ปากั้วกับศาสตร์แห่งฮวงจุ้ยและความเชื่อท้องถิ่น

หมวดหมู่ข่าว: sclc-ชีพจรจีน

คอลัมน์ออนไลน์ "ชีพจรจีน" ประจำเดือนมีนาคม 2568

เรื่อง ปากั้วกับศาสตร์แห่งฮวงจุ้ยและความเชื่อท้องถิ่น

โดย อาจารย์เอกชัย ทวีปวรชัย (อาจารย์ประจำสำนักวิชาจีนวิทยา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง) 

          มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความเชื่อต่าง ๆ ที่เหนือการควบคุม จนนำไปสู่การเลื่อมใสศรัทธา ถึงขั้นมีการประดิษฐ์วัตถุบางอย่างขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ในการปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัย ไร้ซึ่งทุกข์โศก และสัญลักษณ์หรือวัตถุเหล่านี้ ได้ถูกถ่ายทอดจากรุ่นไปสู่รุ่นไม่เสื่อมคลาย บทความนี้จะนำเสนอข้อมูลที่มาของปากั้ว (八卦) ปากั้วกับศาสตร์แห่งฮวงจุ้ยและปากั้วกับความเชื่อท้องถิ่น

1.ปากั้วมาจากไหน

          ปากั้ว (八卦) มากจากสัญลักษณ์ 8 ชนิดที่ปรากฏในคัมภีร์โจวอี้ (周易) โดยประกอบไปด้วยสัญลักษณ์สองขีดสั้น -- แทนหยิน หนึ่งขีดยาว — แทนหยาง ซึ่งประกอบมาเป็น ฟ้า(乾) ดิน(坤) สายฟ้า(震) ลม(巽) น้ำ(坎) ไฟ(离) ภูเขา(艮) น้ำ(兑) โดยฝูซี (伏羲)เป็นผู้วาดขึ้น มีชื่อเรียกว่า เซียนเทียนปากั้ว (先天八卦) ซึ่งหมายถึงปากั้วโดยแรกเริ่ม Xie (1997) วิเคราะห์ถึงสัญลักษณ์ทั้ง 8 ว่าเป็นปัจจัยกำหนดความอยู่รอดของบรรพบุรุษในการดำรงชีพและมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อด้านไสยศาสตร์และการนับถือสัญลักษณ์ (Totem) มันเป็นมโนคติของคนรุ่นก่อนในยุคหาของป่าและล่าสัตว์ (采集游猎) ส่วน Shu (1995) ได้ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของปากั้วกับการนับถือพระอาทิตย์ของชาวจีนโบราณ M26 ที่ปรากฏในแหล่งวัฒนธรรมต้าเหวินโข่ว มณฑลซานตง ในปี ค.ศ.1959 นอกจากนี้ภายหลังยังมีการนำสัญลักษณ์ ปากั้วมาเทียบกับธาตุทั้ง 5 ได้แก่เฉียน ต้วย(乾、兑) เทียบเป็นธาตุทอง หลี(离) เทียบเป็นธาตุไฟ เจิ้น ซวิ้น(震、巽) เทียบเป็นธาตุไม้ ข่าน(坎) เทียบเป็นธาตุน้ำ เกิ้น ควน(艮、坤) เทียบเป็นธาตุดิน และนำมาเทียบเคียงกับตำแหน่งทิศด้วยเช่นกัน อาทิทิศเหนือตรงกับข่าน(坎) ทิศใต้ตรงกับหลี(离) ทิศตะวันออกตรงกับเจิ้น(震) ทิศตะวันตกตรงกับต้วย(兑) ทิศตะวันออกเฉียงเหนือตรงกับเกิ้น(艮) ทิศตะวันตกเฉียงใต้ตรงกับซวิ้น(巽) ทิศตะวันตกเฉียงเหนือตรงกับเฉียน(乾) ทิศตะวันตกเฉียงใต้ตรงกับควน(坤) ซึ่งการนำปากั้วมาเทียบกับตำแหน่งและธาตุทั้ง 5 นี้เกิดขึ้นภายหลังจึงถูกเรียกว่าโฮ้วเทียนปากั้ว (后天八卦) ซึ่งหมายถึงปากั้วในภายหลัง (baijiahao, 2024) ปากั้วยังมีความเกี่ยวข้องกับการกำเนิดของตัวอักษรจีน การเสี่ยงทาย ศาสตร์ฮวงจุ้ยเป็นต้น

