จากหนังสือด่วนที่สุดของสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการที่ ศธ 04010/ว1543 เรื่องซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับตัวชี้วัดระหว่างทางและตัวชี้วัดปลายทาง ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมานั้น คุณครูหลากหลายคนทำการพัฒนาปรับปรุงแผนการสอน เครื่องมือการวัดประเมินผล เรียกได้ว่าเป็นการยกเครื่องปรับวิธีสอนเปลี่ยนวิธีวัดผลกันเลยทีเดียว
เรามาทำความเข้าใจในมโนทัศน์ หรือ concept ของตัวชี้วัดระหว่างทางกับตัวชี้วัดปลายทางกันก่อน หากจะพิจารณาจริง ๆ แล้วเป็นเพียง “แนวทาง” ในการประเมินผลการเรียนรู้ในชั้นเรียนที่แยกออกมาให้เห็นว่า สิ่งใดควรเป็นจุดเน้นที่ควรวัดประเมินผลแล้วไปตัดสินผลการเรียน สิ่งใดควรเป็นการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งครูผู้สอนจะต้องวิเคราะห์ตัวชี้วัดแล้วนำมาออกแบบการสอนการวัดประเมินผลให้สอดรับกับบริบทของสถานศึกษา สภาพผู้เรียน สังคมแวดล้อมที่ตนสอน ดังนั้น ตัวชี้วัดระหว่างเรียนเป็นการตรวจสอบความรู้ ทักษะ คุณลักษณะ เจตคติ ค่านิยม ที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนการสอน เพื่อนำผลการวัดนั้นมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน พัฒนาผู้เรียน กำกับติดตามพัฒนาการ วินิจฉัยข้อผิดพลาดในการเรียนรู้ รวมถึงนำผลมาใช้ในการสร้างแรงจูงใจ กระตุ้นให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้ โดยผลการวัดนั้นไม่ได้เอาไปใช้ตัดสินผลการเรียน อาจให้นิยามสั้น ๆ ว่า “ประเมินเพื่อพัฒนา”
ในส่วนตัวชี้วัดปลายทางนั้นเป็นการประเมินผลการเรียนรู้จุดเน้น หรือ สาระแก่นสารที่สำคัญ ๆ จริง ๆ หากจะพูดง่ายๆ บ้านๆ ก็คือ “สิ่งที่ผู้เรียนควรรู้ พึงปฏิบัติได้ พฤติกรรมที่ควรเป็น” ซึ่งเป็นการตรวจสอบความรู้ ความเข้าใจ ความสามารถ ทักษะกระบวนการรวมถึงคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ทัศนคติ เจตคติค่านิยมตามมาตรฐานของแต่รายวิชา โดยผลการประเมินนั้นจะถูกนำไปใช้ตัดสินผลการเรียนผู้เรียน
ดังนั้นหากคุณครูวิเคราะห์ตัวชี้วัด ปรับวิธีสอน เปลี่ยนวิธีการวัดผล คัดเฉพาะสาระสำคัญจริง ๆ ว่าผู้เรียนควรรู้อะไร ควรทำอะไรเป็น ชิ้นงานที่ใช้ประเมินและให้ระดับผลการเรียนจะลดลง การประเมินผลการเรียนรู้และชิ้นงานจะถูกนำมาใช้ในชั้นเรียนและจบในชั้นเรียน และสิ่งที่เป็นคำถามว่า อ้าว !! แล้วภาษาจีนหละ จะออกแบบประเมินผลการเรียนรู้ตามตัวชี้วัดระหว่างทางกับปลายทางอย่างไร ?
