ระบบนำทางดาวเทียมเป่ยโต่ว Beidou Satellite Navigation System (BDS) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ระบบเป่ยโต่ว (北斗) เป็นระบบนำทางดาวเทียมระดับโลกที่พัฒนาขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบโดยประเทศจีนที่และสามารถใช้งานได้เป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากระบบ GPS ของสหรัฐอเมริกาและระบบ GLONASS ของรัสเซีย เป่ยโต่วพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับความต้องการด้านความมั่นคงแห่งชาติ การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนส่งเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานร่วมกันของระบบนำทางดาวเทียมอื่น ๆ ทั่วโลก
เป่ยโต่วมีระบบนำทาง (定位导航) และตั้งเวลา (授时服务) ที่มีความแม่นยำและสามารถให้บริการได้ทั่วโลกตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังมีฟีเจอร์การส่งข้อความสั้น (Short Message Communication) เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการสื่อสาร ความแม่นยำในการกำหนดตำแหน่งของเป่ยโต่วมีความละเอียดระดับเดซิเมตรหรือ 10 เซนติเมตร สามารถวัดความเร็วได้แม่นยำถึง 0.2 เมตร/วินาที และมีความแม่นยำในการวัดเวลาในระดับ นาโนวินาที ซึ่งสามารถตอบโจทย์และรองรับการใช้งานในหลากหลายด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระบบเป่ยโต่ว ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก
ส่วนอวกาศ (空间段) ประกอบด้วยดาวเทียมที่โคจรอยู่ในวงโคจรต่าง ๆ ซึ่งมีวงโคจรทั้งหมด 3 ประเภทที่ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ วงโคจรค้างฟ้า (GEO) วงโคจรระดับกลาง (MEO) และวงโคจรเอียง (IGSO) ซึ่งเมื่อเทียบกับระบบนำทางอื่น เป่ยโต่วมีดาวเทียมในวงโคจรสูงกว่า จึงมีความสามารถในการต้านทานการบดบังที่ดี โดยเฉพาะในพื้นที่ละติจูดต่ำ
ส่วนภาคพื้นดิน (地面段) ประกอบด้วยสถานีควบคุมหลัก สถานีซิงโครไนซ์ (การส่งข้อมูลเวลา) และสถานีตรวจสอบต่างๆ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงระหว่างดาวเทียม เพื่อให้การสื่อสารและการควบคุมระบบเป็นไปอย่างราบรื่น
ส่วนผู้ใช้ (用户段) ส่วนนี้ประกอบด้วยอุปกรณ์พื้นฐาน เช่น ชิป โมดูล และเสาอากาศที่รองรับการทำงานร่วมกับระบบนำทางดาวเทียมอื่นๆ รวมถึงอุปกรณ์ที่รับสัญญาณปลายทาง ระบบแอปพลิเคชัน และบริการต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้
แผนพัฒนาระบบนำทางด้วยดาวเทียมเป่ยโต่วภายในปี 2035
สำนักงานการจัดการระบบนำทางดาวเทียมของจีนได้ประกาศ แผนพัฒนาระบบนำทางด้วยดาวเทียมเป่ยโต่วภายในปี 2035 《北斗卫星导航系统2035年前发展规划》ที่จะทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลักสำหรับระบบเป่ยโต่วรุ่นถัดไปให้แล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2025 จากนั้นจะปล่อยดาวเทียมทดสอบนำร่อง 3 ดวง ในปี ค.ศ. 2027 เพื่อทดลองระบบเทคโนโลยีใหม่ และในปี ค.ศ. 2029 จะเริ่มปล่อยดาวเทียมสำหรับการสร้างเครือข่ายระบบเป่ยโต่วรุ่นถัดไป โดยจะเสร็จสิ้นการสร้างระบบเป่ยโต่วรุ่นถัดไปทั้งหมดในปี ค.ศ. 2035
ระบบเป่ยโต่วรุ่นถัดไป จะมีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากขึ้น ฟังก์ชันรองรับการใช้งานมากยิ่งขึ้น การบริการที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น มีลักษณะเด่นในด้าน “ความแม่นยำและเชื่อถือได้ การเชื่อมต่อที่สะดวกสบาย การใช้งานอัจฉริยะ การเชื่อมโยงเครือข่าย และความยืดหยุ่น” มีการให้บริการนำทางและการวัดเวลาแบบเรียลไทม์ที่มีความแม่นยำสูงตั้งแต่ระดับเมตรจนถึงเดซิเมตรที่ครอบคลุมทั้งพื้นที่ผิวโลกและอวกาศใกล้โลก และจะปรับโครงสร้างกลุ่มดาวเทียมเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการรักษามาตรฐานเวลา และความสามารถในการทำงานอิสระ รวมทั้งพัฒนาระบบภาคพื้นดินให้มีประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร และใช้ข้อมูลร่วมกัน ทำให้สามารถรองรับอุปกรณ์ผู้ใช้ทุกประเภท
ในปัจจุบันเป่ยโต่วได้ถูกนำไปใช้งานอย่างกว้างขวางในหลากหลายด้าน เช่น การขนส่ง การเกษตร ป่าไม้ การประมง อุตุนิยมวิทยา การสื่อสาร การบริหารจัดการพลังงาน การอนุรักษ์สัตว์ป่า การกู้ภัย และความปลอดภัยสาธารณะ เป็นต้น เป่ยโต่วจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับจีนในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงเป็นที่น่าจับตามองในฐานะเครื่องมือที่จะส่งผลต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจในอนาคต
รายการอ้างอิง
高士佳. (2024, November 28). 北斗卫星导航新蓝图:2035年前实现全球高精度导航服务全覆盖. CCTV. https://news.cctv.com/.../ARTIksIwgaTrFlY7NgXTBwYW241128....
北斗卫星导航系统. (n.d.). 北斗卫星导航系统介绍. http://www.beidou.gov.cn/zy/bdtp/.
中国卫星导航系统管理办公室测试评估研究中心. (n.d.). 北斗卫星导航系统. https://www.csno-tarc.cn/system/introduction.