2. ปากั้วกับศาสตร์แห่งฮวงจุ้ย

          ปากั้วในมิติของฮวงจุ้ยนั้น มีความสำคัญคือ (1) ใช้กำหนดตำแหน่งทิศทางดังที่ได้เขียนไว้ในข้อความด้านบนสำหรับการใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ต่อไป (2) กำหนดตำแหน่งการปลูกบ้านสร้างเรือนที่เราพบเห็นการมากคือ การตั้งบ้านเรือนในลักษณะหันหลังบ้านตรงกับทิศเหนือและหันหน้าบ้านไปทางใต้(坐北朝南) หมายถึงความอยู่ดีมีสุข และความเจริญรุ่งเรือง ในการด้านจัดวางตำแหน่งสิ่งของนั้น ยกตัวอย่างเช่น หลี(离)แทนไฟ ดังนั้นตำแหน่งนี้เหมาะสำหรับการออกแบบเป็นห้องครัวหรือที่ตั้งเตาไฟ หรือจะเป็นข่าน(坎)ที่แทนน้ำ ควรจัดวางอะไรที่เกี่ยวกับน้ำเป็นต้น (3) การเสริมโชคลาภ กล่าวคือการแขวนวัตถุปากั้ว เช่นรูปปากั้ว หรือกระจกรูปปากั้วไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสม จะนำมาซึ่งโชคลาภและความสุขขี ที่เรามักจะเห็นกันคือ การแขวนตามหน้าบ้าน ตรงหน้าต่าง หรือผนังห้องรับแขก ทั้งนี้หากนำปากั้วเชื่อมโยงกับธาตุทั้ง 5 แล้ว ยังสัมพันธ์ถึงการเลือกสีด้วย เช่นทิศตะวันออกตรงกับธาตุไม้ เหมาะสำหรับการจัดวางพืชสีเขียวเสริมโชคลาภ ทิศตะวันตกตรงกับธาตุทอง เหมาะสำหรับการจัดวางสิ่งของที่เป็นสีทองในการรับเงินรับทอง (4) มนุษย์สัมพันธ์ การตีความลักษณะนิสัยจากธาตุทั้ง 5 ของบุคคล และการปรับตัวให้เขากับฝ่ายตรงข้ามคือการสร้างสัมพันธ์ที่ดี ดังเช่น บุคคลที่ประจำธาตุน้ำ จะเป็นผู้ที่มีความอ่อนไหวง่าย ชอบความสงบเงียบ หรือบุคคลที่ประจำธาตุไฟ จะเป็นผู้ที่มีความกระตือรือร้น มีน้ำใจ ชอบทำกิจกรรมหรือการเข้าสังคม (5) การป้องกันสิ่งชั่วร้าย การแขวนภาพหรือวัตถุปากั้วนอกจากเสริมโชคลาภแล้วสามารถช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้ายสร้างความปลอดภัยได้เช่นกัน (baijiahao, 2023) ดังที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าศาสตร์แห่งฮวงจุ้ยนั้นอาศัยปากั้วในการวิเคราะห์ตำแหน่ง สภาพแวดล้อม หรือตัวบุคคล เพื่อนำมากำหนดสิ่งปลูกสร้าง การจัดวางสิ่งของ การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ในลักษณะของความสมดุลของความเป็นหยินหยาง เพื่อเป็นการเสริมพลังงานทางบวก