ตามแนวคิดของผู้เขียน อยากจะบอกว่า เราก็ต้องนำเอาตัวชี้วัดระหว่างทาง ตัวชี้วัดปลายทางของวิชาภาษาอังกฤษมาเทียบเคียงกับมาตรฐาน ตัวชี้วัด สาระการเรียนรู้แกนกลางวิชาภาษาจีน โดยคุณครูจะต้องวิเคราะห์ดูว่า สาระการเรียนรู้ เนื้อหาใดบ้างที่ไม่ได้เป็นจุดเน้น หรือ สิ่งที่สำคัญ ครูผู้สอนก็ออกแบบการเรียนรู้และประเมินผลการเรียนรู้ในชั้นเรียนให้เห็นในภาพรวม ซึ่งสิ่งเหล่านั้นก็จะเป็นตัวชี้วัดระหว่างทาง ในส่วนของความรู้ ทักษะภาษาและคุณลักษณะที่สำคัญ ๆ เป็นจุดเน้น ก็จะเป็นตัวชี้วัดปลายทาง โดยผลการวัดนั้นจะถูกนำไปใช้ในการตัดสินให้ผลการเรียน
การเทียบเคียงมาตรฐาน ตัวชี้วัด สาระการเรียนรู้แกนกลางคุณครูจะต้องตรวจสอบว่า เป็นมาตรฐานการเรียนรู้ตัวเดียวกันหรือไม่ ระดับชั้นเรียนกันหรือไม่ และเนื้อหาตัวชี้วัดเหมือนกันหรือไม่ หลังจากนั้นคุณครูจะต้องปรับวิธีการสอนจากเดิมอาจมีกิจกรรมในชั้นเรียนและมีการสั่งงานและเก็บคะแนนให้ครบตามเนื้อหาสาระ ปรับเป็นเน้นการประเมินผลการเรียนรู้เพื่อตรวจสอบความรู้ความเข้าใจในชั้นเรียน โดยเป็นการประเมินอย่างไม่เป็นทางการ ประเมินในภาพรวม หลังจากนั้นคัดเฉพาะความรู้ ทักษะ คุณลักษณะที่เป็นจุดเน้นมาประเมินและนำผลการวัดไปใช้ตัดสินผลการเรียน
คำถามต่อมาคุณครูจะตัดสินใจเลือกใช้เครื่องมือการวัดประเมินผลการเรียนรู้ระหว่างเรียนอย่างไร ? ลักษณะเครื่องมือที่ใช้ประเมินผลการเรียนรู้ระหว่างเรียนนั้นจะต้องเป็นเครื่องมือที่ใช้ระยะเวลาทดสอบที่สั้น ทำได้ง่าย และควรอาศัยเทคโนโลยีเข้าช่วยเพื่อกระชับเวลา เช่น แบบสังเกต แบบประเมินทักษะการสนทนา และเพิ่มการมีส่วนร่วมให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเป็นผู้ประเมิน อาจใช้การประเมินแบบเพื่อนประเมินเพื่อน รวมถึงการใช้แอพลิเคชันต่าง ๆ ตัวอย่าง Kahoot Quizizz Quizalize Wordwall Worklive sheet เป็นต้น เพื่อตรวจสอบความรู้ ความสามารถพื้นฐาน เมื่อดูผลการประเมินในภาพรวมผู้เรียนเป็นไปตามเกณฑ์ที่ยอมรับได้ก็เพียงพอแล้ว
ในส่วนเครื่องมือที่ใช้ประเมินผลการเรียนรู้ปลายทางส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือที่คุณครูคุ้นเคยคือการใช้วิธีการทดสอบ เช่น ข้อสอบ แบบฝึกหัด ชิ้นงาน การประเมินภาคปฏิบัติ แต่อย่างไรก็ตามคุณครูจะต้องกลับไปตรวจสอบว่าการประเมินผลการเรียนรู้เดิมนั้นมีสิ่งที่ได้ประเมินระหว่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ไปแล้ว รวมถึงสิ่งใดที่ไม่ใช่จุดเน้นหรือสาระสำคัญ คุณครูควรตัดออกหรือเปลี่ยนวิธีการวัดประเมินผลใหม่ เพื่อลดจำนวนชิ้นงานที่ไม่จำเป็นและทดสอบเฉพาะสาระสำคัญ และอย่าลืมว่า “การทดสอบนั้นไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการตรวจสอบความรู้ความสามารถของผู้เรียน” ยังมีวิธีอื่นที่ไม่ใช่เป็นวิธีการทดสอบก็สามารถใช้ได้ดีและอาจจะสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของผู้เรียนมากยิ่งขึ้น เช่น แฟ้มสะสมงาน การสัมภาษณ์ เกมออนไลน์ ฯลฯ
ในส่วนสุดท้ายนี้การจัดการเรียนการสอนจะต้องสอดแทรกทักษะใหม่ที่จำเป็นให้กับผู้เรียน เช่น ทักษะการแก้ไขปัญหา ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์ ดังนั้นการวัดประเมินผลนอกจากวัดองค์ความรู้ภาษาจีน ควรวัดทักษะอื่น ๆ ควบคู่ไปในคราวเดียวกัน
นอกจากจะวัดเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจทางภาษาจีนแล้วนั้น สถานการณ์หรือบทอ่านที่ใช้วัดนั้นยังสอดแทรกการวัดทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณของผู้เรียนไปในคราวเดียวกัน การเรียนรู้ภาษาจีนจะมีความหมายสอดรับการบริบทและความเป็นพลวัตของสังคม ดังนั้นครูผู้สอนควรปรับวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การวัดประเมินผลการเรียนรู้จึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ให้ความสำคัญกับผู้เรียน ผู้เรียนเรียนรู้อย่างต่อเนื่องทั้งต้นทาง กลางทางและปลายทางอย่างเต็มศักยภาพ ผู้เรียนจะได้ไม่ถูกทิ้งไว้กลางทาง