทางไปยังปลายทางโดยไม่แวะจอดระหว่างทาง “Z” ในที่นี้ออกเสียงว่า “จื๋อ” (直 ที่หมายถึง “ตรง”) ที่มีความเร็วประมาณ 160 กม./ชม.

T หมายถึงรถไฟด่วนพิเศษ “T” ในที่นี้ออกเสียงว่า “เท่อ” (特 หมายถึง พิเศษ) มีความเร็วประมาณ140 กม./ชม.

K หมายถึงรถไฟด่วน ซึ่ง“K” ในที่นี้ออกเสียงว่า “ไคว่” (快 หมายถึง ด่วน) มีความเร็วประมาณ 120 กม./ชม.

Y หมายถึง รถไฟท่องเที่ยว “Y” ในที่นี้ออกเสียงว่า “โหยว” (游 หมายถึง ท่องเที่ยว) มีความเร็วประมาณ 120 กม./ชม.

L หมายถึงรถไฟท่องเที่ยวชั่วคราว “L” ในที่นี้ออกเสียงว่า “หลิน” (临 หมายถึง ชั่วคราว เฉพาะกิจ) มีความเร็วประมาณ 100 กม./ชม.

S สำหรับขบวนที่ขึ้นต้นด้วยอักษร “S” นั้น ออกเสียงว่า “ซื่อ” (市) ซึ่งหมายถึงรถไฟระยะทางสั้นๆ ภายในเมืองใหญ่ ซึ่งจะมีเฉพาะในกรุงปักกิ่งและนครเทียนจินเท่านั้น ซึ่งในกรุงปักกิ่งนั้น รถไฟขบวน “S” นี้ก็เรียกกันว่า “รถไฟใต้ดิน” ด้วยเช่นกัน

X หมายถึงรถไฟขนส่งสินค้า

รายการอ้างอิง

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. (2566). จีนมีรถไฟวิ่งเร็วสุดในโลก แต่ในยุคบุกเบิก ทำไมมันคือของประหลาด-อัปมงคล. https://www.silpa-mag.com/history/article_24342

ประวัติศาสตร์ทางรถไฟของจีน (1). (2014). China Radio International. https://thai.cri.cn/247/2014/11/13/232s226721.htm

เส้าหย่ง, หวังไห่เผิง. (2560). ชื่อเรื่องต้นฉบับ [หลังสิ้นบัลลังก์มังกร ประวัติศาสตร์จีนยุคเปลี่ยนผ่าน]. สำนักพิมพ์มติชน. ( ชื่อเรื่องต้นฉบับ พี่รับไปค้นข้อมูลอีกทีนะ)

อุทัยวรรณ กุลสันติธำรงค์. (1999). ชาวจีนและความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก ระหว่าง ค.ศ. 1840-1895[Relations with Western Countries from 1840-1895: The Perspective of the Chinese]. Journal of Letters, 28(1), 40-62.

蜘蛛差旅. (2017). 《高铁G、D、C开头分别表示啥?原来我们一直搞错了!》.

https://www.sohu.com/a/350967015_100186522

China Story. (2020). มาทำความรู้จักกับรถไฟของจีนแต่ละประเภทกันเถอะ. https://www.facebook.com/photo.php?fbid=179967620218278&id=106873114194396&set=a.110029300545444&locale=pt_BR

  • 9 ครั้ง