3. ปากั้วสิงโตคาบดาบ ——ความเชื่อท้องถิ่นมณฑลฮกเกี้ยนและไต้หวัน

          ชาวจีนในมณฑลฮกเกี้ยนมีการนับถือสิงโตมายาวนาน ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความเชื่อนี้มาจากจงหยวน 中原 ซึ่งเป็นต้นกำเนิดอารยธรรมในลุ่มแม่น้ำฮวงโห จากนั้นประชาชนในท้องถิ่นก็มีการนำวัฒนธรรมของลัทธิเต๋า (道) ศาสนาพุทธ (释) ลัทธิหยู (儒) ผสมผสานกันจนกลายมาเป็นวัตถุปากั้วสิงโตคาบดาบ ใช้สำหรับป้องกันสิ่งชั่วร้าย โดยสิงโตตามความเชื่อพื้นบ้านคือ ราชาแห่งสรรพสัตว์ (百兽之王) มีอิทธิฤทธิ์ ในการปกป้องและปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย การที่สิงโตคาบดาบนั้น คือมันจะไม่ทำร้ายมนุษย์อย่างไม่มีเหตุผล และการเพิ่มปากั้วเข้ามาเชื่อว่าเป็นการเพิ่มพลังในการขจัดความชั่วร้ายต่าง ๆ ได้มากขึ้น ความเชื่อเกี่ยวกับสัตว์มงคลนี้ก็ขยายไปสู่สัตว์มงคลอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ดังเช่นมีรูปกิเลน รูปค้างคาวคู่ ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับปากั้วสิงโตคาบดาบในพื้นที่ไต้หวันนั้นเป็นการได้รับอิทธิพลทางความเชื่อมาจากฝูเจี้ยน ดังนั้นมักจะพบเห็นปากั้วสิงโตคาบดาบได้ตามบ้านเรือนต่าง ๆ ทั้งสองพื้นที่นี้นอกจากมีความใกล้ชิดกันทางภูมิศาสตร์แล้ว ยังมีวัฒนธรรมทางความเชื่อที่คล้ายคลึงกันด้วยเช่นกัน (Wang, 2008)

สรุป

          ปากั้วเป็นสัญลักษณ์แห่งอารยธรรมและวัฒนธรรมจีนที่สะท้อนให้เห็นถึงการสร้างพลังจากความสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติหรือจักรวาลกับสรรพสิ่งในโลกตามแนวคิดหยินหยาง เมื่อสิ่งสองสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันเกิดความลงตัวกัน ก็จะส่งเสริมให้เกิดอำนาจที่ทรงพลัง สามารถปกป้อง ขจัดสิ่งชั่วร้ายออกไป ปากั้วเป็นจุดเริ่มต้นของแนวความคิดของจีนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อ ตัวอักษร ปรัชญา หรือศาสตร์แห่งฮวงจุ้ย สะท้อนให้เห็นถึงคนจีนในอดีตจวบจนปัจจุบันให้ความสำคัญกับ ตำแหน่งของที่ตั้ง ทิศทางที่เชื่อมโยงกับวัตถุ สิ่งของ โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง การทำความเข้าใจกับปากั้วคือกระบวนการหนึ่งในการทำความเข้าใจกับความเป็นประเทศจีนและความเป็นคนจีน สุดท้ายกล่าวในมุมของวิวัฒนาการคำศัพท์ของคำว่า ปากั้ว八卦 ซึ่งนอกจากหมายถึงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในคัมภีร์โจวอี้แล้ว ในคำศัพท์แสลงยังได้หมายถึง การซุบซิบ นินทาผู้อื่น (Gossip) เช่น คำว่าข่าวปากั้ว (八卦新闻) หมายถึงข่าวซุบซิบนินทานั่นเอง (Baidu Baike, n.d) การเรียนรู้ปากั้วของจีนเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่าได้ไปปากั้วใครก็แล้วกัน เพราะจะไม่มีคนชอบ

รายการอ้างอิง

Baidu Baike. (n.d.). Ba Gua News. https://baike.baidu.com/item/八卦新闻/8091584

Baijiahao. (2023). The relationship between Bagua and Feng Shui and its applications. https://baijiahao.baidu.com/s?id=1764745803850834229...

Baijahao. (2024). Basic understanding of the I Ching: The origins and symbolism of the pre-

heaven and post-heaven Bagua. https://baijiahao.baidu.com/s?id=1810994001904189723...

Shu, Y. (1995). Sun worship and Fuxi’s creation of the Bagua. Nanjing Social Sciences, (4).

https://doi.org/CNKI:SUN:NJSH.0.1995-04-005

Wang, X. (2008). The exploration of eight diagrams sword lion the folk in Fujian and Taiwan region. Journal of Fujian Normal University (Philosophy and Social Sciences Edition), (06), 109-111. https://doi.org/CNKI:SUN:FJSX.0.2008-06-022

Xie, X. (1997). An anthropological perspective on Fuxi’s creation of the Eight Trigrams. Journal of Southwest Normal University (Philosophy and Social Sciences Edition), (05). https://doi.org/CNKI:SUN:XBSW.0.1997-05-012

  • 11 ครั้ง